ข่าวในประเทศ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
1. สอท.หวังสหรัฐเก็บภาษี 15% (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2568)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีสหรัฐ และเวียดนาม บรรลุข้อตกลงการค้ากับเวียดนาม กำหนดภาษีนำเข้า 20% จากเดิมถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 46% ส่วนถ้าเป็นสินค้าส่งผ่าน หรือการสวมสิทธิ์จะถูกเรียกเก็บ 40% ขณะที่เวียดนามตกลงยกเลิกภาษีนำเข้าจากสหรัฐทั้งหมดว่า เป็นสัญญาณดี ที่จะเป็นแนวทางการเจรจาของไทยกับสหรัฐที่จะเกิดขึ้นวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ตามเวลาประเทศไทยประมาณ 21.00 น. อย่างเป็นทางการ ถ้าคำนวณตามสัดส่วน แบบยังไม่มีเงื่อนไขอื่นประกอบ ไทยอาจจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าไม่เกิน 15% จากเดิมไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่ 36% สำหรับกรณีการสวมสิทธิ์ เนื่องจากประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นประเทศทางผ่านของประเทศ ที่ 3 เพื่อส่งไปสหรัฐ ไทยจะถูกเรียกเก็บที่ 30% ส่วนเรื่อง 0% ที่จะเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ ในทุกรายการ ไทยอาจจะถูก ตั้งเงื่อนไขแบบเดียวกัน อาจจะเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยยังไม่นับรวมอีกหลายเงื่อนไขที่อาจถูกพ่วงมาด้วย เป็นเรื่องของความละเอียดอ่อนที่ไม่สามารถเจรจาหรือเปิดเผยทางสาธารณชนได้ ทั้งนี้ หากเป็นไปตามสัดส่วนตามที่คำนวณดังกล่าว การส่งออกของไทยยังได้เปรียบประเทศคู่แข่งในภูมิภาค ซึ่งความชัดเจนจะเป็นอย่างไร คงต้องลุ้นกันคืนนี้ที่ทีมเจรจาของไทยจะได้หารืออย่างเป็นทางการนัดแรก เพราะมาตรการผ่อนปรนเก็บภาษีนำเข้าสิ้นสุดวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ยังไม่รู้ว่าไทยจะเจรจาได้ทันหรือไม่ โดยสหรัฐอาจจะใช้แนวทางเดียวกับเวียดนามกับประเทศในแถบนี้ แค่รายละเอียดในแต่ละประเทศที่อาจจะแตกต่างกัน แต่หากไม่ทันกำหนดก็ต้องดูว่าสหรัฐ จะยืดเวลาออกไปอีกเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงฉากทัศน์จากกรณีที่คาดการณ์จากแนวทางที่สหรัฐ ใช้กับเวียดนามก่อนที่ไทยจะเจรจา ถือว่าเป็นผลดีที่ทำให้ได้เห็นแนวทาง และเค้าลางวิธีคิด หรือเรียกว่าเห็นเฉลยข้อสอบล่วงหน้า ดังนั้น จึงหวังว่าผู้แทนการค้าของไทยจะใช้แนวทางดังกล่าวไปปรับใช้อย่างเป็นประโยชน์มากที่สุด เพียงแต่หากสหรัฐ ต้องการให้ไทยเก็บภาษีนำเข้า 0% ทุกรายการเหมือนเวียดนามก็จะเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าที่เคยหารือกันก่อนเดินทางไปเจรจา เพราะเบื้องต้นคาดว่า มีแค่บางรายการ เช่น สินค้าจากภาคการเกษตร หากเป็นไปในรูปแบบดังกล่าวที่ไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า 15% และถูกเรียกเก็บ 30% จากสินค้าที่ถูกสวมสิทธิ์ก็น่าจะเป็นผลดีกับไทย
นายพรยศ กลั่นกรอง
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)
2. 'กรอ.' เตือนโรงงานปรับตัว ดัน GI 100% ปีนี้-มุ่งเน็ตซีโร่ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2568)
นายพรยศ กลั่นกรอง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "อุตสาหกรรมไทยยุคใหม่ที่ปลอดภัยและยั่งยืน" ในงาน Boilex Asia และ Pumps and Valves Asia 2025 ว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงความตื่นตัวของประชาคมโลกต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมต้องเร่งปรับตัวอย่างจริงจัง กรมโรงงานฯ มุ่งผลักดันการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างสมดุลผ่านแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry : GI) ภายใต้ แนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) สู่เป้าหมายเน็ตซีโร่อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ กรอ.ยังเร่งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งการแก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน การเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด การยกระดับระบบการรายงานข้อมูลภาคอุตสาหกรรมให้โปร่งใส สร้างระบบอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
อย่างไรก็ตาม สำหรับเป้าหมายสำคัญในปี 2568 คือ โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งต้องได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (GI) ครบ 100% ซึ่ง กรอ.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินหลายแห่ง มอบสิทธิประโยชน์และสนับสนุนผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรอง อาทิ เงินอุดหนุนจาก สสว. สิทธิประโยชน์ทางการเงินจาก SME D Bank, ธนาคารกรุงไทย และ EXIM Bank รวมถึงองค์ความรู้และเงินทุนจาก สวทช.
