ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. "เอกนัฏ" การันตีคุณภาพ "โฮมสเตย์ไทย" รองรับการท่องเที่ยววัฒนธรรมท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจเมืองรอง (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกด้าน ทุกมิติ ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว เม็ดเงินที่จ่ายต่อหัว และการจ้างงาน เนื่องจากการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ สำหรับภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีการกำหนดมาตรฐานที่สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล ได้แก่ มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจโฮมสเตย์ เนื่องจากในปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวชุมชน (Community-based Tourism) กำลังมีบทบาทในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เน้นการเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีระหว่างนักท่องเที่ยวกับเจ้าของบ้าน ในชุมชน ดังนั้น การได้รับการรับรองตามมาตรฐาน จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ ทำให้ทั้งนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพการให้บริการของสถานประกอบการระดับเอสเอ็มอีในประเทศไทย และเลือกที่จะท่องเที่ยวเมืองรอง หรือในระดับท้องถิ่นของประเทศไทยมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การท่องเที่ยวที่เน้นการเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีระหว่างนักท่องเที่ยวกับเจ้าของบ้านในชุมชน ทำให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเข้าไปใช้ชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกับผู้คนในท้องถิ่นหรือในชุมชน โดยพักอยู่บ้านเดียวกันกับเจ้าของบ้าน ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเจ้าของบ้าน พร้อมทั้งถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นแก่นักท่องเที่ยว พาเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น และจัดบริการสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน โดย สมอ. มีมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส การบริการที่พักสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น (โฮมสเตย์) มอก.เอส 185-2564 ที่มีข้อกำหนดครอบคลุมระบบการบริหารงานที่ดี ตามหลักมาตรฐานสากล ISO 9001 เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพได้นำมาตรฐานไปใช้ จะทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นได้ว่า โฮมสเตย์นั้นมีระบบการบริหารงานที่ดี ดำเนินกิจการสอดคล้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับการรับรองมาตรฐานดังกล่าวจาก สมอ. แล้ว จำนวน 53 ราย เป็นโฮมสเตย์ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงสถานที่ท่องเที่ยวทุกภาคทั่วประเทศ เช่น จังหวัดเพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ชุมพร นครราชสีมา พิจิตร ราชบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE)
2. 'ดีอี' ชี้เศรษฐกิจดิจิทัล ส่งออก 5 เดือนพุ่ง 35% คอนเทนต์ขยายตัวสูง (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2568)
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เปิดเผยว่า ตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2568 (ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2568) ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (BDE) ที่คาดว่า Digital GDP ขยายตัว 6.2% คิดเป็น 3.4 เท่าของ GDP โดยรวม (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ประมาณการว่าขยายตัวที่ 1.8%) ถึงแม้ว่าเศรฐกิจไทยได้ผลกระทบจากมาตรการภาษีทรัมป์ ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเหลือ 2.8% (ลดลง 0.5 จุด) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเหลือ 1.8% (ลดลง 1 จุด) พบว่า เศรษฐกิจดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัว โดยเศรษฐกิจดิจิทัล (Broad Digital GDP ณ ราคาที่แท้จริง หรือ CVM) คาดว่าจะขยายตัว 6.2 สูงกว่าการขยายตัวของ GDP โดยรวม ที่คาดว่าจะขยายตัว 1.8% (สศช. ประมาณการ) โดยเฉพาะด้านการส่งออกที่ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าดิจิทัล มีมูลค่าประมาณ 8.6 แสนล้านบาท ขยายตัว 35% สูงกว่าการส่งออกรวมของประเทศที่ขยายตัว 8%
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในหมวดต่าง ๆ พบว่า ทุกหมวดขยายตัวสูงกว่า GDP ของประเทศ โดยอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ขยายตัวในอัตราที่สูงที่สุด 9.9% และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) ขยายตัวต่ำที่สุด 4.5% ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 1. อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ (Hardware) ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 5.5% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 6.6% 2. อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (Digital Services) ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 5.7% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 6.7% และ 3. อุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) ในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 8.1% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 9.5% เป็นต้น
