ข่าวประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2568

ข่าวในประเทศ

A person in a suit

AI-generated content may be incorrect.

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม)

 

1.  "ดีพร้อม" จับมือ "Tokyo SME Support Center" พร้อมเสริมแกร่ง เพิ่มศักยภาพ SME ไทยและญี่ปุ่น ให้แข็งแรง โตไกลสู่ตลาดสากล (ที่มา: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, ประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2568)

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมหารือร่วมกับ Mr. Nakanishi Mitsuru President & CEO Tokyo SME Support Center ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วย นายดุสิต อนันตรักษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายพรธวัช เพ่งศรี อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายอุตสาหกกรรม) และนายกิตติพันธุ์ บางยี่ขัน อดีตอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายอุตสาหกกรรม) ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างดีพร้อม กับ Tokyo SME Support Center เพื่อร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SME ไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยที่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถเข้าถึงตลาดในประเทศญี่ปุ่น และตลาดในระดับสากลมากขึ้น โดย "ดีพร้อม" มุ่งมั่นในการสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรม ตามนโยบาย "ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้" โดยใช้แนวทาง 4 ให้ 1 ปฏิรูป ในการพัฒนาธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมให้เติบโต สามารถสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ สอดรับตามนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรม ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับการปรับตัวให้เข้ากับวิถีใหม่ของโลก ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม "ดีพร้อม" จะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีความสนใจที่จะขยายธุรกิจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจาก ไทย-ญี่ปุ่น เป็นพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นร่วมกันมาหลายศตวรรษ และความร่วมมือระหว่าไทย-ญี่ปุ่น ไม่เพียงแค่การจับคู่ทางธุรกิจเพื่อค้าขายเท่านั้น แต่ควรมีความร่วมมือเพื่อเป็นซัพพลายเชนระหว่างกัน รวมทั้งร่วมดูแลชุมชนโดยรอบด้วย ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการผลักดันส่งเสริมและผลักดันผู้ประกอบการไทยให้สามารถขยายตลาดและเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจในระดับสากล

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ. สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์

 

2. ดัชนีค่าขนส่ง Q2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย พาณิชย์แนะกลุ่มโลจิสติกส์ต้องเร่งปรับตัว (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2568)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ. สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 ปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567 โดยมีสาเหตุมาจากปริมาณการขนส่งสินค้าทางถนนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความต้องการขนส่งที่ขยายตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการส่งออก และการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามกิจกรรมการผลิต ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งเป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งสูงขึ้น 2.7% โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้น 0.4% จากการสูงขึ้นของค่าบริการขนส่งสินค้ากลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่นๆ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ในขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลง 0.3% จากการลดลงของค่าบริการขนส่งสินค้ากลุ่มถ่านหินและลิกไนต์ และผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ได้จากการ ทำเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ลดลง 2.0% จากการลดลงของค่าบริการขนส่งสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สำหรับดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามประเภทรถ ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 เพิ่มขึ้น 0.3% (YOY) (ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 สูงขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2567) เป็นการสูงขึ้นของประเภทรถที่บริการขนส่งสินค้า ได้แก่ รถกระบะบรรทุก สูงขึ้น 0.5% รถบรรทุกเฉพาะกิจ สูงขึ้น 0.6% รถตู้บรรทุก สูงขึ้น 0.2% และรถบรรทุกวัสดุอันตราย สูงขึ้น 1.2% ในขณะที่ดัชนีค่าบริการขนส่งโดยรถบรรทุกของเหลว ลดลง 0.7% สำหรับรถพ่วงและกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว ราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากไตรมาสที่ผ่านมา ยังคงเป็นเรื่องของต้นทุนที่ยังทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะอัตราค่าจ้างแรงงานในภาคการขนส่ง นอกจากนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการส่งออก และการเติบโตของธุรกิจการค้าออนไลน์ ทำให้ความต้องการและปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 3 ปี 2568 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยอาจได้รับอานิสงส์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างงาน จะส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศขยายตัว นำไปสู่การขนส่งสินค้าตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานให้เติบโตตามไปด้วย ทั้งนี้ ในระยะต่อไปผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ต้องเผชิญกับความท้าทายจากกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจากการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน การเปลี่ยนผ่านสู่การขนส่งคาร์บอนเป็นศูนย์รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่ง ดังนั้นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs จำเป็นต้องเตรียมการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

