ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 2 เดือนพฤษภาคม 2565

ข่าวในประเทศ

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม

 

1. 'ดีพร้อม' สร้างอาชีพชุมชนรองรับแรงงานคืนถิ่น/กระตุ้นศก. (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2565)

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้แรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก เพราะไม่สามารถทำงานในเมืองใหญ่ได้ เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ปิดตัวลง เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดในครั้งนี้ แต่ภายหลังจากที่สถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายไปแล้ว แรงงานส่วนใหญ่ต้องการที่จะประกอบอาชีพที่ภูมิลำเนาต่อ ดังนั้น ดีพร้อมจึงมุ่งเน้นเข้าไปส่งเสริมให้แรงงานกลับถิ่นและชุมชนมีรายได้ที่มั่นคง สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าจากอัตลักษณ์ของชุมชน รวมทั้งสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ โดยที่ไม่ต้องอพยพออกมาทำงานต่างถิ่นอีก ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ต้องการทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ ทางด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการไปยังทุกหน่วยงานในกำกับให้เร่งหาวิธีการส่งเสริม ฝึกอาชีพและพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพให้แก่ชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รายได้ให้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาและผลกระทบดังกล่าว ดีพร้อม จึงได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอาชีพของคนในชุมชน โดยที่ผ่านมามีการดำเนินการไปแล้วในพื้นที่ ตำบลทับหมัน ตำบลวังสำโรง อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร รวมจำนวน 17 หมู่บ้าน ซึ่งในปี 2565 ดีพร้อม จะเน้นไปที่การดำเนินการผ่านกิจกรรมพัฒนาทักษะการผลิตผลิตภัณฑ์และการสร้างรายได้ให้ชุมชนตามแนวทางพระราชดำริผ่านโครงการฝึกอบรม เชิงปฏิบัติการ "DIPROM ยกระดับสินค้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก นำสู่รายได้คืนถิ่นชุมชน" โดยจะดำเนินการต่อเนื่องในจังหวัดพิจิตรเป็นจังหวัดที่ 2 เนื่องจากปัจจุบันจังหวัดพิจิตรมีคนตกงานและขาดรายได้ เพราะสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งอาชีพในพื้นที่คือการทำเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้ช่วงที่รอการเก็บเกี่ยวประชาชนต้องว่างงานขาดรายได้

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

2. กกร. ขอรัฐช่วยด่วน! ตรึงดีเซล-ลดภาษีประคองธุรกิจ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 12 พฤษภาคม 2565)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประจำเดือนพฤษภาคมว่า ด้วยเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้านโดยเฉพาะเงินเฟ้อและต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น แม้แนวโน้มการท่องเที่ยวจะดีขึ้น ที่ประชุม กกร.จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2565 มาอยู่ที่กรอบ 2.5% ถึง 4.0% จากกรอบเดิม 2.5-4.5% โดยยังคงคาดการณ์ส่งออกขยายตัว 3-5% แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานจึงปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อมาอยู่ที่ 3.5-5.5% จากเดิม 2-3% ทั้งนี้ หากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมากจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน นอกจากนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจที่ยังเปราะบาง อาทิ โรงแรม ค้าปลีกก็สะท้อนว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนมีผลกระทบมาก อาจจำเป็นต้องปรับราคาสินค้า ที่สำคัญการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำในระยะข้างหน้าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปสู่ระดับ 5% จึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและอยู่ในระดับที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินเฟ้อ และสถานการณ์ความขัดแย้งจากยูเครน-รัสเซีย กกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อช่วยประคับประคองภาคธุรกิจ รักษาความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะ SMEs และบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในช่วงไตรมาส 2-3 นี้ก่อนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้มากขึ้นในช่วงปลายปี โดย กกร. เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเป็น 2 ส่วนดังนี้ 1. มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตและสภาพคล่อง โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน35 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ขยายเวลาการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า เช่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ, เพิ่มโควตานำเข้า เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เช่น เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรการเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ และ 2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 5 ขยายจำนวนสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ รวมถึงธุรกิจสถานบันเทิง การลดภาระให้กับผู้ประกอบการ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ควรคิดเบี้ย ปรับเงินเพิ่มสำหรับคนที่ชำระภาษีล่าช้า รวมทั้งขอให้เปิดประเทศโดยสมบูรณ์ ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ต่างชาติ จัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว และการดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม เป็นต้น

