ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 เดือนพฤษภาคม 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ก.อุตฯ เปิดแผนเร่งเครื่อง BCG Model ปฏิรูปอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เติบโตยั่งยืน (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมไทยมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้ยังได้จัดทำ แผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) เพื่อการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนและพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม (Ecosystem) เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ช่วยส่งเสริมการประกอบกิจการอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บูรณาการการดำเนินงานหน่วยงานภายในเละภายนอกกระทรวงเพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย ซึ่งนับเป็นแนวทางการทำงานและพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์โลก ในปัจจุบันเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โดยมีกรอบแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับแผนการพัฒนาประเทศและภาคอุตสาหกรรม เป็นไปตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนความมั่นคงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG5) แห่งสหประชาชาติ และนโยบายระดับกระทรวง เพื่อก่อให้เกิดการเชื่อมโยงในทิศทางเดียวกันอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนของแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ของกระทรวงฯ ยังคงมุ่งเน้นไปที่การยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมสอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของประเทศ โดยเน้นไปที่งานวิจัย การต่อยอดงานวิจัย และการประยุกต์ใช้ทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมใหม่ ด้วยการสนับสนุนสร้างโอกาส และลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนด้วย BCG Model ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับภาคอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นการดำเนินกิจการที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาองค์กรสู่องค์กรดิจิทัล เพื่อให้การบริการอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการพัฒนาระบบและความสามารถของบุคลากรในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการและประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล และสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

 

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

 

2. ป้องกันเกิดเหตุซ้ำหมิงตี้ (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2565)

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 มีสารเคมีกว่า 20 ตัน ระเบิดรั่วไหลออกมา ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงงาน ทั้งความเสียหายทางทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้จัดทำประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานตามบัญชีแนบท้ายประกาศฯ และผู้ประกอบกิจการโรงงานนอกเหนือจากบัญชีแนบท้ายประกาศฯ ต้องรายงานข้อมูลสารเคมีอันตราย  ที่มีการเก็บ หรือการใช้ในการประกอบกิจการโรงงาน ในปริมาณตั้งแต่ 1 ตัน/ปี ต่อสารเคมีอันตรายหนึ่งชนิดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ กรอ. โดยประกาศดังกล่าวได้ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ตุลาคม 2565 ส่งผลให้โรงงาน 24 ประเภทตามบัญชีแนบท้ายประกาศ ที่เก็บหรือใช้สารเคมีอันตราย เช่น โรงงานปิโตรเคมี โรงงานผลิตยางเรซินสังเคราะห์ โรงงานฟอกย้อม ต้องรายงานการเก็บหรือการใช้สารเคมีอันตรายของปี 2565 ภายในวันที่ 20 เมษายน 2566 และรายงานการเก็บหรือใช้สารเคมีอันตรายตั้งแต่ปี2566 ภายในวันที่ 1 มีนาคมของ ปีถัดไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ประกาศฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ กรอ. จะได้จัดการฝึกอบรม "ระบบข้อมูลเพื่อการจัดการความปลอดภัยด้านสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม" ผ่านช่องทางออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน และบุคลากรด้านความปลอดภัยของโรงงาน โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการรายงานข้อมูลสารเคมีอันตรายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรอ. ซึ่งระบบรายงานข้อมูลดังกล่าวได้มีการพัฒนาและเริ่มเปิดให้ใช้งานไปแล้วเมื่อต้นปี 2565 สำหรับข้อมูลสารเคมีที่รายงานเข้ามาในระบบข้อมูลเพื่อการจัดการความปลอดภัยด้านสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม จะถูกเชื่อมโยงไปยังระบบการรายงานด้านสารเคมีอื่นๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการรายงานข้อมูล และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น อาทิ ระบบแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานรายปี ระบบรายงานความปลอดภัยการเก็บรักษาวัตถุอันตรายประจำปี ระบบการรับรองตนเองของผู้ประกอบกิจการโรงงาน

