ข่าวประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2568

ข่าวในประเทศ

A person holding a microphone

AI-generated content may be incorrect.

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'เอกนัฏ' ปรับอุตฯ ไทยแข่งคุณภาพไม่มุ่งราคา (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2568)

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตร "Sustainable & Green Industrial Leadership (SGIL)" รุ่นที่ 1 จัดโดยสถาบันวิทยาการอุตสาหกรรม ภายใต้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ว่า ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาที่เกิดจากทัศนคติที่มุ่งเน้นแต่ของถูก ซึ่งสร้างผลกระทบในวงกว้าง มีการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมายและไร้คุณภาพสูง เช่น พลาสติก, เศษเหล็ก, และขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) ซึ่งกระจายไปทั่วประเทศและสร้างมลพิษร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันเกิด "อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ" และการใช้ "ทุนนอมินี" เป็นช่องทางให้ทุนต่างชาติเข้ามายึดครองภาคบริการและการผลิต แม้ตัวเลขการลงทุน (FDI) จะดูเป็นที่น่าพอใจ แต่เม็ดเงินกลับไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศอย่างแท้จริง โดยภาคการผลิตจำนวนมากยังคงพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ใช้แรงงานต่างด้าวแล้วเพียงปั๊มตราสินค้าไทย ผลิตสินค้าเถื่อน โดยไม่ได้สร้างนวัตกรรมหรือคุณค่าที่แท้จริง ทั้งนี้ ได้เสนอทิศทางใหม่โดยให้เปลี่ยนจากการแข่งขันที่ราคา มาเป็นการแข่งขันที่คุณภาพและความรับผิดชอบ อาทิ การจัดการอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ และผลักดันการแข่งขันด้วยคุณภาพของสินค้า ไม่ใช่แค่ของถูก ไร้คุณภาพ และไม่ปลอดภัย แต่ต้องผลิตของที่ถูกต้อง รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าไทยให้ตอบรับผู้บริโภคยุคใหม่" นายเอกนัฏกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ทั้งจากปัญหาภายในที่โรงงานบางแห่งลักลอบก่อมลพิษหรือหลบเลี่ยงภาษีเพื่อลดต้นทุน และภัยคุกคามภายนอกจากผลพวงของสงครามการค้าที่นำไปสู่ปัญหาการสวมสิทธิสินค้า ซึ่งการกระทำเหล่านี้ล้วนบ่อนทำลายผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างจริงจัง กระทรวงจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และเอาจริงกับผู้ที่ฝ่าฝืน

 

A person in a suit

AI-generated content may be incorrect.

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม)

 

2. 7 แผนอุ้มเอสเอ็มอีฝ่าภาษี "ทรัมป์" (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2568)

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นนโยบายการค้าและเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ดีพร้อมได้มีการจัดทำแผนรับมือกับสงครามการค้าที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (เอสเอ็มอี) ซึ่งได้บรรจุแผนดำเนินการเหล่านี้ ในคำขอโครงการปีงบประมาณ พ.ศ.2569 โดยจะให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบ หรือมีความเสี่ยงสูง เพื่อให้ปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2569 ที่จะเริ่มมีผลในทางปฏิบัติในเดือนตุลาคม 2568 นี้ ดีพร้อมจะมุ่งส่งเสริม "Learning & Adaptation เรียนรู้ และปรับตัว "พัฒนาความรู้ด้านต่างๆ เพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงให้แก่เอสเอ็มอี ได้แก่ ด้านกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ ทรัพย์สินทางปัญญา ข้อกำหนดใหม่ กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ด้านการตลาดดิจิทัล การบริหารจัดการยุคใหม่ การใช้เทคโนโลยี การบริหารความเสี่ยง แผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP) และเรียนรู้แนวทางการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ รวมทั้งส่งเสริมการปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวใน 7 ด้าน ประกอบด้วย 1. ส่งเสริมกระจายความเสี่ยงจากตลาดเดียว โดยลดการพึ่งพาตลาดส่งออกตลาดเดียว หาตลาดใหม่ และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้ากับประเทศต่างๆ ให้ได้มากที่สุด 2. ยกระดับมาตรฐานสินค้า ซึ่งจะผลักดันให้เอสเอ็มอียกระดับมาตรฐานสากล สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และดิจิทัลในการปรับโมเดลธุรกิจ และเข้าร่วมแพลตฟอร์มระหว่างประเทศ 4. บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการปรับกระบวนการผลิต ให้ประหยัดพลังงาน ลดการใช้ทรัพยากร และลดความสูญเสีย 5. ติดตามข่าวสารและ วิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงนโยบาย โดยการติดตามสถานการณ์ ประเมินผลกระทบต่อสินค้าและธุรกิจ 6. เตรียมความพร้อมด้านกฎระเบียบและกติกาสากล โดยการทำความเข้าใจกฎและมาตรการทางการค้าของประเทศปลายทาง และ 7. ส่งเสริมการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ยังได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายที่มุ่งเน้นในสาขาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เช่น กลุ่มสินค้าเกษตร กลุ่มไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์กลุ่มอุตสาหกรรมที่ประเทศคู่แข่งโดนภาษีต่ำกว่า และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงในวงจรการผลิต ขณะที่ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสงครามการค้า ดีพร้อมจะให้ความสำคัญกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออก ไปยังสหรัฐฯเป็นอันดับแรก ทั้งในเรื่องของการพัฒนาบุคลากรในด้านต่างๆ และการเข้าให้คำปรึกษาในสถานประกอบการ รวมทั้งจะเร่งพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่ต้องการเข้าสู่วงจรการผลิตของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ให้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และจะเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตชิ้นส่วนให้สามารถรองรับการขยายตัวของการผลิตรถยนต์ไฮบริด (HEV และ mild HEV) ในอนาคต ที่มาพร้อมกับการลงทุนผลิตชิ้นส่วนไฟฟ้าสำคัญ (e-Parts) ใหม่ๆในประเทศหลายชิ้น เช่น Battery, Traction Motor และ Inverter เป็นต้น

