ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน มิถุนายน 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

 

1. "สุริยะ" คลอดกม. บังคับ 600 กว่าโรงงาน ติดตั้งระบบ CEMS คุมมลพิษมีผลมิ.ย.66 (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดให้โรงงานต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ เพื่อรายงานมลพิษอากาศจากปล่องโรงงาน พ.ศ. 2565 ให้โรงงานขนาดใหญ่ 13 ประเภทที่ระบายมลพิษจากปล่องกว่า 600 โรงงานทั่วประเทศ ต้องติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (Continuous Emission Monitoring Systems : CEMS) และเชื่อมโยงข้อมูลไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เพื่อควบคุมเฝ้าระวังการระบายมลพิษอากาศจากปล่องแบบ Real time ตลอด 24 ชั่วโมง มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป โดยโรงงานเก่าต้องติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ส่วนโรงงานที่ขออนุญาตใหม่ต้องติดตั้ง CEMS ให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มประกอบกิจการโรงงาน ทั้งนี้ นอกจากเจ้าหน้าที่จะสามารถดูค่าการระบายมลพิษได้ตลอด 24 ชั่วโมงแล้วยังเปิดให้ประชาชนเข้าดูค่าการระบายมลพิษจากปล่องผ่านแอปพลิเคชัน POMS เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจของภาคอุตสาหกรรมที่จะไม่ระบายมลพิษเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด และพร้อมให้ภาคประชาชนตรวจสอบ โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน POMS ได้ทั้งระบบ ไอโอเอส และแอนดรอยด์

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ. ได้ดำเนินการปรับปรุงประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้วเสร็จ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา 10 มิถุนายน 2565 แล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 365 วันนับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือวันที่ 10 มิถุนายน 2566 เป็นการขยายพื้นที่บังคับใช้ให้โรงงานติดตั้ง CEMS เพื่อรายงานมลพิษอากาศจากปล่องระบายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จากเดิมบังคับใช้ในจังหวัดระยองแห่งเดียว รวมทั้งปรับปรุงประเภทโรงงาน และชนิดของมลพิษที่ต้องตรวจวัด เพื่อควบคุมกำกับดูแลการระบายมลพิษอากาศในกลุ่มโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีการระบายมลพิษสูงหรือกระบวนการผลิตสุ่มเสี่ยงจะมีการระบายสารมลพิษ

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

2. สอท.-กนอ.ชูมาตรฐาน รง.เชิงนิเวศแก้ของเสีย (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 15 มิถุนายน 2565)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ประกาศส่งเสริมมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย เพื่อขยายผลจากมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มีผู้ประกอบการด้านการจัดการกากอุตสาหกรรมในประเทศไทยเข้าร่วมเพื่อขอรับรองมาตรฐานอีโค แฟคเทอรี่ ฟอร์ เวสต์ โพรเซสเซอร์ หรือมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการ  ของเสีย

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ. จะดำเนินการส่งเสริมให้ เวสต์ โพรเซสเซอร์ (การสูญเปล่าจากการกระบวนการผลิต) ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 74 แห่ง ได้รับรองมาตรฐานนี้ครบ 100% ภายในปี 2568 รวมทั้งส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ เลือกใช้บริการบำบัดและกำจัดของเสียจากผู้ประกอบการจัดการของเสียที่ได้รับรองมาตรฐาน และที่สำคัญคือการผลักดันสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับเวสต์ โพรเซสเซอร์ ที่ได้รับรองมาตรฐานนี้ ทางด้านนายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช รองประธาน ส.อ.ท. งานสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า ส.อ.ท. และ กนอ. ร่วมมือให้การรับรองมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตั้งแต่ปี 2560 โดยผู้ประกอบการจะต้องต่ออายุมาตรฐานดังกล่าวทุก 3 ปี พร้อมกันนี้ได้พัฒนามาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับผู้ประกอบการจัดการของเสีย

 

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล

ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์

 

3.คาดยอดผลิตรถปี 65 โต 7% เหตุเศรษฐกิจ-โควิด ดีขึ้น (ที่มา: ดอกเบี้ยธุรกิจ, ประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2565)

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยในปี 2565 เป็นปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเริ่มฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมชะลอตัว ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า จะสามารถผลิตยานยนต์ได้ 1.8 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ผ่านมา โดยเป็นการจำหน่ายในประเทศ 8 แสนคัน และส่งออก 1 ล้านคัน ทั้งนี้ สถาบันยานยนต์ยังคาดการณ์ว่าปริมาณการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าจะมีประมาณ 5,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่จำหน่ายได้ประมาณ 2,000 คัน อันเป็นผลมาจากมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ ทำให้ผู้บริโภคให้การยอมรับมากขึ้น ซึ่งจากการที่ประเทศไทยได้กำหนดให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกนั้น ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อการตอบสนองเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม และยังเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศให้เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยตั้งเป้าให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด รวมทั้งตั้งเป้า   ให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 15 ล้านคัน หรือ 1 ใน 3 ของยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2578

อย่างไรก็ตาม สำหรับช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถผลิตรถยนต์ได้ 597,864 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 4.8% ซึ่งเป็นผลมาจากตลาดยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศมีการฟื้นตัว ประกอบกับการเปิดตัวของยานยนต์รุ่นใหม่ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า ที่ได้รับการตอบรับด้วยดีจากผู้บริโภคที่เริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยี การตั้งราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้น มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และภาวะการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมัน ส่วนตลาดส่งออกนั้น ยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวหลังจากที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ปัจจุบันหลายประเทศได้เริ่มทยอยยกเลิกมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาด และให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ รวมถึงการเริ่มเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้เศรษฐกิจภาพรวมเริ่มฟื้นตัว

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. เดือนพ.ค.65 ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าหนักสุดรอบกว่า 8 ปี (ที่มา: thejournalistclub, ประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2565)

กระทรวงการคลังของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า เดือนพฤษภาคม 2565 มูลค่าการนำเข้าพุ่งขึ้นสูงถึง 48.9% เมื่อเทียบเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยในโพลของรอยเตอร์ที่คาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 43.6% ขณะที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเพียง 15.8% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 2.385 ล้านล้านเยน (17,800 ล้านเหรียญฯ) นับเป็นการขาดดุลมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 เป็นต้นมา นอกจากนี้ มูลค่าการขาดดุลดังกล่าว ยังเป็นการขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และขาดดุลมากกว่าที่โพลของรอยเตอร์คาดไว้ที่ 2.023 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงอุปสรรคที่ญี่ปุ่นเผชิญอยู่จากการอ่อนค่าของเงินเยน และต้นทุนด้านเชื้อเพลิงและวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น โดยทั้งเชื้อเพลิง และวัตถุดิบนำเข้าเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตภายในประเทศจำเป็นต้องนำเข้า

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับด้านการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2565 เมื่อแยกเป็นรายประเทศ พบว่า การส่งออกไปจีน ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด หดตัวลง 0.2% เมื่อเทียบเดือนพฤษภาคม 2564 เพราะการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์การขนส่งไปจีนลดลง แต่การส่งออกไปสหรัฐฯกลับเพิ่มขึ้น 13.6% เพราะการส่งออกเครื่องจักรและแร่เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นมาก

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)