ข่าวในประเทศ
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม)
1. 'ดีพร้อม' ถก 'ธพว.' ปฏิรูปแนวทางบริหารโครงการเพิ่มขีดความสามารถส่งเสริมอุตฯ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2568)
นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) เปิดเผยว่า ดีพร้อม ได้จัดประชุมหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานการบริหารโครงการเพิ่มขีดความสามารถ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรม (Small Scale Industry Development Project : SSID) ร่วมกับ นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank พร้อมด้วยคณะผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงาน สำหรับการประชุมดังกล่าว สืบเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน ระหว่างดีพร้อม และ SME D Bank ถึงแนวทางการบริหารโครงการ SSID ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานได้รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ และนำมาหารือร่วมกันในครั้งนี้ เพื่อหาข้อสรุปทิศทางการบริหารโครงการ SSID ที่เหมาะสม โดยที่ประชุมได้มีความเห็นร่วมกัน ดังนี้ 1. ดีพร้อมจะจัดทำหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการประสานงานไปยังประเทศแคนาดาในการจัดส่งเงินคงเหลือที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแคนาดาส่งคืนไปยังประเทศต้นทาง โดยทาง SME D Bank จะจัดทำรายละเอียดต่างๆในการดำเนินโครงการ SSID ที่ผ่านมาจนถึงสถานะปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นเอกสารหลักฐานให้ทาง กต. พิจารณาให้ความอนุเคราะห์ต่อไป 2. หากผลปรากฎว่าแคนาดาไม่ขอรับเงินสนับสนุนที่เหลือคืน จะมีแนวทางการดำเนินการ 2 แนวทาง คือ จัดทำหนังสือเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นมติเห็นชอบให้ดำเนินการนำเงินคงเหลือกลับคืนเข้าคลังของประเทศ และหาก ดีพร้อม และ SME D Bank มีความประสงค์ที่จะนำเงินคงเหลือดังกล่าวมาร่วมกันดำเนินงานโครงการ/กิจกรรมเพื่อพัฒนาและช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย ทางดีพร้อมจะดำเนินการจัดทำหนังสือนำเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าวอย่างถูกต้อง โดยได้มอบหมายให้ เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(ดีพร้อม) เป็นผู้ดำเนินการและประสานงานกับทาง SME D Bank เพื่อรวบรวมข้อมูลและเอกสารหลักฐานต่างๆ พร้อมทั้งจัดทำหนังสือไปยังกระทรวงการต่างประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตาม SSID เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยเคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแคนาดาในปี 2531 สำหรับให้บริการคำปรึกษาแนะนำควบคู่กับการให้บริการสินเชื่อแก่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางหรือขนาดย่อม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วงเงิน 11.9 ล้านเหรียญแคนาดา (ประมาณ 250 ล้านบาท) โดยได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแคนาดา เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2531 และเริ่มดำเนินโครงการปี 2533 จนถึงปี 2539 ทั้งนี้ โครงการ SSID มีองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งแคนาดา (Canada International Development Agency : CIDA) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยกองแผนงาน (กง.กสอ. ปัจจุบัน) ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ศภ.5 กสอ. ปัจจุบัน) และสำนักงานธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อม (ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. ปัจจุบัน) เป็นหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งปัจจุบัน สถานะของโครงการยังคงมีเงินเหลือในส่วนของกิจกรรมเงินเพื่อการกู้ยืม
นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
2. พาณิชย์ชี้ช่องส่งออกอาหารอุ่นร้อนไปตลาดจีน (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2568)
นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ สำรวจลู่ทางการค้า และโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบายของ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ล่าสุด ได้รับรายงานจากนางสาวบูชิตา อินทรทัศน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอุ่นร้อนเองของจีนปี 2568 โอกาสและช่องทางในการขยายตลาดอาหารอุ่นร้อนของไทยเข้าสู่ตลาดจีน โดยทูตพาณิชย์ได้รายงานว่า ด้วยวิถีชีวิตของชาวจีนที่มีความรีบเร่งขึ้น ผู้บริโภคต้องการอาหารที่สะดวกในการรับประทาน ประกอบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจคนโสด และเศรษฐกิจคนขี้เกียจ ทำให้อาหารอุ่นร้อน ได้กลายเป็นหนึ่งในอาหารสะดวกซื้อที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ รวมถึง การบริโภคอาหารคนเดียว และความนิยมกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การแคมปิ้ง เพราะอาหารที่อุ่นร้อนใช้งานง่าย ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า แต่อุ่นด้วยถุงหรือซองความร้อน จึงตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคในด้านความสะดวก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันจีนมีผู้ประกอบการอาหารอุ่นร้อนเองจำนวน 1,549 ราย โดยมีบริษัทใหม่ที่จดทะเบียนในกิจการอุตสาหกรรมอาหารอุ่นร้อนเองของจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี และผู้บริโภคผลิตภัณฑ์อุ่นร้อนเองส่วนใหญ่อายุระหว่าง 18-24 ปี สัดส่วนร้อยละ 47.75 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน พนักงานออฟฟิศและผู้ที่ชอบทำกิจกรรมกลางแจ้ง และมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมอุ่นร้อนเอง มีมูลค่า 17,834 ล้านหยวน หรือราว 83,819.80 ล้านบาท ในปี 2563 แต่หลังจากนั้นตลาดมีแนวโน้มชะลอตัว และในปี 2567 ตลาดฟื้นตัวอยู่ที่ 17,640 ล้านหยวน หรือราว 82,908 ล้านบาท
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. กกร.หารือแบงก์ชาติยกระดับดีกรีการแข่งขันของไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2568)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้ร่วมคณะกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.). ในการเข้าพบ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น ข้อเสนอแนะ และสร้างความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ ประเมินผลกระทบจากภาษีสหรัฐฯ ในแต่ละภาคส่วน การแก้ไขปัญหาสวมสิทธิ์ส่งออก รวมถึงพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ในประเทศ และยกระดับขีดความสามารถในการผลิตของไทย (Competitiveness) ทั้งนี้ ได้นำเสนอภาพรวมผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่ 36% ที่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบอัตราภาษีกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เป็นต้น รวมทั้งได้สะท้อนปัญหาการสวมสิทธิ์สินค้าไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาหลักนิติธรรม (Rule of Law) การบังคับใช้กฎหมาย และปัญหาคอร์รัปชั่น โดยภาคเอกชนมีความกังวลต่อผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง ทั้งผลกระทบต่อ GDP การจ้างงาน และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศด้วย ดังนั้นจึงได้เข้ามาหารือกับแบงก์ชาติในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ทางธปท. จะร่วมกับภาคเอกชนในการดำเนินการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลสำหรับนำไปวิเคราะห์ประเมินผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายช่วยเหลือในแต่ละภาคส่วน รวมทั้งยังเห็นชอบสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอ White paper มาตรการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจ (Transformation) เพื่อนำเสนอภาครัฐและภาคสาธารณะต่อไป โดยในการจัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐจะแบ่งข้อเสนอเป็น 2 ส่วน คือ 1. ข้อเสนอระยะสั้น (Quick Win) และ 2. ข้อเสนอระยะยาว นอกจากนี้ ธปท. จะรับประเด็นในเรื่องค่าเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไปพิจารณาแนวทางดูแลต่อไปอีกด้วย
ข่าวต่างประเทศ
4. สิงคโปร์รอดเศรษฐกิจถดถอย หลัง GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 1.4% (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2568)
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2568 ของสิงคโปร์ขยายตัว 1.4% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัวเพียง 0.8% โดย GDP ไตรมาส 2 ของสิงคโปร์ขยายตัวแข็งแกร่ง หลังจากที่หดตัวลง 0.5% ในไตรมาส 1 ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์สามารถรอดพ้นจากภาวะถอยทางเทคนิค โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมด้านการก่อสร้างและความแข็งแกร่งด้านการส่งออก ทั้งนี้ เมื่อเทียบรายปี GDP ไตรมาส 2 ของสิงคโปร์ขยายตัว 4.3% แข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.6% และดีกว่าในไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 3.9% ซึ่งข้อมูล GDP ล่าสุดคาดว่าจะช่วยให้ตลาดคลายความวิตกกังวล หลังจากที่ก่อนหน้านี้กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมได้ส่งสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลังจากที่เศรษฐกิจหดตัวลงในไตรมาส 1
อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ระบุว่า แนวโน้มในวันข้างหน้ายังคงไม่แน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เนื่องจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ยังขาดความชัดเจน ทั้งนี้ แม้ว่าสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรจากสหรัฐฯ ในอัตรา 10% ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน แต่ด้วยมูลค่าการค้าของสิงคโปร์ที่สูงประมาณ 3 เท่าของ GDP ทำให้สิงคโปร์ยังคงมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการค้าโลก
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)