ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน สิงหาคม 2565

ข่าวในประเทศ

นายวันชัย พนมชัย

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

 

1. กรมโรงงาน-กฟน. เปิดคอร์สอบรมหวังลดอุบัติเหตุเพลิงไหม้โรงงาน  (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2565)

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2564 (มกราคม-ธันวาคม 2564) มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 112 ครั้ง โดยเป็นเหตุอัคคีภัย 92 ครั้ง และสาเหตุอื่นๆ 20 ครั้ง การเกิดเหตุเพลิงไหม้ส่วนใหญ่มาจากการขาดการบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องจักร และ/หรือขาดการจัดทำแผนการตรวจสอบบำรุงดูแลรักษาเครื่องจักรรวมทั้งขาดความเชี่ยวชาญหรือความรู้ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ กรอ.จึงจัดฝึกอบรมโดยร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อส่งเสริมให้โรงงานตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยของบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม โดยการร่วมมือกับ กฟน. ครั้งนี้จะเป็นการให้ความรู้ด้านความปลอดภัยตามชุมชน (ภาคอุตสาหกรรม) ในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า มาตรฐานความปลอดภัยทางไฟฟ้าในสถานที่ทำงาน รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน มาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งปีนี้ กรอ. และ กฟน. จัดการอบรมให้ผู้ประกอบการ 150 คน จากสถานประกอบการกว่า 90 แห่ง เพื่อเพิ่มความรู้ด้านการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า รวมถึงการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานกรณีเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรในโรงงานอุตสาหกรรม หวังลดอุบัติภัยจากเพลิงไหม้ ช่วยลดความสูญเสียที่สามารถป้องกันได้ และลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ตาม กรอ. และกฟน. ได้ร่วมกันทำโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จัดอบรมให้ผู้ประกอบการแล้วกว่า 1,600 คน และหวังว่าความร่วมมือของ 2 หน่วยงาน จะผลักดันให้เกิดการเรียนรู้มาตรฐาน หลักวิชาการ และประสบการณ์ด้านความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า และจะเป็นบทสรุปให้ผู้เข้าอบรมได้ทราบว่า มีมาตรการใดที่จะป้องกัน ควบคุม ลด หรือบรรเทา อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในภาคอุตสาหกรรมต่อไป

 

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

2. กนอ.เร่งเครื่องแผนแม่บทพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะปี’66 ปั้นสู่ฮับโลจิสติกส์ภูมิภาค! (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2565)

 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เดินทางไปศึกษาดูงานการผลิตน้ำจืดจากทะเล และการบริหารจัดการท่าเรือ ณ ประเทศสเปน ร่วมกับนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานกรรมการ กนอ. และคณะกรรมการ กนอ. โดยเฉพาะท่าเรือบาเลนเซียที่จะนำมาประกอบการพิจารณาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมอัจฉริยะที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Smart and Carbon Neutral Industrial Port) ตามเป้ายุทธศาสตร์ปี 2566 ที่มุ่งเน้นพัฒนาด้านสาธารณูปโภค (IEAT4.0) และนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ให้บริการและสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาประยุกต์ใช้ ซึ่งแผนแม่บทนี้จะนำไปใช้ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) เป็นพื้นที่นำร่อง สำหรับภารกิจการเยี่ยมชมท่าเรือเมืองบาเลนเซีย เป็น 1 ในท่าเรือยุโรปที่มีปริมาณการขนส่งมากที่สุด และติดอันดับ Top 20 ในปี 2021 จากการประเมินของ World Connectivity Index (CGI) โดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development : UNCTAD) รวมทั้งมียุทธศาสตร์ลดการปลดปล่อยคาร์บอน (Zero Emissions) ภายในปี 2030 ด้วยการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการ (Digital Transformation) ขณะเดียวกันยังได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาคมการผลิตน้ำจืดจากทะเล และการนำน้ำกลับมาใช้แห่งสเปน (La Asociacion Espanola de Desalacion y Reutilizacion - AEDyR) เพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งการคัดเลือกพื้นที่ตั้งระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล อัตรากำลังการผลิตที่เหมาะสม การคัดเลือกเทคโนโลยี ผลกระทบการระบายน้ำทิ้ง และการศึกษาในเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย และการลงทุน โดยพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC พื้นที่ที่มีศักยภาพสูงที่เหมาะสมสำหรับตั้งโรงผลิตน้ำจืดจากทะเล อยู่บริเวณพื้นที่มาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ยังประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการบริหารจัดการท่าเรือบกและระบบการขนส่งแบบ multimodal ในบริเวณเขตอุตสาหกรรมที่เป็นศูนย์กลางระบบขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อนำรูปแบบมาปรับใช้ในการดำเนินการก่อสร้างและให้บริการท่าเรือบก (Dry Port) ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากเล็งเห็นประสิทธิภาพการให้บริการของท่าเรือบก (Dry Port) ของสเปน ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ระบบท่าเรือบกเพื่อสนับสนุนการเป็นโลจิสติกส์ด้านการขนส่ง โดยการอำนวยความสะดวกให้กับการขนส่งระหว่างประเทศด้วยการลดภาระงานของท่าเรือทางทะเล และให้บริการด้านการขนส่งด้วยระบบรางหรือถนนที่มีประสิทธิภาพสูง

