ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. 'เอกนัฏ' สั่งเร่งเช็กคุณภาพอากาศ รอบพื้นที่โกดังย่านลาดกระบังไฟไหม้ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้โกดังเฟอร์นิเจอร์ ย่านลาดกระบัง ว่า ขณะนี้มีการนำรถโมบายของนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าไปตรวจสอบอากาศในพื้นที่ภาพรวมและตรวจสารเคมีรั่วไหล โดยจะรายงานให้ทางกรุงเทพมหานครและประชาชนทราบ รวมถึงตอนนี้กรมโรงงานเข้าไปประจำในพื้นที่ ยืนยันว่าจุดที่เกิดเหตุไม่ใช่โรงงาน แต่เป็นการขออนุญาตจดทะเบียนเป็นโกดังเพื่อใช้เก็บวัตถุดิบและสินค้าให้แก่โรงงานในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นอีกบริษัทแต่เจ้าของเดียวกัน ที่ผลิตเครื่องมือเครื่องใช้จากพลา ทั้งนี้ หากเพลิงไม่สงบกระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปตรวจสอบสาเหตุการเกิดไหม้ว่าเกิดจากการดำเนินกิจการหรือลักลอบประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ ถือว่าไม่ควร เนื่องจากมีการขออนุญาตเพียงใช้เก็บของเท่านั้น ซึ่งหากมีการไปประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่ที่ไม่ได้ขออนุญาตจะมีความผิดโทษจำคุก 2 ปี แต่ต้องรอตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงแม้เกิดเหตุไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่สภาพอากาศไม่ดี พบสาร COC หรือสารก่อมะเร็งในอากาศ จึงต้องอพยพประชาชนในพื้นที่ออก เนื่องจากสารเหล่านี้เมื่ออยู่ในอากาศสามารถเดินทางได้ 700 เมตร จึงแนะนำ กทม. ไม่ควรให้ประชาชนเข้าไปในพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนการที่ฝนตกจะช่วยบรรเทาสภาพอากาศได้หรือไม่นั้น ก็ช่วยได้บ้าง แต่ปัญหาจากการสันนิษฐานต้นเหตุเพลิงเกิดจากเม็ดพลาสติก เมื่อไฟไหม้ แม้จะมีการฉีดน้ำและเกิดฝนตก แต่ภายในกองเม็ดพลาสติกยังมีความร้อนระอุอยู่ จึงต้องฉีดโฟมเพื่อให้ไอเย็นเข้าไปในกองเม็ดพลาสติก พร้อมต้องเฝ้าระวังอยู่
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และเมื่อเช้าที่ผ่านมาได้รายงานเลขาธิการนายกฯ เนื่องจากเห็นได้ว่าพื้นที่โดยรอบ กทม. มีการลักลอบประกอบกิจการโรงงาน โดยเลี่ยงจดทะเบียนเป็นโกดัง และรายงานนายกรัฐมนตรี ว่าจะต้องมีการตรวจตราอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีการลักลอบประกอบกิจการและอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายกระทรวงมหาดไทยและอุตสาหกรรม โดยจะต้องบูรณาการกันทุกภาคส่วนและเข้าตรวจตราอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ตนได้คุยกับผู้ว่าฯ กทม. ว่าตนไม่ได้เห็นด้วยเกี่ยวกับเรื่องการประกอบกิจการเท่านั้น แต่เห็นถึงมลภาวะ นอกจากประกอบกิจการที่ไม่ปลอดภัยแล้วจะส่งผลต่อเรื่องมลภาวะ ทั้งการปล่อยน้ำเสียและควันพิษหากที่ไหนลักลอบดำเนินกิจการต้องสั่งปิดและดำเนินคดี
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
2. รัฐดึงเอกชนเปิดตัว 'คิดถึงสมุนไพรไทย' (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2568)
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ผลประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดสมุนไพร ครั้งที่ 1/2568 ที่มีตัวแทนจากหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม โดยที่ประชุมเห็นชอบ 2 เรื่อง คือ 1. แผนการเพิ่มการสื่อสารและตระหนักรู้แก่สาธารณชนทั้งไทยและต่างประเทศผ่านสโลแกน THINK Wellness THINK Thai Herb หรือ คิดถึงสุขภาพ คิดถึงสมุนไพรไทย เป็น Key Message ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนของไทย ใช้ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ผลักดันสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก โดยกำหนดเปิดตัว THINK Wellness THINK Thai Herb ภายในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 22 วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 นี้ ที่อิมแพค เมืองทองธานี และ 2. แผนประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมให้ร้านนวดไทยและร้านสปาในต่างประเทศ นำผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบสมุนไพรไปใช้ เช่น ลูกประคบ บาล์ม ครีมสครับผิว น้ำมันหอมระเหย ก้านไม้หอม เครื่องพ่นกลิ่นอโรม่า และชาสมุนไพร เป็นต้น ซึ่งตลาดตะวันออกกลางให้ความสนใจอย่างมากในกลุ่มผลิตภัณฑ์อโรม่า เทอราพี และสมุนไพรจากธรรมชาติ รวมถึงเอเชียและอาเซียนมีความร่วมมือผลักดันในทุกมิติด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรม Wellness ปี 2566 มีมูลค่า 6.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 6.03% ของจีดีพีโลก คาดว่าในปี 2566-2571 เติบโตเฉลี่ย 7.3% ต่อปี สูงกว่าอัตราการเติบโตจีดีพีโลก คาดโตเฉลี่ย 4.8% และปี 2571 คาดมีมูลค่า 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมสปา ปี 2566 ทั่วโลก มีสถานประกอบการ 191,348 แห่ง สร้างรายได้ 137 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในส่วนอุตสาหกรรมสปาและนวดของไทย ปี 2565 ไทยมีสถานประกอบการด้านสุขภาพจดทะเบียน 10,077 แห่ง มีบุคลากรผู้มีใบอนุญาต 1.9 แสนคน ปี 2566 สร้างรายได้จากตลาดสปา 1.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์