3. ไทยต้องเข้าไปเป็น Supply Chain อุตสาหกรรมของสหรัฐให้ได้ (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2568)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายในงานเสวนาโต๊ะกลม "กรุงเทพธุรกิจ Roundtable : The Art of (Re) Deal" ว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลไทยยังคงยังอยู่ระหว่างการเจรจามาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) จากสหรัฐ ที่ประกาศเก็บอัตราภาษีของไทยที่ 36% ยอมรับว่ามาตรการภาษีดังกล่าวส่งผลกระทบในหลายมิติ ทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจลงทุน และยังทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างประเทศ เป็นต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นของภาคธุรกิจ ทำให้บางบริษัทอาจพิจารณาไปลงทุนตั้งฐานผลิตในสหรัฐที่มีอัตราภาษี 0% ขณะเดียวกัน บีโอไอเตรียมแก้ไขกฎหมายในส่วนของ พ.ร.บ.ภาษีส่วนเพิ่ม Global Minimum Tax ที่จะประกาศใช้เพื่อเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% จากบริษัทข้ามชาติ โดยมีเครดิตภาษีมาช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน เพื่อจะทำให้การลงทุนไม่ชะลอไปมากกว่านี้ สำหรับทิศทางของประเทศไทยจากนี้ จำเป็นต้องผูก Supply Chain กับสหรัฐให้มากขึ้น เช่น การเข้าไปเป็น Supply Chain ในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และด้านดิจิทัล และต้องทำให้สหรัฐมองไทยเป็นฐานการลงทุนเพื่อขยายตลาดเข้าสู่อาเซียน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนของสหรัฐในไทยมี 135 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 150,000 ล้านบาท และหากรวมบริษัทสหรัฐที่ลงทุนผ่านสิงคโปร์จะมากกว่า 200,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล ยานยนต์ และอาหาร สำหรับทิศทางในอนาคต ประเทศไทยยังคงมุ่งเป้าไปที่บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี โดยมี 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะดึงดูดการลงทุนจากสหรัฐ คือเซมิคอนดักเตอร์แอดวานซ์อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตชิป ฮาร์ดดิสก์สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ โน้ตบุ๊ก AI บริการคลาวด์ ยานยนต์ ไบโอเบส ซึ่งรวมไปถึงศูนย์ธุรกิจต่างประเทศ ทั้งนี้ การตัดสินใจของนักลงทุน ภาษีไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการตัดสินใจลงทุนเขาจะดูอย่างน้อย 5 เรื่องหลัก คือ โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งน้ำ ไฟ นิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือ สนามบิน ได้เปรียบสุดในอาเซียน เรื่องของ Supply Chain เราสู้ได้ เรื่องคน ทั้งแรงงานฝีมือ วิศวกร ช่างเทคนิคเราสู้ได้ เรื่องสิทธิประโยชน์และมาตรการจากภาครัฐเราสู้ได้ และเรื่องสุดท้ายคือไทยเรามีตลาดขนาดใหญ่เกือบ 70 ล้านคน มี FTA 17 ฉบับ ครอบคลุม 24 ประเทศ และกำลังเจรจา FTA กับ EU เกาหลี และแคนาดา

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a yellow star and a crescent moon

AI-generated content may be incorrect.

 

4. มาเลเซียคุมเข้มส่งออกชิปเอไอจากสหรัฐ ป้องกันลักลอบส่งต่อไปจีน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 15 กรกฎาคม 2568)

กระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย เปิดเผยแถลงการณ์ว่า การส่งออก การส่งต่อ (transshipment) และการขนส่งผ่าน (transit) ชิปปัญญาประดิษฐ์                   (เอไอ) สมรรถนะสูง ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากสหรัฐ จะต้องได้รับใบอนุญาตการค้ากลยุทธ์ (strategic trade permit) ก่อนดำเนินการ ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทันที เพื่อปิดช่องโหว่ทางกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน หน่วยงานรัฐทุกแห่งที่เกี่ยวข้องของมาเลเซียอยู่ระหว่างการเร่งหารือ และพิจารณากันเพิ่มเติมเป็นการภายใน ว่าจะขึ้นบัญชีชิปเอไอสมรรถนะสูงของสหรัฐ ไว้ในรายการสินค้ากลยุทธ์ของประเทศด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รัฐบาลวอชิงตันแสดงความวิตกกังวลอย่างเปิดเผยต่อมาเลเซีย ว่าเป็น “ประเทศทางผ่าน” ของการส่งออกชิปจากสหรัฐไปยังจีน ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันยังคงคว่ำบาตรรัฐบาลปักกิ่งในภาคส่วนนี้อยู่ ขณะที่    เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล รายงานเมื่อเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลมาเลเซียกำลังตรวจสอบข้อมูลว่า บริษัทจีนอาจหลีกเลี่ยงข้อจำกัดการส่งออกของสหรัฐในเรื่องนี้ โดยใช้เซิร์ฟเวอร์ที่ติดตั้งชิปของเอ็นวิเดีย ซึ่งตั้งอยู่ในมาเลเซีย ทั้งนี้ สหรัฐขู่เรียกเก็บภาษีอัตรา 25% จากมาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2568 นี้ หากทั้งสองประเทศไม่สามารถเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้   

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)