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ส.อ.ท.กับแผนรับมือ 5 คลื่นความท้าทาย มั่นใจภาคการผลิตไปต่อขับเคลื่อนศก. (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2565)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ "เศรษฐกิจไทยยุคใหม่ประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างไร" ในงาน Better Thailand Open Dialoque เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า ว่า ความท้าทายในภาค อุตสาหกรรมมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ ส.อ.ท. ยังคงเชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันจะทำให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและดีกว่าที่ผ่านๆมาได้อย่างแน่นอน โดย ส.อ.ท. ได้วางแนวทางที่จะขับเคลื่อนสมาชิก 45 กลุ่มอตสาหกรรมและ 11 คลัสเตอร์ ในการรับมือกับความท้าทายใหญ่ 5 ด้าน ได้แก่ 1. การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ไปสู่ยุคดิจิทัลหรือ Digital Disruption ซึ่งทุกภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนผ่านเพื่อก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้ได้ แม้ว่าจะไม่ง่ายนัก 2. สงครามการค้า (เทรดวอร์) นับเป็นความท้าทายต่อมาที่เวลานั้นสหรัฐฯ และจีนเกิดขัดแย้งมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกัน ส่งผลกระทบไทยในฐานะผู้ส่งออกและทั้ง 2 ตลาดล้วนเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ทำให้ภาคการผลิตได้รับผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ แต่ที่สำคัญคือทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนจากจีน 3. ความท้าทายต่อมา คือ การระบาดของโรคโควิด-19 ทุกอย่างแทบจะหยุดกันหมด ส.อ.ท. จึงมุ่งเน้นให้ภาคการผลิตทำ Business Continuity Plan หรือ BCP ในการรับมือเพื่อไม่ให้กระบวนการผลิตหยุดชะงัก 4. สงครามยูเครน-รัสเซีย นับเป็นความท้าทายที่เรากำลังเผชิญกับภาวะราคาน้ำมันแพง วัตถุดิบต่างๆ ราคาปรับขึ้น แต่วิกฤตก็มีโอกาสอีกหลายอุตสาหกรรมก็เป็นดาวรุ่ง เช่น อาหาร แม้ต้นทุนรวมจะสูงแต่กระแสโลกขาดแคลนอาหารทำให้เป็นโอกาสของไทย และ 5. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ซึ่งนับเป็นความท้าทายกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการส่งออกที่ต้องเร่งปรับกระบวนการผลิตไปสู่ Green Energy เพื่อรับกติกาการค้าใหม่โดยเฉพาะจากฝั่งสหภาพยุโรปว่าด้วยมาตรการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (CBAM)

อย่างไรก็ตาม ไทยวางเป้าหมาย Net Zero ปี พ.ศ. 2608 เป็นอะไรที่ท้าทายแต่ด้วยศักยภาพพลังงานหมุนเวียนของไทยหากร่วมมือกันก็จะก้าวไปได้ และเชื่อว่าข้างหน้ายังมีอะไรท้าทายอีกเราต้องตื่นตัวตลอดเวลาในการรับมือ สมาชิกเราส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีเราเองก็พยายามผลักดันไปสู่สมาร์ทเอสเอ็มอี มุ่งเน้น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และBCG โมเดล เหล่านี้เราจึงเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้น

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. เฮญี่ปุ่นจ่อรับทัวร์กลุ่มย่อย-ไทยด้วย (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2565)

การท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น เปิดเผยว่า จะเริ่มอนุญาตให้นักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กเดินทางเข้าประเทศได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ โดยนักท่องเที่ยวที่ได้รับอนุญาตจากสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และไทยต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างน้อยเข็มที่ 3 และจะมีการควบคุมแผนการท่องเที่ยวอย่างเข้มงวดด้วย นับเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง หลังห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศในช่วงที่โควิด-19 เริ่มระบาดตั้งแต่ปี 2563

อย่างไรก็ตาม ตามมาตรการนี้นักท่องเที่ยวรายบุคคลยังคงถูกห้าม แม้มีเสียงเรียกร้องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งหวังว่าจะฟื้นฟูอุตสาหกรรมดังกล่าวโดยใช้ข้อได้เปรียบจากเงินเยนที่อ่อนค่าลง ขณะที่นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเยือนประเทศอังกฤษเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ว่า จะประกาศใช้มาตรการควบคุมพรมแดนที่สอดคล้องกับชาติร่ำรวยอื่นๆ ในเดือนมิถุนายน 2565 นี้

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)