ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 5 ของเดือน พฤษภาคม 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ศก.ฟื้น-ออเดอร์เพิ่มหนุนดัชนีอุตฯ ขยายตัวต่อเนื่อง (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 31 พฤษภาคม 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ 91.79 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.56% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวลดลง 16.51% จากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนเมษายนนี้เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ส่งผลให้ MPI ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 อยู่ที่ 101.97 ขยายตัว 1.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัว 100.59 ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต 4 เดือนแรกอยู่ที่ 64.63 หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลงจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ตามลำดับ ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัว ดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมทางการเกษตร ทั้งนี้ ทางด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศมีแนวโน้มคลี่คลายส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวม ทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) เดือนเมษายน ขยายตัว 4.98% ขณะที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงโดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ขณะที่เงินเฟ้อเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือนเมษายนขยายตัวที่ 11.4% เร่งตัวขึ้นจากเดือนมีนาคมขยายตัวที่ 10.4%

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดย สศอ. ได้ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) ในการคำนวณ สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะขยายตัว ใน 1-2 เดือนข้างหน้า อุปสงค์ในประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ทำให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ปัจจัยต่างประเทศยังคงส่งสัญญาณปกติ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ยังเติบโตได้

 

นางวรวรรณ ชิตอรุณ

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

2. 'ก.อุตฯ-ดีแทค' ติวเข้มดิจิทัล ชี้ช่องคนระยองขายของออนไลน์ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2565)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณาตำบลกะเฉด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง และต้นแบบหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ณ ชุมชนประแส จังหวัดระยอง รวมทั้งเพื่อสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการทำตลาดออนไลน์ โดยในเดือนมิถุนายน 2565 นี้ ทีมของกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ในฐานะผู้ดำเนินโครงการ "ดีแทคเน็ตทำกิน" จะลงพื้นที่ชุมชนอีกครั้งเพื่อเตรียมกระตุ้นการท่องเที่ยวและการบริโภคเศรษฐกิจระดับชุมชน โดยการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ในพื้นที่ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการและการตลาดรองรับการท่องเที่ยวระดับชุมชนงานฟื้นฟูการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและการเข้าสู่ยุค New Normal ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)

อย่างไรก็ตาม สำหรับความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและดีแทคจะช่วยเสริมศักยภาพการทำการตลาด โดยเฉพาะการทำตลาดออนไลน์ การทำคอนเทนต์เพื่อเล่าเรื่องของชุมชน ซึ่งนอกจากส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนให้เกิดขึ้นแล้ว ยังเพิ่มช่องทางการจำหน่าย เพิ่มรายได้ชุมชน โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นรายได้จากการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ รายได้จากการขายของที่ระลึก การท่องเที่ยว เป็นต้น ขณะเดียวกัน คาดว่าการนำระบบดิจิทัลมาผสานกับวิถีชีวิตดั้งเดิมจะช่วยดึงจุดเด่นของชุมชนออกมาเป็นจุดขาย ทำให้คนรุ่นใหม่มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น และเห็นคุณค่าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในชุมชน สร้างอาชีพและรายได้ให้เพิ่มขึ้น ตอบโจทย์นโยบายรัฐด้านการแก้ปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำได้อีกด้วย

 

นายสนั่น อังอุบลกุล

ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

3. กกร. เคาะศก.โต 2.5-4% ท่องเที่ยว-ส่งออกตัวช่วยหลัก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2565)

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนมิถุนายน 2565 ว่า แม้เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง รวมทั้งต้นทุนและเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นแต่การท่องเที่ยวและการส่งออกที่ยังขยายตัวจะเป็นแรงส่งเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี โดยที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยหรือจีดีพีปี 2565 ในกรอบเดิมที่ 2.5% ถึง 4.0% รวมทั้งคงประมาณการการส่งออกที่ 3.0% ถึง 5.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในกรอบ 3.5% ถึง 5.5% สำหรับภาคการส่งออกไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง เพราะได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ความกังวลเกี่ยวกับอาหารขาดแคลนราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง การขาดแคลนสินค้าสำคัญในซัพพลายเชนภาคอุตสาหกรรม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของหลายธนาคารกลาง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่จีดีพีอาจจะขยายตัวเพียง 4.5% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ 5.5% ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงและอาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี

อย่างไรก็ตาม สำหรับด้านการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แม้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจะฉุดรั้งกำลังซื้อและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศแต่เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจะได้รับแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น การเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นซึ่งคาดว่าเป้าหมายนักท่องเที่ยวปีนี้ที่ตั้งไว้ 6-8 ล้านคน น่าจะเป็นไปได้ นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางในประเทศมีสัญญาณที่ดีโดยขณะนี้ฟื้นตัวถึงระดับ 80% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 ดีกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 70% และในระยะข้างหน้ายังได้อานิสงส์จากการขยายสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันเพิ่มเติม

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. เซี่ยงไฮ้ออกมาตรการหนุนเศรษฐกิจ-ช่วยภาคธุรกิจฟื้นตัวจากผลกระทบล็อกดาวน์ (ที่มา: อินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2565)

เทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ เปิดเผยแถลงการณ์ว่า จะมีการประกาศมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วย การลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์, อนุญาตให้ผู้ผลิตทุกรายสามารถกลับมาดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ เป็นต้นไป, เร่งอนุมัติโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์และสนับสนุนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โครงการใหม่ๆ, เพิ่มโควตาการซื้อรถยนต์, ลดหย่อนภาษีการซื้อรถยนต์ และอุดหนุนผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า, สนับสนุนการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรมรถไฟ, ท่าเรือ, สนามบิน และพลังงาน และสนับสนุนบริษัทต่างชาติให้เขามาตั้งสำนักงานใหญ่และศูนย์วิจัยในเซี่ยงไฮ้

อย่างไรก็ตาม สำหรับมาตรการสนับสนุนเหล่านี้จะมีผลบังคับใช้จนถึงสิ้นปี 2565 โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นการอุปโภคบริโภค, ลดภาระของภาคเอกชน และฟื้นฟูเศรษฐกิจในเซี่ยงไฮ้ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากมาตรการล็อกดาวน์ นอกจากนี้ เซี่ยงไฮ้จะผ่อนปรนข้อกำหนดการตรวจเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง หลังจากที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดเป็นเวลานานถึง 2 เดือน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)