ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 1 ของเดือน มิถุนายน 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

 

1. ยกเว้นค่าธรรมเนียมโรงงาน ช่วยฟื้นฟูกิจการหลังโควิด-19 คลี่คลาย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 8 มิถุนายน 2565)

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบกิจการโรงงานได้รับผลกระทบ ทั้งทางเศรษฐกิจและการเงิน เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เป็นช่วงที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจะได้ฟื้นฟูกิจการ จึงสั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ยกเว้นค่าธรรมเนียมโรงงานจำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 ทุกขนาดอีก 1 ปี ต่อเนื่องจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบการโรงงานในปี 2564 ที่จะสิ้นสุดการยกเว้นค่าธรรมเนียมฯ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยการยกเว้นค่าธรรมเนียมในครั้งนี้เป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมครั้งที่ 3 ต่อเนื่องจากปี 2563 และ 2564 ซึ่งการยกเว้นค่าธรรมเนียมให้แก่เจ้าของกิจการโรงงาน เป็นหนึ่งในมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานในการฟื้นฟูกิจการ ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย เพื่อให้กิจการพลิกฟื้นก้าวเดินต่อได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า กรอ. ได้เร่งดำเนินการตามข้อสั่งการ โดยได้เสนอร่างกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน จำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 ทุกขนาด ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงานจะต้องนำเสนอหลักการและร่างกฎกระทรวงฯ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบก่อน จึงจะออกกฎกระทรวงและนำประกาศในราชกิจจานุเบกษา ผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2565 - 9 มิถุนายน 2566 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 ที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี รวม 60,344 โรงงาน รวมเป็นเงิน 280,405,800 บาท

 

นายบรรจง สุกรีฑา

เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

 

 

2. สมอ.คุมเข้มมาตรฐานของเล่นกำชับผู้ผลิตและนำเข้ายื่นขอมอก. (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2565)

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สมอ. ควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนจำนวน 136 รายการ ต้องได้มาตรฐาน "ของเล่น" เป็นหนึ่งในสินค้าที่ สมอ. ควบคุม โดยปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันสมัยสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล และเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน ล่าสุดได้ปรับแก้ไขมาตรฐานของเล่น มอก.685-2562 โดยอ้างอิงตามมาตรฐานสากล ISO 8124-1 : 2018 สาระสำคัญของมาตรฐานที่แตกต่างไปจากฉบับเดิม ได้แก่ การควบคุมปริมาณโลหะหนักที่เข้มข้นมากขึ้นสำหรับของเล่น "ฟิงเกอร์เพนต์" ที่เด็กใช้นิ้วมือสัมผัสสีเพื่อระบาย เช่น พลวง สารหนู แบเรียม แคดเมียม โครเมียม ตะกั่ว ปรอท และเซเลเนียม รวมทั้งเพิ่มการตรวจสอบสารกลุ่มทาเลตซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในกระบวนการผลิตพลาสติก ยาง และสารเคลือบต้องไม่เกิน 0.1 เปอร์เซ็นต์โดยมวล เพื่อให้ของเล่นเป็นสินค้าที่มีความปลอดภัยต่อเด็ก นอกจากนี้ ยังเพิ่มรายการวัสดุที่ห้ามใช้ผลิตของเล่น จากมาตรฐานฉบับเดิมมี 6 รายการ เพิ่มเป็น 9 รายการ ได้แก่ 1. ห้ามใช้วัสดุที่มีการขยายตัวเพิ่มขนาดผิดปกติเมื่อสัมผัสกับน้ำ 2. ห้ามใช้เซลลูลอยด์หรือวัสดุอื่นที่มีสมบัติการติดไฟเหมือนเซลลูลอยด์ ยกเว้นที่เป็นส่วนผสมในสี กาว วาร์นิช ลูกเทเบิลเทนนิส หรือลูกบอล ที่ใช้สำหรับเล่นกีฬา 3. ห้ามใช้วัสดุที่ผิวหน้า วาบไฟได้เมื่อใกล้เปลวไฟ 4. ห้ามใช้ของแข็งไวไฟ 5. ห้ามใช้ก๊าซหรือเจลที่ติดไฟได้ และของเหลวไวไฟ 6. ห้ามใช้สารที่เกิดความร้อนหรือติดไฟได้เองที่อุณหภูมิห้อง 7. ห้ามใช้สารที่เกิดก๊าซที่ติดไฟได้ เมื่อสัมผัสน้ำหรือความชื้นในอากาศ เช่น แคลเซียมคาร์ไบด์ 8. ห้ามใช้แก้ว เฉพาะกรณีของเล่นสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และ 9. ห้ามใช้น้ำยาหรือสารเคมีใช้อาบหรืออัดเพื่อรักษาเนื้อไม้ ที่เป็นพิษหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม สมอ. ได้แจ้งผู้ประกอบการทั้งทำและนำเข้าของเล่น ที่ได้รับใบอนุญาต 1,493 ราย ให้มายื่นขออนุญาตตาม มอก. ฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กันยายน 2565 เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องและไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย ผู้ที่ฝ่าฝืนทำหรือนำเข้าสินค้าควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ จำหน่ายสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ แสดงเครื่องหมายมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

 

3. ส.อ.ท.เผยความเชื่อมั่นอุตฯ พ.ค.ทรุดต่อ (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2565)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 84.3 ลดลงจากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 86.2 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังคงยืดเยื้อและทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาวัตถุดิบต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อผู้ประกอบการภาคการผลิตโดยเฉพาะเอสเอ็มอีขณะอุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวช้าจากปัญหาเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากผลกระทบความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งการปิดเมืองของจีนส่งผลให้เกิดปัญหาอุปทานขาดแคลน โดยเฉพาะการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย โดยสมาชิกส.อ.ท. มีข้อเสนอต่อภาครัฐ ได้แก่ 1. เสนอให้ภาครัฐช่วยเจรจาหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่มีศักยภาพมาทดแทน โดยเฉพาะปุ๋ย อาหารสัตว์ สารเคมี หรือให้ภาครัฐใช้วิธีทางการทูตเจรจาซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าโดยตรงจากรัสเซีย เช่น ปุ๋ย เช่นเดียวกับประเทศอื่นที่หาวิธีช่วยเหลือคนในประเทศตัวเองก่อน ช่วยบรรเทาผลกระทบที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ 2. ออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เช่น เงินอุดหนุนรักษาการจ้างงาน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ 3. เสนอภาครัฐเปิดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ และออกมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี 2565 และ 4. ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 96.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนคาดอยู่ที่ระดับ 95.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ การปลดล็อกมาตรการควบคุมโควิด-19 การยกเลิกระบบเทสต์แอนด์โก รวมถึงการที่ภาครัฐจะพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังมีความไม่แน่นอนอาจเป็นปัจจัยที่บั่นทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. 'เวิลด์แบงก์' ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 9 มิถุนายน 2565)

ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ เปิดเผยว่า ได้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตที่ร้อยละ 2.9 ลดลงร้อยละ 1.2 จากที่เคยประมาณการเอาไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และคาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซน จะขยายตัวลดลงร้อยละ 1.7 ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐและขยายตัวลดลงร้อยละ 1.2 แต่ทั้งสองภูมิภาคเศรษฐกิจจะเติบโตเท่ากันที่ร้อยละ 2.5 สำหรับเศรษฐกิจจีนคาดว่าในปีนี้จะหดตัวลงร้อยละ 0.8 จากที่เคยคาดเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 4.3 ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 ลดลงจากที่เคยคาดเอาไว้ร้อยละ 1.2 ซึ่ง การปรับลดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดังกล่าวมีปัจจัยมาจากปัญหาราคาพลังงานและธัญพืชที่ปรับตัวสูงขึ้นมากหลังจากที่รัสเซียส่งทหารเข้ารุกรานยูเครนอีกทั้งประเทศชั้นนำด้านเศรษฐกิจยังมีนโยบายเข้มงวดทางการเงินเพื่อจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้พุ่งสูงเกินไปนอกจากนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจรัสเซียว่าในปีนี้จะติดลบร้อยละ 8.9 ในขณะที่เศรษฐกิจของยูเครนจะติดลบมากถึงร้อยละ 45.1

อย่างไรก็ตาม ทางด้านเดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะสแตกเฟลชั่น (stagflation) ที่การเติบโตหยุดชะงักแต่เงินเฟ้อสูง คล้ายกับช่วงคริสต์ทศวรรษหลังปี 1970 และปัจจัยทั้งจากสงครามยูเครน การล็อกดาวน์เพื่อต่อสู้กับโควิด-19 ในจีน ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ต้องสะดุดลง รวมทั้งความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ ล้วนส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ขณะที่หลายประเทศอาจจะประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง นอกจากนี้ ยังแสดงความกังวลต่อปัญหาการขาดแคลนอาหารและความยากจนที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ประธานธนาคารโลกย้ำว่า จำเป็นต้องเพิ่มการผลิตเพื่อแก้ปัญหาราคาสินค้าโดยเฉพาะพลังงานปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติและปุ๋ยในขณะนี้กำลังกระทบการผลิตอาหาร ขณะเดียวกันต้องหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการจำกัดการส่งออกและอุดหนุนราคาที่จะทำให้ราคาสินค้ายิ่งสูงขึ้นไปอีกและทำให้ตลาดบิดเบือน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)