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
3. กนอ.ลุยเพิ่มที่ดินนิคมฯราคาถูกล้านไร่ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2568)
นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คนที่ 13 เปิดเผยภายหลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการว่า ได้วาง 4 ภารกิจสำคัญ ในการทำงาน คือ 1. ปราบปรามนิคมเถื่อน โดยจะเข้าตรวจสอบอย่างเข้มข้น ดึงนิคมผิดกฎหมายกว่า 10 แห่งเข้ามาสู่ระบบอย่างถูกกฎหมาย เพื่อลดผลกระทบและเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแล 2. จัดการวงจรนิคมศูนย์เหรียญ เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอดีไอ) 3. รักษาสิ่งแวดล้อม สร้างบรรยากาศการลงทุนรับเทรนด์อนาคต และ4. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ โดยให้ความสำคัญกับความสะดวกและโปร่งใสในการดูแลผู้ประกอบการ สำหรับเป้าหมายสำคัญของ กนอ. คือ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้เป็นแพลตฟอร์มครบวงจร ที่พร้อมทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะไม่เพียงแค่จัดหาที่ดิน แต่จะเน้นการสร้างความสะดวกสบาย ส่งเสริมพลังงานสะอาดบนพื้นที่กว่า 73 นิคม ที่มีอยู่ เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนและลดต้นทุนที่ดิน ออกแบบ มาตรการส่งเสริมการลงทุนพิเศษ (Tax Incentive) เพื่อลดต้นทุนการย้ายฐานการผลิต นอกจากนี้ กนอ.จะพัฒนากำลังคนและนำ เอไอมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ช่วงที่เป็นรักษาการผู้ว่าการ กนอ.ได้เร่งรัดกระบวนการจัดตั้งนิคมให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนสำเร็จ จากเดิมใช้เวลานานถึง 8 เดือนถึง 1 ปี
อย่างไรก็ตาม กนอ.จะเป็นเครื่องจักรที่เหยียบคันเร่ง โดยเร่งพัฒนา พื้นที่เป้าหมาย หรือแลนด์แบงก์ 5 หมื่นไร่ให้ได้ในปีงบประมาณ 2568 ปัจจุบันสำเร็จแล้ว 3 หมื่นไร่ เหลืออีก 2 หมื่นไร่ ขณะที่เป้าหมายตลอดการทำงานจะเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ให้ได้ 1 ล้านไร่ และจะทำให้ที่ดินของ กนอ.มีราคาถูกลงเพื่อช่วยให้ต้นทุนผู้ประกอบการลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีไทย ให้มีขีดแข่งขันเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน กนอ.พร้อมเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้เข้าถึงโอกาส ก้าวไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เน้นการเพิ่มมูลค่า นวัตกรรม และเทคโนโลยี ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับสากล เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
ข่าวต่างประเทศ
4. BOK เผย เกาหลีใต้เกินดุลฯ ทะลุ 1 หมื่นล้านดอลล์ในเดือนพ.ค. แม้ส่งออกทรุด (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 4 กรกฎาคม 2568)
ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า เกาหลีใต้ยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 25 ในเดือนพฤษภาคม 2568 โดยมียอดเกินดุลสูงถึง 1.014 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ พุ่งขึ้นจากระดับ 5.7 พันล้านดอลลาร์ในเดือนเมษายน แม้ตัวเลขการส่งออกจะปรับตัวลดลงก็ตาม โดยข้อมูลจาก BOK ยังระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - พฤษภาคม) เกาหลีใต้มียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมอยู่ที่ 3.511 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 2.706 หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขเกินดุลพุ่งสูงขึ้นมาจากการที่ดุลการค้าสินค้าเกินดุลถึง 1.066 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม แม้การส่งออก จะหดตัวลง 2.9% เมื่อเทียบรายปี มาอยู่ที่ 5.693 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่การนำเข้ากลับร่วงลงมากกว่าที่ 7.2% มาอยู่ที่ 4.627 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ดุลบริการกลับขาดดุล 2.28 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม โดยมีสาเหตุหลักมาจากความต้องการเดินทางไปต่างประเทศของชาวเกาหลีใต้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ด้านบัญชีรายได้ปฐมภูมิ (Primary Income Account) ซึ่งติดตามข้อมูลค่าแรงของแรงงานต่างชาติ การจ่ายเงินปันผลจากต่างประเทศ และรายได้จากดอกเบี้ย เกินดุลอยู่ที่ 2.15 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)