ข่าวในประเทศ
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
1. โชว์ผลกองทุนฯ เอสเอ็มอีแนวประชารัฐติดปีกผู้ประกอบการไทยสู่การเติบโต (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2568)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ยินดีที่เป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ด้วยการสนับสนุนการเงินและองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยผลความสำเร็จที่วัดได้ด้วยการตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของกองทุนฯ และนำเงินทุนที่ได้ไปต่อยอดให้ธุรกิจดำเนินไปได้ และมีทิศทางเติบโตในอนาคต สำหรับตัวแทนผู้ประกอบการไทยที่ได้เป็นลูกค้าของกองทุนเปิดเผยถึงประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการฯ ที่ได้รับการสนับสนุนทั้งเงินทุน และเสริมสร้างเป็นโอกาสเรียนรู้การจัดการธุรกิจด้วยมุมมองใหม่ คือ นายวิธิชัย ตัณฑพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ เจ้าของและผู้ก่อตั้งแบรนด์ K Garden Fence ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายรั้วตาข่ายคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีจากออสเตรเลีย ได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า จุดเริ่มต้นของธุรกิจมาจากการแก้ปัญหาที่พบเจอในการทำฟาร์มของตนเอง ทำให้เกิดการพัฒนาระบบรั้วที่ทนทาน ใช้งานได้นานถึง 40 ปี ช่วยประหยัดต้นทุนระยะยาวให้เกษตรกร ซึ่งสินค้าของ K Garden Fence มีจุดเด่นด้านความทนทานต่อทุกสภาพอากาศ เป็น มิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นสนิม และได้รับมาตรฐาน มอก. อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น เสาเข็มเหล็ก และพัดลมอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน พร้อมบริการหลังการขายครบวงจร สำหรับอุปสรรคสำคัญที่ K Garden Fence เผชิญ คือ กำลังการผลิตไม่เพียงพอ และขาดแคลนเครื่องจักรที่ทันสมัย รวมถึงเงินทุนในการลงทุนต่อยอด ทำให้ไม่สามารถขยายตลาดได้ตามที่วางแผนไว้
อย่างไรก็ตาม ตอนนั้นเรารู้สึกเหมือนธุรกิจถูกเบรก ทั้งที่ความต้องการของลูกค้ากำลังมาแรง และทางบริษัทฯ ได้เล็งเห็นโอกาสจากโครงการ "โตไว ไทยยั่งยืน" จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมทันที โดยได้รับสินเชื่อเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่มูลค่า 2.8 ล้านบาท ซึ่งช่วยเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างชัดเจน และต่อยอดด้วย "โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ" หรือ "โครงการเสือติดปีก" อีก 10 ล้านบาท สำหรับลงทุนเครื่องจักรในสายการผลิตพัดลมอุตสาหกรรม ทำให้ K Garden Fence สามารถเปิดตลาดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานและฟาร์มที่ต้องการพัดลมประหยัดพลังงาน ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 30% และในวันนี้ K Garden Fence ยังคงมีแผนพัฒนามอเตอร์พัดลมรุ่นใหม่ระดับโลก ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้นโดยเชื่อมั่นว่าจะเติบโตได้อีกไกลด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
2. สมุนไพรตลาดโลกโตแรง ไทยมีโอกาสแต่ขาดนวัตกรรม (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2568)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการค้าสินค้าสมุนไพรอย่างต่อเนื่อง พบว่า สินค้าสมุนไพรยังเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยข้อมูลจาก Euromonitor บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก ในปี 2567 มูลค่าการค้าปลีกสินค้าสมุนไพรในตลาดโลก สูงถึง 60,589.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 4.6 % จากปีก่อนหน้า และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจนแตะระดับ 78,395.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2572 ทั้งนี้ ตลาดค้าปลีกรายใหญ่ 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ 1. จีน มีมูลค่า 19,569.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 2. สหรัฐฯ 9,809.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 3. ญี่ปุ่น 2,953.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 4. เกาหลีใต้ 2,679.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 5. เยอรมนี 2,159.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนไทยตลาดค้าปลีกสมุนไพรมีมูลค่า 1,265.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 7.1% จากปีก่อนหน้า จัดอยู่อันดับที่ 10 ของโลก สำหรับข้อมูลการค้าสินค้าสมุนไพรของโลก ซึ่งประกอบด้วย 3 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ พืชสมุนไพร (HS Code 1211) สารสกัดจากสมุนไพร (HS Code 1302) และน้ำมันหอมระเหย (HS Code 3301) ในปี 2567 มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ พบว่า 1. พืชสมุนไพร มีมูลค่าการส่งออกทั่วโลก 4,562.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 2. สารสกัดจากสมุนไพร มีมูลค่าการส่งออกทั่วโลก 8,345.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 3. น้ำมันหอมระเหย มีมูลค่าการส่งออกทั่วโลก 6,381.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่า แม้ไทยจะมีศักยภาพด้านสมุนไพร แต่ไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิในทุกกลุ่มสินค้าสมุนไพรดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มสารสกัดที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้าสูงกว่าทุกกลุ่ม เนื่องจากต้องใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง แต่กระบวนการผลิตมีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก สำหรับด้านการส่งออก จากมูลค่าการส่งออกของไทยใน 3 กลุ่มสินค้าหลัก (พืชสมุนไพร สารสกัดจากสมุนไพร และน้ำมันหอมระเหย) พบว่า ไทยยังมีสัดส่วนการส่งออกในตลาดโลกค่อนข้างต่ำ โดยมีสินค้าน้ำมันหอมระเหยเป็นกลุ่มที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงสุด
อย่างไรก็ตามผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยมีการนำสมุนไพรไทยไปใช้เป็นวัตถุดิบในหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาหารและเครื่องดื่ม อาหารเสริม ยา เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์นวดแผนไทยและสปา และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ซึ่งไทยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ขั้นปลายเหล่านี้ที่มีส่วนผสมของสมุนไพร แต่ด้วยข้อจำกัดด้านการจัดหมวดหมู่ในระบบพิกัดศุลกากรของสินค้าสมุนไพรที่ไม่แน่ชัด จึงไม่สามารถจัดเก็บมูลค่าการส่งออกของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยได้ทั้งหมด โดยหน่วยงานภาครัฐไทยตระหนักถึงข้อจำกัดนี้ และกรมศุลกากรอยู่ระหว่างจัดทำพิกัดรหัสสถิติ เพื่อให้สามารถจัดเก็บมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนในการกำกับติดตาม เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการขับเคลื่อนสมุนไพรไทยได้อย่างเหมาะสม
นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. สอท.เปิด 8 ปัจจัยกดดันศก.ซบ (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2568)
นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงภาพรวมและแนวทาง "ปลดล็อก" ศักยภาพภาคอุตสาหกรรมไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ในงานสัมมนา ibusiness Forum 2025 "Decode 2025: The Mid-Year Signal" ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย ว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองในครึ่งปีหลังมี 8 ประการ ได้แก่ 1. มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐ โดยเฉพาะนโยบายภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ 2. ปัญหาสินค้าทุ่มตลาดและการสวมสิทธิ์ส่งออก 3. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามอิสราเอลอิหร่าน 4. ข้อพิพาทพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา 5. ภาวะหนี้ครัวเรือน และหนี้ธุรกิจที่พุ่งสูง 6. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 7. แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ 8. ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยประเด็นเรื่องภาษีการค้าของสหรัฐถูกยกมาเป็นความกังวลลำดับต้นๆ เนื่องจากประเทศที่ถูกเก็บภาษีต่ำกว่า 36% ล้วนเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับกับดักที่ขาดแคลนสินค้าที่มีนวัตกรรม ทำให้ประเทศมีอำนาจต่อรองในเวทีโลกน้อยลง เนื่องจากไทยยังคงพึ่งพิงการรับจ้างผลิตเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นประเทศที่ไม่มีอำนาจต่อรองในเวทีโลก การผลิตสินค้าแบบรับจ้างแสดงให้เห็นว่าเมื่อเผชิญกับการกีดกันทางการค้าจะประสบปัญหาหนัก ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีการปรับตัวเพื่อสร้างความเป็นตัวตนของตัวเองที่ทำให้หลุดพ้นจากสถานการณ์นี้ ก็จะลำบาก สำหรับอัตราการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกส่วนใหญ่จะอยู่ในภาวะขยายตัว โดยเฉพาะตลาดอินเดีย สหรัฐอเมริกา และจีน แต่คาดการณ์ว่าการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้จะเริ่มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง และการที่จีนผลิตสินค้าได้ปริมาณมากและราคาถูกจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตของไทย สินค้าใดก็ตามที่จีนสามารถผลิตได้ ไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ลำบาก เนื่องจากจีนสามารถทำต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้
อย่างไรก็ตาม เสนอให้ภาครัฐเจรจาโดยแบ่งอัตราภาษีเป็นสองระดับ ได้แก่ การรักษาสัดส่วน 40% สำหรับสินค้าที่เป็นทางผ่าน เช่น สินค้าจากจีนที่ผ่านไทย และประกอบเพื่อให้เทียบเท่ากับ เวียดนาม และลดภาษีเหลือ 20-25% สำหรับสินค้าไทยที่มีสัดส่วน Made in Thailand หรือมี Local Content สูงเกิน 50-60% โดยเฉพาะอุปกรณ์ดิจิทัล เช่น ฮาร์ด ดิสก์ ชิปต่างๆ ที่ผลิตในไทยโดยบริษัทอเมริกาหรือภาคการเกษตรที่เป็นของไทย
ข่าวต่างประเทศ
4. GDP จีนไตรมาสสองโตเกินคาด รัฐบาลปักกิ่งเชื่อปีนี้ยังขยายตัวได้ 5% ตามเป้า (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2568)
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics of China: NBS) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของจีนในไตรมาสที่สองขยายตัว 5.2% ซึ่งสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.1% โดยตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าการเติบโตในไตรมาสที่หนึ่ง ซึ่งเคยสูงถึง 5.4% ทั้งนี้ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จีนมีอัตราการเติบโตด้านการขายปลีกที่ระดับ 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำกว่าระดับของเดือนพฤษภาคมที่ 6.4% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 5.4% ขณะที่ยอดขายธุรกิจจัดเลี้ยง ซึ่งรวมถึงอาหาร และเครื่องดื่ม เติบโตขึ้นเพียง 0.9% และเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2565 โดยเป็นช่วงเวลาที่จีนกำลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนขยายตัว 6.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสูงกว่าการคาดการณ์เฉลี่ยของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 5.7% ขณะที่อัตราว่างงานในเขตเมืองยังคงอยู่ที่ระดับ 5% หลังจากแตะระดับสูงสุดในรอบสองปีที่ 5.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีน กล่าวว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่สองของปี 2568 เติบโตดีเกินคาด โดยส่งผลให้ประเทศยังคงอยู่ในเส้นทางเพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตตลอดทั้งปีที่ระดับ 5% รวมถึงผ่อนคลายแรงกดดันต่อผู้กำหนดนโยบายในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อพยุงการขยายตัว
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)