3. ดัชนีความเชื่อมั่นชายแดนใต้ลด กังวลปัญหาค่าครองชีพ-รายได้ตกต่ำ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2568)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จัดทำร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไตรมาส 1 ปี 2568 ปรับลดลงทั้งโดยรวม ในปัจจุบัน และในอนาคต ดัชนีโดยรวมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 55.44 จากระดับ 56.42 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการปรับลดลงด้านความมั่นคงขณะที่ด้านเศรษฐกิจและสังคมปรับเพิ่มขึ้น โดยความเชื่อมั่นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในปัจจุบันปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.77 จากระดับ 52.36 และความเชื่อมั่นในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 59.11 จากระดับ 60.48 โดยดัชนีความเชื่อมั่นทั้งโดยรวม ปัจจุบัน และในอนาคต ยังอยู่ในช่วงเชื่อมั่น สำหรับสาเหตุการปรับลดลงของดัชนีโดยรวม คาดว่ามาจากสถานการณ์ความไม่สงบในหลายพื้นที่ ประกอบกับปัญหายาเสพติด ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย จากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว ชาวมาเลเซียที่เข้ามาในช่วงเทศกาลตรุษจีนและวันหยุดปิดภาคเรียน ประกอบกับการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ช่วยเพิ่มการบริโภคในประเทศ รวมถึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและหนี้สินของภาคธุรกิจ ในส่วนของค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ภาวะหนี้สิน ระดับครัวเรือน และปัญหาด้านความมั่นคง ยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อความเชื่อมั่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ เรื่องที่ประชาชนเห็นว่าเป็นปัญหามากที่สุด ยังคงเป็นปัญหาด้านค่าครองชีพหรือราคาสินค้าและบริการสูง (56.96%) รองลงมา ได้แก่ ปัญหารายได้ตกต่ำ (49.57%) ยาเสพติด (42.39%) การว่างงาน (36.33%) และความยากจนเรื้อรัง (34.42%) ตามลำดับ ปัญหาส่วนใหญ่ประชาชนมีความกังวลเพิ่มขึ้น สำหรับปัญหาด้านยาเสพติด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับมากมาอยู่ที่ระดับมากที่สุด โดยเฉพาะจังหวัดสงขลาและยะลา สอดคล้องกับเรื่องที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ด้านการลดค่าครองชีพ การมีงานทำ ราคาสินค้าเกษตร และการแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งนี้ ถึงแม้ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในไตรมาสนี้จะปรับตัวลดลง แต่ยังคงอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น โดยประชาชนยังคงมีความเชื่อมั่น ด้านเศรษฐกิจ จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและลดภาวะหนี้สินของภาครัฐ อาทิ โครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยลูกหนี้ "มีอยู่ มีกิน มีใช้" ซึ่งเป็นโครงการลดภาระหนี้สินโดยการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้ประชาชนฟื้นฟูสถานะทางการเงินให้กลับมามีสภาพคล่อง เพิ่มศักยภาพในการทำรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว
ข่าวต่างประเทศ
4. ราคาค้าส่งญี่ปุ่นเดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 4.0% เทียบรายปี ชะลอตัวจากมี.ค. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2568)
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (CGPI) ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดระดับราคาสินค้าและบริการที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บระหว่างกัน เพิ่มขึ้น 4.0% ในเดือนเมษายน 2568 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และชะลอตัวลงจาก 4.3% ในเดือนมีนาคม โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาค้าส่งชะลอตัวลงคือสกุลเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศถูกลง ซึ่งราคาน้ำมันและข้าวที่ยังคงแพงอยู่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับบริษัทต่างๆ เพราะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดเป็นเงินเยน ราคาสินค้านำเข้าลดลงถึง 7.2% ในเดือนเมษายน 2568 เมื่อเทียบกับปีก่อน หลังจากที่ลดลง 2.4% ในเดือนมีนาคม
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)