 

A person sitting at a podium

AI-generated content may be incorrect.

นางดวงดาว ขาวเจริญ

รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

 

3. 'ดีพร้อม' เร่งยกระดับผู้ประกอบการ จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ-พัฒนาทักษะรอบด้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2568)

นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อมได้จัดพิธีมอบวุฒิบัตร และพิธีปิดกิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมให้ดีพร้อม (ดีพร้อม คพอ.) พื้นที่ภาคเหนือ รุ่นที่ 413 จังหวัดเชียงใหม่ รุ่นที่ 414 จังหวัดเพชรบูรณ์ และรุ่นที่ 415 จังหวัดนครสวรรค์ ภายใต้โครงการพัฒนาองค์ความรู้ และศักยภาพด้านการบริหารจัดการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สำหรับหลักสูตร ดีพร้อม คพอ. ปีนี้ มีการปฏิรูปหลักสูตร เป็นหลักสูตรที่มุ่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการในพื้นที่ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน ผ่านการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ครอบคลุมในหัวข้อสำคัญ อาทิ องค์ความรู้ด้านการจัดตั้งธุรกิจการวางแผนธุรกิจ การบริหารจัดการ การผลิต การเงินการบัญชี การตลาด การพัฒนาแบรนด์สินค้า การจัดการทรัพยากรบุคคล ระบบมาตรฐานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนแนวโน้มและทิศทางของเศรษฐกิจโลก รวมถึงแนวทางการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ และการสร้างเครือข่ายธุรกิจ ตามนโยบาย "ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้" ทั้งนี้ ดีพร้อมได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของผู้ประกอบการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือ และขอให้ผู้เข้าร่วมทุกท่านนำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดและพัฒนาธุรกิจของตนเองให้เติบโตต่อไปในอนาคต โดยดีพร้อม พร้อมที่จะสนับสนุน ผลักดันเพื่อให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจไทยเดินหน้าและโตไกลได้อย่างยั่งยืน ซึ่งโดยจะมุ่งปฏิรูปอุตสาหกรรมด้วยการเสริมแกร่งห่วงโซ่อุปทาน สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ พัฒนาทักษะบุคลากร รวมถึงการสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs ไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการไทยสู่สากล

อย่างไรก็ตาม สำหรับการจัดอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย และจับคู่ธุรกิจ ระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง ภายในรุ่นเดียวกัน และผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็นบิ๊กแบรนด์ อาทิ โตโยต้า ผ่านโครงการธุรกิจชุมชนพัฒน์ โดยบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างอบอุ่น มีผู้ประกอบการ ดีพร้อม คพอ. จากหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ เข้าร่วมกว่า 120 คน

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a red circle and black lines

AI-generated content may be incorrect.

 

4. ราคานำเข้าเกาหลีใต้เดือนพ.ค.ลดลง 4 เดือนติด (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2568)

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง 3.7% ในเดือนพฤษภาคม 2568 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า นับเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และดิ่งลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 สำหรับปัจจัยหลักที่ฉุดให้ราคานำเข้าดิ่งลงมาจากราคาน้ำมันโลกที่ลดลงและสกุลเงินวอนที่แข็งค่าขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งเป็นเกณฑ์อ้างอิงของเกาหลีใต้ ลดลงถึง 5.9% ในเดือนพฤษภาคม มาอยู่ที่ 63.73 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะเดียวกัน ค่าเงินวอนในเดือนพฤษภาคม เฉลี่ยอยู่ที่ 1,394.49 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากเดือนเมษายนที่ระดับ 1,444.31 วอน ทั้งนี้ ราคานำเข้าถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยรวมของเกาหลีใต้ เนื่องจากกระทบต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคตลอดห่วงโซ่อุปทา ซึ่งเมื่อเทียบเป็นรายปี ดัชนีราคานำเข้าลดลงถึง 5.0% ในเดือนพฤษภาคม

อย่างไรก็ตาม BOK ระบุว่า หากจำแนกตามหมวดหมู่ ราคานำเข้าวัตถุดิบลดลง 5.5% ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ราคานำเข้าสินค้าขั้นกลางลดลง 3.2% ทั้งนี้ ทางด้านดัชนีราคาส่งออกก็ปรับตัวลดลงเช่นกันในเดือนพฤษภาคม โดยลดลง 3.4% จากเดือนก่อนหน้า ถือเป็นการลดลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)