ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 เดือนพฤษภาคม 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'ดีพร้อม' ปลุก ศก. ภูมิภาคผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์สร้างรายได้ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนไปจนถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว แต่ ด้วยนโยบายทางด้านสาธารณสุขของรัฐบาล โดยการนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีมาตรการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวอย่างเข้มข้น ส่งผลให้สถานการณ์การแพร่ระบาดลดลงต่อเนื่อง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ปกติและเกิดการฟื้นตัวด้านเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงในระดับภูมิภาคที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ระดับ 63.6 สอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุว่าเศรษฐกิจ               ในพื้นที่ภาคเหนือ ในไตรมาส 2 มีแนวโน้มเติบโตขึ้น ส่วนหนึ่งอันเนื่องมาจากการท่องเที่ยวของชาวต่างประเทศที่ทยอยเดินทางมาอย่างต่อเนื่องและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการท่องเที่ยวและบริการที่เริ่มขยายธุรกิจ รองรับแนวโน้มการเติบโตในอนาคต เช่นเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดลำปางที่มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่สอดคล้องกับการบริโภคเพิ่มขึ้นของประชาชนที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เล็งเห็นโอกาสสำคัญที่จะฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งเชิงพื้นที่และภูมิภาคให้คึกคักขึ้นกว่าเดิม ได้สั่งการให้ดีพร้อม (DIPROM) หรือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งเดินหน้าผลักดันศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อตอกย้ำศักยภาพของภูมิภาคและยกระดับความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กล่าวว่า ดีพร้อมขานรับนโยบายการขับเคลื่อนและส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วยการพัฒนาศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือของดีพร้อม ที่เรียกว่า DIPROM Meeting Industrial Conference and Exhibition Center หรือ ดีพร้อมไมซ์เซ็นเตอร์ (DIPROM MICE CENTER) ณ จังหวัดลำปาง เพื่อรองรับการจัดประชุมนิทรรศการ หรือ อุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ให้เป็นพื้นที่จัดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าชุมชน และสินค้าของเอสเอ็มอี รวมถึงเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั่วประเทศไทย อาทิ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจบริการต่างๆ ให้มียอดการเข้าพักและใช้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับการเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งในพื้นที่จังหวัดลำปาง กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ และในระดับประเทศ

 

นางวรวรรณ ชิตอรุณ

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

2. อุตฯ จับมือดีแทคลงพื้นที่จ. สุโขทัยติวเข้มคนชุมชนขายของออนไลน์ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2565)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มีการนำคณะลงพื้นที่ขับเคลื่อนยกระดับขีดความสามารถหมู่บ้านอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์บ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย (Creative Industry Village : CIV) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้าไปยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การตลาด สร้างแบรนด์ของชุมชน รวมทั้งเชื่อมโยงการท่องเที่ยว มีผู้ประกอบการชุมชนได้รับใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ประเภทผ้าทอและกระเป๋าผ้า อาทิ ผ้าหมักโคลน ตุ๊กตาบาร์โหน ข้าวเปิ๊บ โฮมสเตย์ เป็นต้น โดยจุดเยี่ยมชมจุดแรก คือ การทำตะเกียบไม้ไผ่ ชุมชนบ้านนาต้นจั่น มีไม้ไผ่จำนวนมาก จึงนำวัตถุดิบในท้องถิ่น คือไม้ไผ่ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มาแปรรูปเป็นตะเกียบเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยใช้เครื่องมือเครื่องจักรมาช่วยในการผลิต ผลิตส่งโรงงานเพื่อให้โรงงานนำไปอบต่อจุดที่ 2 ชมการทอผ้าใต้ถุนบ้าน เป็นวิถีชีวิตที่มีการทอผ้าใต้ถุนบ้านตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยทอจากผ้าฝ้ายและนำมาหมักโคลน เพื่อให้มีความนุ่มประกอบกับลวดลายการทอยกดอก ของผ้าซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะและมีการ ใช้สีจากธรรมชาติมาใช้ย้อมผ้า เช่น แก่นขนุน เปลือกมังคุด ลูกมะเกลือ ฯลฯ และจุดที่ 3 ชมการทำตุ๊กตาบาร์โหนบ้านตาวงศ์ ตาวงศ์ เป็นผู้ริเริ่มทำตุ๊กตาบาร์โหนจากไม้ ซึ่งสามารถนำมาบริหารนิ้วมือหรือนวดเพื่อสุขภาพที่ดี เป็นการนำเศษไม้ที่มีในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลงพื้นที่บ้านนาต้นจั่น กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมกับ "ดีแทค เน็ตทำกิน" ไปพัฒนาทักษะทางดิจิทัลให้ชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพการทำการตลาดออนไลน์ การทำคอนเทนต์เพื่อเล่าเรื่องของชุมชน ซึ่งนอกจากจะเป็นส่งเสริมการท่องเที่ยว ในชุมชนให้เกิดขึ้นแล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มช่องทางการจำหน่าย เพิ่มรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันคาดว่าการนำระบบดิจิทัลมาผสานกับวิถีชีวิตดั้งเดิมจะช่วยดึงจุดเด่นของชุมชนออกมาและเป็นจุดขาย อีกทั้งทำให้คนรุ่นใหม่มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น และเห็นคุณค่าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในชุมชน สร้างอาชีพและรายได้ให้เพิ่มขึ้น

 

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อท.)