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

 

3. ส่งออกอาหารไทยพุ่ง (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2565)

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อต่อเนื่อง ทำให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะคู่ค้านำเข้าจากทั่วโลกกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหารกลัวอาหารขาดแคลน จึงเร่งนำเข้าเพื่อสำรองอาหารต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก เห็นได้จากไตรมาสแรกปี 2565 (มกราคม - มีนาคม) ไทยส่งออกอาหารสูงถึง 324,415 ล้านบาท ขยายตัว 26% แบ่งเป็นสินค้าเกษตรอาหาร 137,707 ล้านบาท ขยายตัว 10% และสินค้าอุตสาหกรรมอาหาร 186,709 ล้านบาท ขยายตัว 40.5%

อย่างไรก็ตาม สำหรับสินค้าที่เติบโตสูง ได้แก่ 1. ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ 12,186 ล้านบาท ขยายตัว 242% 2. น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล 29,462 ล้านบาท ขยายตัว 195% 3. ธัญพืช 251 ล้านบาท ขยายตัว 114% ขณะที่ตลาดที่นำเข้าอาหารเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน 85,259 ล้านบาท ขยายตัว 33% ตามด้วยจีน 57,962 ล้านบาท ขยายตัว 7.8% และญี่ปุ่น 38,628 ล้านบาท ขยายตัว 15% สำหรับปี 2565 ตั้งเป้าที่จะผลักดันการส่งออกอาหารให้ได้มูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท เติบโตในอัตรา 5%ประสบการณ์ที่ตรงใจและดียิ่งขึ้นจากการเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดจากการเข้างานหรือใช้บริการในอดีตสิ่งเหล่านี้ เป็นเทรนด์ของอนาคตที่อุตสาหกรรมไมซ์ ต้องให้ความสำคัญและเร่งพัฒนาให้เกิดขึ้น

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ญี่ปุ่นยอมรับต้องใช้เวลาอีกนาน เพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานรัสเซีย (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 11 พฤษภาคม 2565)

นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ กล่าวถึงมติกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 แห่ง หรือ "จี 7" วาระพิเศษ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติยุติการใช้น้ำมันจากรัสเซีย "เป็นการถาวรภายในระยะเวลาที่เหมาะสม" เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน สำหรับประเทศที่ยังคงต้องใช้พลังงานจากการนำเข้าเป็นหลัก มาตรการดังกล่าวถือเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก ท่ามกลางช่วงเวลาลักษณะนี้ หนึ่งในนั้น คือ ญี่ปุ่น ซึ่งจะต้องดำเนินการ "อย่างค่อยเป็นค่อยไปและเป็นขั้นตอน" โดยตั้งอยู่บนหลักการ "อันเป็นพื้นฐานของความจริง" ทั้งนี้ ทางด้านรัฐบาลญี่ปุ่น และผู้สันทัดกรณีล้วนกล่าว ไปในทางเดียวกันว่า ยังเป็นเรื่องยาก ที่ญี่ปุ่นจะตัดขาดจากพลังงานของรัสเซียอย่างถาวร โดยญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย 33 ล้านบาร์เรล เมื่อปี 2564 คิดเป็น 4% ของน้ำมันทั้งหมดที่ญี่ปุ่นนำเข้าจากต่างประเทศ อยู่ในอันดับ  ที่ 5 เช่นเดียวกับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)

อย่างไรก็ตาม ขณะที่นับตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ไม่มีเรือบรรทุกน้ำมันของรัสเซีย จอดเทียบท่าเรือในญี่ปุ่นแม้แต่ลำเดียว และปริมาณการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียโดยญี่ปุ่น ตลอดช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านบาร์เรล ลดลง 33% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ญี่ปุ่นจะยุติการพึ่งพิงถ่านหินจากรัสเซียเช่นกัน แต่ยังไม่มีมาตรการออกมาอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก และจะยังคงร่วมลงทุนในโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ "ซาคาลิน-2" ต่อไปด้วย

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)