นายผยง ศรีวณิช
ประธานสมาคมธนาคารไทย
3. กกร.ชี้ครึ่งปีหลังศก.แย่เหตุหลายปัจจัยลบรุมเร้าอย่างหนัก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2568)
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วม ภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนกรกฎาคม 2568 ว่า ที่ประชุมได้ประเมินสถานการณ์ในประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และการเมือง เบื้องต้นภาพรวมเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ซึ่งพบว่ายังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูง แม้การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ จะมีความคืบหน้า โดยเฉพาะกับจีนและสหราชอาณาจักร แต่ยังไม่น่าที่จะได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม ก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงขึ้นหากไม่ขยายเวลา ขณะที่เศรษฐกิจประเทศหลักที่มีแนวโน้มแผ่วลง ขณะที่ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง อาจมีความรุนแรงขึ้นได้อีก สำหรับตัวเลขการส่งออกไทยในครึ่งหลังของปีจะหดตัว มูลค่าการส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรกขยายตัว 14.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จากการเร่งนำเข้า ก่อนหมดช่วงผ่อนปรนของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ แต่ระยะข้างหน้ามีสัญญาณแผ่วลงและมีความเป็นไปได้ที่มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีจะหดตัวกว่า 10% YoY ทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวใกล้เคียง 0% ซึ่งจะกระทบต่อภาคการผลิต การจ้างงาน และรายได้ของแรงงานในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนแรงลง คาดทั้งปี 2568 ขยายตัวในระดับต่ำราว 1.5-2.0% โดยจะเติบโตใกล้เคียง 2.0% หากอัตราภาษีที่ไทยโดนเรียกเก็บยังอยู่ที่ 10% ในครึ่งปีหลัง แต่จะลดลงมาใกล้ 1.5% หากโดนเรียกเก็บที่ 18% หรือครึ่งหนึ่งของอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff ) ท่ามกลางอุปสงค์ภายในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งยังไม่สามารถทดแทนด้วยนักท่องเที่ยวระยะไกล (Long haul) ได้ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจ ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2568 ที่เหลืออยู่ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ รายจ่ายประจำปี 2569 ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และ กกร.ไม่เห็นด้วยกับการประเมิน ทิศทางเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ถึง 2.3% ดีขึ้นกว่าประมาณการเดิม
อย่างไรก็ตาม กกร. มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว มาอยู่ในช่วง 32.5 บาทต่อดอลลาร์ โดยแข็งค่ามากกว่าประเทศในภูมิภาค เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน และค่าเงินบาทโดยเปรียบเทียบ (NEER) แข็งค่าเทียบเท่าก่อนปี 2540 ทำให้ธุรกิจแข่งขันไม่ได้ ซึ่งการแข็งค่าไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่กำลัง ชะลอตัวอย่างมาก ภาวะการเงินที่ตึงตัวสินเชื่อไม่เติบโต และทิศทางดอกเบี้ยที่อยู่ในภาวะ Inverted Yield Curve หรือการที่ตลาดคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยจะลดลงในระยะข้างหน้า จึงขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เร่งดูแลทิศทางของค่าเงินให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ แยกแยะและลดผลกระทบจากปัจจัยอื่นที่กระทบค่าเงินบาท
ข่าวต่างประเทศ
4. PMI ภาคบริการออสซี่เดือนมิ.ย.โตแกร่งสุดในรอบกว่า 3 ปี รับดีมานด์ฟื้นตัว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2568)
เอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของออสเตรเลียปรับตัวขึ้นแตะระดับ 51.8 ในเดือนมิถุนายน 2568 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี จากระดับ 50.6 ในเดือนพฤษภาคม โดยดัชนี PMI อยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของออสเตรเลียมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อ โดยเอสแอนด์พี โกลบอล ระบุว่า ดัชนี PMI เดือนมิถุนายน ขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 ส่วนเงินเฟ้อที่เกิดจากต้นทุนในภาคบริการขยายตัวในอัตราที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ต้นปีนี้
อย่างไรก็ตาม ทางด้านผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจของเอสแอนด์พี โกลบอล มาร์เก็ต อินเทลลิเจนซ์ (S&P Global Market Intelligence) กล่าวว่า อุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้นในภาคบริการเป็นปัจจัยหนุนให้ดัชนี PMI ภาคบริการขยายตัวรวดเร็วขึ้น ขณะที่การจ้างงานในภาคบริการยังคงขยายตัวได้ดีในเดือนมิถุนายน ซึ่งการฟื้นตัวของภาคบริการได้ช่วยชดเชยภาวะซบเซาในภาคการผลิตของออสเตรเลีย
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)