ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. ก.อุตฯ ใช้ AI ตรวจคุณภาพสินค้าแพลตฟอร์มออนไลน์ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในการแถลงข่าวเปิดตัวระบบตรวจสอบสินค้าออนไลน์อัจฉริยะ "มอก.วอทช์" ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ยกระดับมาตรการคุมเข้มตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ด้วย AI ซึ่งริเริ่มให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม (INDX) นำโดย นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน สำหรับเป้าหมายสำคัญเพื่อนำระบบ AI มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดกรองสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากโลกออนไลน์ ปกป้องผู้บริโภคไทยจากการใช้สินค้าด้อยคุณภาพ ลดปัญหาการนำเข้าสินค้าราคาถูก แต่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ ระบบตรวจสอบสินค้าออนไลน์อัจฉริยะ "มอก.วอทช์" สามารถตรวจจับลิงก์ขายสินค้าต้องสงสัยได้แล้ว จำนวน 109,819 รายการ โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ดำเนินการปิดลิงก์ที่จำหน่ายสินค้า ไม่ได้มาตรฐานไปแล้ว 2,885 URL เตรียมดำเนินคดี 777 URL และอยู่ระหว่างการตรวจสอบอีก 3,559 URL สำหรับในช่วงเวลา 5 เดือนที่ใช้งานระบบมา พบว่า สินค้าที่ละเมิดกฎหมายสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ พลาสติกสัมผัสอาหาร ของเล่นเด็ก และท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ ซึ่งอยู่ในจำนวน 147 รายการสินค้าควบคุม ที่ต้องมีมาตรฐาน มอก. เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค แต่กลับมีการนำเข้าจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์อย่างแพร่หลาย ส่งผลกระทบต่อร้านค้าท้องถิ่น ผู้ประกอบการไทย และสร้างความเสี่ยงต่อประชาชนผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทั้ง 777 คดีนี้ มาจากผลการตรวจของ มอก.วอทช์ ที่พบบนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซเจ้าใหญ่ โดยมาจากแพลตฟอร์มสีม่วง จำนวน 529 คดี และแพลตฟอร์มสีส้ม จำนวน 248 คดี ซึ่งหลังจากนี้เราจะดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และลดการนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมยกระดับ "มอก.วอทช์ 1.0" นี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในเวอร์ชั่นต่อไป โดยเล็งเพิ่มฟังก์ชั่น ดังนี้ 1. คัดกรองสินค้าและการสวมใบอนุญาตปลอม ไม่ใช่แค่คัดกรองสินค้าไม่มี มอก. เท่านั้น แต่ยังสามารถตรวจสอบสินค้า ที่สวมใบอนุญาตไม่ตรงกับผลิตภัณฑ์ ผ่านสารบบของสมอ. 2. ตรวจสอบฐานข้อมูลสินค้าไม่ได้ มอก. ผู้บริโภคสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น 3. เชื่อมต่อแพลตฟอร์ม "แจ้งอุตฯ" ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนลิงก์ที่จำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาได้ทันที และ 4. พร้อมผนึกกำลังกับหน่วยงานพันธมิตร แชร์ฐานข้อมูลและเทคโนโลยีของ "มอก.วอทช์" ไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้องอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือตำรวจไซเบอร์ เพื่อการบูรณาการสู้รบกับสินค้าห่วยออนไลน์เพื่อประชาชนเต็มรูปแบบ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์
2. เงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนมิ.ย. ลด 0.25% (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2568)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย (เงินเฟ้อ) เดือนมิถุนายน 2568 เท่ากับ 100.42 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2567 ลดลง 0.25% แต่สูงขึ้น 0.02% จากเดือนพฤษภาคมปีนี้ สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อลดลง คือ การ ลดลงของราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมัน เชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า สินค้ากลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะไข่ไก่ ผักสด และผลไม้สดสำคัญกว่า 20 ชนิด ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 1.06% ส่งผลเฉลี่ย 6 เดือนเงินเฟ้อสูงขึ้น 0.37% ทั้งนี้ เงินเฟ้อเดือนมิถุนายนที่ยังติดลบเป็นเดือนที่ 3 ยังไม่ถือว่าเป็นภาวะเงินฝืด เนื่องจากเป็นการลดลงของราคากลุ่มเชื้อเพลิง ผัก-ผลไม้ มีน้ำหนักในคำนวณเงินเฟ้อ รวม 18% โดยในเดือนกรกฎาคมนี้และตลอดไตรมาส 3 ของปีนี้มีแนวโน้มเงินเฟ้อใกล้เคียงไตรมาส 2 ที่ติดลบ 0.35% และกลับมาเป็นบวกในไตรมาส 4 โดยยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2568 อยู่ระหว่าง 0.0-1.0% ค่ากลางคือ 0.5% โดยปัจจัยที่กระทบต่อเงินเฟ้อ ยังไม่รวมเรื่องงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.15 แสนล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 3 จะอยู่ระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 2
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยสนับสนุนให้เงินเฟ้อลดลง ได้แก่ 1. ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางคลี่คลาย 2. การปรับลดค่าเอฟที เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2568 ลง 17 สตางค์ 3. ราคาผักสดลดลง และ 4. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดสินค้าของผู้ประกอบการ ส่วนค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทยเดือนมิถุนายน 2568 อยู่ที่ 21,043 บาท เพิ่มเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าโดยสัดส่วน 60.44% เป็นกลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และสัดส่วน 39.56% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
นางสาวโชติกา ชุ่มมี
ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)
3. ส่งออกทูน่ากระป๋องแข่งขันสูงเอกวาดอร์-จีนเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2568)
นางสาวโชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิตศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยผลการวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมทูน่าว่า ในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องของไทยขยายตัว 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัว 6.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการเร่งนำเข้าของคู่ค้าฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย เพื่อกักตุนสินค้าก่อนครบกำหนดเส้นตายปรับขึ้นอัตราภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบในวันที่ 8 กรกฎาคม 2025 และยังได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกไปยังหลายประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) ที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ภายในภูมิภาคที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องแม้อาจจะชะลอลงบ้างในช่วงครึ่งหลังของปีหลังการบังคับใช้ภาษีตอบโต้เต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกทูน่ากระป๋องในปี 2025 เติบโต 4%YOY โดยคาดว่าแนวโน้ม การส่งออกจะยังได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการบริโภคอาหารประเภทโปรตีนที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงรวมทั้งอานิสงส์จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงยืดเยื้อทำให้ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางต้องการกักตุนสินค้าอาหารที่สามารถเก็บไว้บริโภคได้นาน เช่น ทูน่ากระป๋อง เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นที่ต้องจับตา คือ การแข่งขันในตลาดโลกที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะจากคู่แข่งอย่างเอกวาดอร์และจีน ทั้งนี้ กำแพงภาษีที่สูงขึ้นจากนโยบายภาษีทรัมป์จะทำให้คู่แข่งหลักของไทยในตลาดสหรัฐฯ อย่างเอกวาดอร์ มีแต้มต่อที่ดีขึ้น เนื่องจากมีแนวโน้มโดนเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราที่ต่ำกว่าไทยอาจมีผลให้คู่ค้าบางส่วนหันไปนำเข้าจากเอกวาดอร์เพิ่มขึ้นแทน ขณะที่คู่แข่งอีกรายคือ จีนซึ่งพัฒนาอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องให้เติบโตอย่างรวดเร็วโดยใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน โดยผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งยกระดับมาตรฐานและประสิทธิภาพการผลิต วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง พร้อมๆ ไปกับขยายการส่งออกไปยังตลาดผู้บริโภคที่มีศักยภาพ เช่น ภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป
ข่าวต่างประเทศ
4. ไทยไม่รอด! ทรัมป์แจ้งรีดภาษี 36% เท่ากัมพูชา แต่แย้มเปิดโอกาสให้เจรจาเพิ่มเติม (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2568)
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ได้เริ่มต้นแจ้งกับบรรดาคู่หูทางการค้า ไล่ตั้งแต่ซัพพลายเออร์เจ้าใหญ่อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ไปจนถึงผู้เล่นรายเล็ก ซึ่งรวมถึงไทย ว่าจะโดนเพดานภาษีระดับสูง เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 ถือเป็นปฐมบทใหม่ในสงครามการค้าที่เขาเริ่มเปิดฉากขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าจนถึงตอนนี้ ได้มีการส่งหนังสือแจ้งไปยังประเทศต่างๆ 14 ชาติ ในนั้นรวมถึงผู้ส่งออกมายังสหรัฐฯ เจ้าเล็กกว่าอย่าง เซอร์เบีย, ไทย และตูนีเซีย เกี่ยวกับตัวเลขเพดานภาษีสูง แต่ขณะเดียวกันก็แย้มถึงการเปิดโอกาสสำหรับการเจรจาเพิ่มเติม ซึ่งในจดหมายเตือนว่ามาตรการแก้แค้นใดๆ จะต้องเจอกับการตอบโต้แบบทัดเทียมกัน คือไม่ว่าเหตุผลใดๆ ที่คุณตัดสินใจเพิ่มเพดานภาษีของคุณ เมื่อนั้น ไม่ว่าตัวเลขใดๆ ที่คุณเลือกปรับเพิ่มเพดานภาษี เราจะชาร์จเพดานภาษีเพิ่มเติมอีก 25% โดยทรัมป์ระบุในหนังสือแจ้งไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่เผยแพร่บนทรัสต์โซเชียล สื่อสังคมออนไลน์ของเขาเอง ทั้งนี้ การปรับเพิ่มเพดานภาษีนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม แต่มันจะไม่นับรวมกับคำแถลงรีดภาษีอย่างเจาะจงเป็นรายภาคก่อนหน้านี้ กับภาคยานยนต์ เหล็ก และอลูมีเนียม นั่นหมายความว่า ยกตัวอย่างเช่น เพดานภาษีรถยนต์นำเข้าจากญี่ปุ่นจะยังคงอยู่ที่ 25% แทนที่จะดีดตัวขึ้นไปเป็น 50% เมื่อรวมกับอัตราภาษีตอบโต้ใหม่ ประเทศต่างๆ พยายามทำงานแข่งกับเวลาในการหาข้อสรุปในข้อตกลงกับสหรัฐฯ หลัง ทรัมป์ ปลดปล่อยสงครามการค้าโลกในเดือนเมษายน ที่เขย่าตลาดการเงินและผลักให้บรรดาผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ ดิ้นรนหาทางปกป้องเศรษฐกิจของตนเอง
อย่างไรก็ตาม สำหรับอัตราภาษีที่เรียกเก็บกับเกาหลีใต้ อยู่ในระดับเดิมกับที่ ทรัมป์ ประกาศในเบื้องต้น ส่วนของ ญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นมา 1% จากที่เคยแถลงครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 เมษายน ทั้งนี้หนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น เขาจำกัดสิ่งที่เรียกว่ามาตรการภาษีตอบโต้ไว้ที่ 10% จนถึงวันพุธ (9 กรกฎาคม 2568) เพื่อเปิดทางการเจรจา ซึ่งจนถึงตอนนี้เพิ่งบรรลุข้อตกลงได้เพียง 2 ชาติ ได้แก่ สหราชอาณาจักร และเวียดนาม ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2568 ทรัมป์ เปิดเผยว่านอกจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่นแล้ว สหรัฐฯ จะกำหนดมาตรการรีดภาษี 25% กับตูนิเซีย มาเลเซียและคาซัคสถาน และเพดานภาษี 30% เรียกเก็บกับแอฟริกาใต้ บังกลาเทศ รวมถึงบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา ส่วน กัมพูชาและไทย เจอเพดานภาษี 36% เท่ากัน ในขณะที่ลาวและพม่า โดนไปชาติละ 40%
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)