ข่าวในประเทศ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. "เอกนัฏ" สั่งกนอ. ฟันนิคมศูนย์เหรียญ เพิ่มอุตสาหกรรมดีแทนที่ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2568)
นายเอกนัฏ พร้อมพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายแก่คณะกรรมการ กนอ.และผู้บริหารระดับสูงของ กนอ. เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยประกาศเจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการทำงานที่เหมือนเป็นการทำงานวันสุดท้าย เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมย้ำว่า ภาคอุตสาหกรรมคือความหวังของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุน (Investment) ที่จะดึงดูดกลุ่มลูกค้าให้เข้ามาลงทุน สร้างงาน และส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก ซึ่งเปรียบเสมือนการ "จ้างช่างซ่อมที่ชื่อ เอกนัฏ พร้อมพันธ์" มาฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมไทย ยังต้องเผชิญความท้าทายจากการแข่งขัน โดยเฉพาะมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่กำหนดขอบเขตภาษีสูงถึง 36% ในบางสินค้า รวมถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทาน(Supply Chain) ที่ซับซ้อน เช่น กรณีปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ที่อาจเพิ่มต้นทุนการขนส่งจากการปรับเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่น ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ กนอ. ดำเนินการเร่งด่วน คือ 1. ปราบปราม "อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ" หรือ "โรงงานเถื่อน" อย่างเข้มงวด โดยใช้ พ.ร.บ.โรงงานฯ มาตรา 39 วรรค 1 เพื่อจัดการกับโรงงานที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์แต่ไม่สร้างมูลค่า ลดคุณภาพสินค้า ปล่อยมลภาวะ และทิ้งกากขยะอุตสาหกรรม 2. ป้องกันคุณภาพสินค้าและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำมาตรฐานอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะปัญหากากอุตสาหกรรม ที่ขณะนี้ พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมฯกำลังอยู่ในระหว่างการผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็น พ.ร.บ.กากอุตสาหกรรมฉบับแรกของไทย และ 3. อุดช่องว่างทางกฎหมาย ตรวจสอบความผิดพลาดการออกใบอนุญาตและการประกอบกิจการโรงงาน รวมถึงปัญหาช่องว่างการออกใบอนุญาตแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการผลิตโดยไม่แจ้งประกอบกิจการ รวมทั้งลดช่องว่างระหว่าง กนอ.และ
อย่างไรก็ตาม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ BOI จะสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แต่ GDP ของประเทศกลับไม่ดีขึ้น สะท้อนถึงปัญหาที่ต้องแก้ไขที่ต้นตอ คือ การจัดการกับ "อุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ" และ "โรงงานเถื่อน" ขณะเดียวกันมองว่าแม้ กนอ.จะเป็นรัฐวิสาหกิจแต่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) เท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่สำคัญในการป้องกันความเสียหาย และอำนวยความสะดวกในการลงทุน โดยเชื่อว่า "ทุกการเปลี่ยนแปลง ทุกความท้าทาย ในวิกฤติมักมีโอกาสเสมอ"
นายภาสกร ชัยรัตน์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
1. สศอ. จัดงาน"Halal Food & Fashion of the World" เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ระดับสากล (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2568)
นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ระดับสากล ผ่านการจัดงาน "Halal Food & Fashion of the World" สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงาน "Halal Food & Fashion of the World" เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับศักยภาพของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ตลอดจนยกระดับผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย โดยใช้จุดแข็งของอัตลักษณ์ไทย (Soft Power) เพื่อส่งออกสู่ตลาดสากล ทั้งนี้ อาหารฮาลาล เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์เป้าหมายในการยกระดับผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย ซึ่งในปัจจุบัน มีผู้นับถือศาสนาอิสลาม (มุสลิม) จำนวนประชากรกว่า 2,000 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของประชากรโลก หรือ 1 ใน 4 ของประชากรโลก อัตราการเติบโตของประชากรมุสลิม ทั่วโลกอยู่ที่ราว ร้อยละ 1.5 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของประชากรศาสนาอื่นๆ ที่อยู่ประมาณ ร้อยละ 0.7 ต่อปี และคาดว่าตลาดสินค้าฮาลาลทั่วโลกในปี พ.ศ. 2571 จะมีมูลค่า 11.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 360 ล้านล้านบาท ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของตลาด พฤติกรรรมผู้บริโภค ลักษณะการจับจ่ายใช้สอย ตลอดจนสินค้าและบริการที่จะได้รับความนิยมในอนาคต สำหรับจัดงานในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการอาหารฮาลาลไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล มากกว่า 50 ราย ร่วมแสดงสินค้า พร้อมทั้งยังมีกิจกรรมสาธิตการปรุงอาหารด้วยวัตถุดิบจากผู้ประกอบการ และกิจกรรม Business Matching การจับคู่ธุรกิจกับผู้ซื้อ ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการจัดแสดงสินค้าฮาลาลประเภทเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาสินค้าและเข้าสู่ตลาดฮาลาลได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จึงนำ Halal One Stop Service Center หรือศูนย์บริการอุตสาหกรรมฮาลาลแบบเบ็ดเสร็จ มาให้คำปรึกษาภายในงาน โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญ ให้คำแนะนำอย่างครบวงจร อาทิ การขอรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กฎระเบียบในการนำเข้าและส่งออกสินค้าฮาลาล การยกระดับสินค้า ให้ได้มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการให้บริการด้านสินเชื่อและ ที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับผู้ประกอบการฮาลาลไทย พร้อมกันนี้ ภายในงานวันนี้ ยังมีการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล ระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กับสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เพื่อเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการฮาลาล ยกระดับ การผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานฮาลาล พัฒนาบุคลากร เชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ ที่เกี่ยวข้อง พัฒนาช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนบูรณาการการทำงาน เพื่อแนะนำ/ส่งต่อผู้ประกอบการระหว่างกัน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
2. สนค.หนุนผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนกิจการแบบ Twin Transition (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2568)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้จัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาและร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ภายใต้โครงการศึกษาการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในการเปลี่ยนผ่านด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่กับการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หลังจากได้ศึกษา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล แนวคิด และแนวทางการเปลี่ยนผ่านแบบควบคู่ หรือ Twin Transition ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transition) โดยทำควบคู่กับการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transition) ไปพร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาและร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และประชาชนทั่วไป และนำมาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับสมบูรณ์ต่อไป โดย สนค.ได้นำเสนอผลการศึกษาและร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ 1. สร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ การสนับสนุนการปรับปรุงและพัฒนาเครื่องจักรหนัก การจัดตั้งศูนย์โลจิสติกส์ และการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2. พัฒนาทักษะแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาหลักสูตรการศึกษาและการฝึกอบรม 3. พัฒนามาตรฐานการรับรองสินค้าด้านสิ่งแวดล้อม ให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และ 4. เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดและผู้บริโภคยุคใหม่ที่สนใจสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และกำหนดนโยบายจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ ที่อาจเป็นช่องทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ยังได้นำเสนอร่างข้อเสนอแนะแนวทางการเปลี่ยนผ่านแบบควบคู่สำหรับภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ในอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ ลงทุนพัฒนาวัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดเฉพาะกลุ่ม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาทักษะแรงงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและเศรษฐกิจหมุนเวียน และสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการในห่วงโซ่คุณค่า เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง
อย่างไรก็ตาม การผลักดันการเปลี่ยนผ่านแบบควบคู่ (Twin Transition) ทั้งในมิติเทคโนโลยีดิจิทัลและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การค้า การบริหารจัดการ และการกำจัดของเสีย ตอบสนองต่อความต้องการของคู่ค้าและผู้บริโภคยุคใหม่ เสริมสร้างภาพลักษณ์ของสินค้าและธุรกิจไทยที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม การริเริ่มการเปลี่ยนผ่านแบบควบคู่ในวันนี้ จึงไม่ใช่เพียงการตอบสนองต่อความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัลและมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการวางรากฐานของเศรษฐกิจไทย และเตรียมความพร้อมให้ทุกภาคส่วนสามารถพัฒนาและ ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
ข่าวต่างประเทศ
4. ญี่ปุ่นเผย Core CPI เดือนมิ.ย.เพิ่ม 3.3% เหตุราคาอาหารแพงขึ้น (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2568)
กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายน 2568 เพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งสาเหตุหลักมาจากราคาอาหารที่สูงขึ้น โดยดัชนีเงินเฟ้อดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าหรือเท่ากับเป้าหมายที่ระดับ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ทั้งนี้ อัตราการปรับขึ้นของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วประเทศซึ่งไม่รวมอาหารสดที่มีความผันผวนนั้น ชะลอตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังจากปรับตัวขึ้น 3.7% ในเดือนพฤษภาคม เนื่องจากราคาพลังงานลดลง
อย่างไรก็ตาม ดัชนี Core-core CPI ซึ่งไม่รวมทั้งพลังงานและอาหารสด เพื่อสะท้อนแนวโน้มราคาในระยะยาว เพิ่มขึ้น 3.4% ในเดือนมิถุนายน สำหรับราคาอาหาร (ไม่รวมอาหารสด) พุ่งขึ้น 8.2% เพิ่มขึ้นจาก 7.7% ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น 2.9% ชะลอตัวจาก 8.1% ในเดือนพฤษภาคม สำหรับหมวดสินค้าอื่นๆ นั้น ราคาสินค้าใช้ทนในครัวเรือนเพิ่มขึ้น 2.5%
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)