3. ส่งออกอาหารไทยได้อานิสงส์ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2565)

 นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อท.) เปิดเผยถึงกรณีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศเตือนเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงความวุ่นวาย หลังจาก 30 ประเทศทั่วโลกจำกัดการส่งออกอาหาร หลังจากได้รับผลกระทบความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน มองว่า เป็นโอกาส ที่ดีในการขยายตลาดการส่งออกกลุ่มสินค้าอาหารของไทย โดยเฉพาะข้าว ที่นำมาทดแทนข้าวสาลี ที่อินเดียระงับการส่งออก, สินค้าไก่ หลังจากมาเลเซีย งดการส่งออก ทำให้ไทยขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น จากที่ผ่านมาไม่สามารถทำตลาดได้ง่ายๆ เช่น ยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชีย นอกจากนี้ยังมีสินค้ากลุ่มน้ำตาล ที่รัสเซียระงับการส่งออก หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกน้ำตาลลดลง ต่อไปเชื่อว่าจะส่งออกได้มากขึ้น เนื่องจากน้ำตาลสามารถไปผลิตได้ทั้งกลุ่มอาหาร และนำไปผลิตแอลกอฮอล์ได้ เป็นผลจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับสูงขึ้น รวมถึงมันสำปะหลัง สามารถนำไปผสมอาหารสัตว์ และอาหารมนุษย์ได้ ขณะเดียวกันต้องการให้รัฐปลดล็อกกำแพงภาษีชั่วคราว ในการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่จำเป็น เพื่อนำมาแปรรูปในประเทศ ก่อนที่จะส่งออกไปอีกครั้ง เช่น ถั่วเหลือง อาหารทะเล เมล็ดกาแฟ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ เป็นสินค้าที่ไทยผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ฉะนั้นจึงไม่กระทบต่อสินค้าในประเทศ แต่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอาหารของไทย และต้องการให้จัดหาปุ๋ยราคาถูกให้กับเกษตรกร รวมถึงจัดหาพื้นที่เพาะปลูก และเมล็ดพันธุ์เพาะปลูก เพื่อให้ต้นทุนการเพาะปลูกปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% หากเป็นไปตามคาดจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ของการส่งออกอาหาร เนื่องจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจหลังจากประชากรโลกได้รับวัคซีนโควิด-19 ครอบคลุมมากขึ้น ความอันตรายของโรคลดต่ำลง โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเพิ่มขึ้น 4% ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องทั้งร้านอาหารและโรงแรมค่อยๆ ฟื้นตัวหลังความกังวลโควิด-19 เริ่มลดลง ประเทศต่างๆ มีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น รวมทั้งปัจจัยจากเงินบาทอ่อนค่า คาดการณ์ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลดีความสามารถการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะอาหารเป็นสินค้าที่พึ่งพิงปัจจัยการผลิตในประเทศเป็นหลักจะได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว คาดว่า ราคาอาหารโลกจะอยู่ที่ 3.5% แต่ถ้าไทยปลดล็อกการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ นำมาแปรรูป เพื่อส่งออกได้ อาจทำให้ส่งออกอาหารไทยขยายตัวได้มากกว่า 10%

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. มาเลเซียจ่อระงับส่งออกเนื้อไก่ เพื่อลดค่าครองชีพภายในท้องถิ่น (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2565)

อิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ เปิดเผยว่า ได้มีการประกาศการระงับส่งออกเนื้อไก่ของมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่เดือนละ 3.6 ล้านตัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ จนกว่าสถานการณ์การผลิตและราคาค้าปลีกภายใน ประเทศจะทรงตัว โดยอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนมากจนเกินไป ซึ่งในปัจจุบัน รัฐบาลมาเลเซียตรึงราคาขายปลีกเนื้อไก่สด ห้ามเกินกิโลกรัมละ 8.90 ริงกิต (ราว 69.22 บาท) และประกันราคาไก่ในราคา 60 เซนต่อกิโลกรัม (ราว 4.67 บาท) ระหว่างวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 จนถึง 4 มิถุนายน 2565 นี้ โดยจนถึงตอนนี้ รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่เกษตรกรไปเพียง 50 ล้านริงกิตเท่านั้น (ราว 388.85 ล้านบาท) ทั้งนี้ ข้อมูลของกระทรวงเกษตรมาเลเซียระบุว่า สถิติการส่งออกเนื้อไก่และเนื้อเป็ดของประเทศ มีปริมาณรวมกัน 42.3 ล้านตัน และการส่งออกไก่เป็นมากกว่า 49 ล้านตัว เมื่อปี 2563 โดยมีสิงคโปร์เป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่

อย่างไรก็ตาม สำหรับความเคลื่อนไหวดังกล่าวของมาเลเซีย เกิดขึ้นหลังอินโดนีเซียกลับมาส่งออกน้ำมันปาล์มทุกประเภทอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 หลังบังคับใช้มาตรการดังกล่าวนานประมาณ 3 สัปดาห์ หรือตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อรักษาเสถียรภาพของห่วงโซอุปทานภายในประเทศ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามในยูเครน แม้ราคาน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซียยังลดลงไม่ถึงเป้าหมาย แต่รัฐบาลยืนยันว่า สามารถสำรองน้ำมันปาล์มได้มากขึ้นแล้ว

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)