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ส.อ.ท. ดึงเทคโนโลยีนวัตกรรมยกระดับอุตฯ เกษตรท่องเที่ยวและบริการ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 17 สิงหาคม 2565)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลงจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงอยู่ รวมถึง Supply Chain Disruption และความตึงเครียดจากสหรัฐฯ-จีน-ไต้หวัน ดังนั้น ส.อ.ท. จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนตาม 17 เป้าหมาย SDG เพื่อให้การดำเนินงานของ ส.อ.ท. บรรลุเป้าหมายในการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย 1. ด้านสิ่งแวดล้อม ได้มีการส่งเสริม BCG Model จัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการให้คำปรึกษาการทวนสอบ Carbon Footprint และ Carbon Credit Exchange เป็นต้น 2. ด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม อาทิ การส่งเสริมอุตสาหกรรม S-Curve, Supply Chain Security การจัดตั้งมูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม การเปิดโครงการระบบรับรองสินค้า Made in Thailand (MiT) การส่งเสริม SME (Go Digital, Go Innovation, Go Global) การ ส่งเสริม Industry 4.0 และ Digital Transformation เป็นต้น 3. ด้านคนและสังคม อาทิ ได้จัดตั้งกองทุน ส.อ.ท.ช่วยไทยสู้ภัยโควิด-19) โรงพยาบาลสนาม ส.อ.ท. การตั้งระบบรับรองมาตรฐานด้านสุขอนามัย (IPHA) การจัดหาวัคซีนทางเลือกร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์การจัดทำ Health Box และจัดหา ATK และอุปกรณ์บริจาค เป็นต้นนอกจากนี้ ในระดับสากล ส.อ.ท. ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมผ่านหุ้นส่วนความร่วมมือ ABAC 2022 เพื่อไปสู่เป้าหมาย SDG ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และยกระดับขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ ส.อ.ท. ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดโครงการส่งเสริมและสนับสนุน ผู้ประกอบการเกษตร ท่องเที่ยว และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการภาคใต้ เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจผ่านมาตรการ depa mini Transformation Voucher และเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน โดยโครงการดังกล่าวจะยกระดับขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจแก่ ผู้ประกอบการเกษตรท่องเที่ยว 150 ราย และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ 125 ราย คาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่า 8 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายกิจก้อง ตันติจรัสวโรดม รองประธานส.อ.ท.ในฐานะประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมภาคใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง และนำเทคโนโลยีดิจิทัลนั้นมาประยุกต์ใช้ เพื่อลดต้นทุน สร้างโอกาส และรายได้ในภาวะเศรษฐกิจหลังสถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลาย โดยสภาอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มเกษตรท่องเที่ยว และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการภาคใต้ อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดกลไกหมุนเวียนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. สิงคโปร์ปีนี้หั่น GDP ศก.ไตรมาส 2 หดตัว (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2565)

รายงานจากบลูมเบิร์ก เปิดเผยว่า สิงคโปร์ปรับลดคาดการณ์การเติบโต    ในปี 2565 เหลือร้อยละ 3-4 หลังเศรษฐกิจของประเทศหดตัวลงในไตรมาสสอง โดยตัวเลขทางเศรษฐกิจ ณ ไตรมาสสอง เผยให้เห็นว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์หดตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขที่แย่กว่าที่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตร้อยละ 0 ส่งผลให้สิงคโปร์ปรับลดประมาณการเติบโตตลอดทั้งปีเหลือที่ระดับร้อยละ 3-4 จากร้อยละ 3-5สำหรับสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากภาคการค้าปลีกหดตัวลงร้อยละ 6.9 โดยการค้าส่ง และภาคธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารโทรคมนาคมก็ชะลอตัวเช่นเดียวกัน ในขณะที่ภาคบริการที่พักอาศัย อาหาร และเครื่องดื่มขยายตัวค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่อ่อนตัวลง ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกจากนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ความพยายามของจีนในการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำ ล้วนเป็นความเสี่ยงต่อการเติบโตของสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม ทางด้านกาเบรียล ลิม ปลัดกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมฝ่ายต่างประเทศ กล่าวว่า ความไม่มั่นคงทางการเงินในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอันเป็นผลมาจากนโยบายการเงินแบบเข้มงวด และความตึงเครียดทางการเมือง เช่น การรุกรานยูเครนของรัสเซีย และในเอเชีย ต่างเพิ่มความเสี่ยงต่อการเติบโตของสิงคโปร์ โดยสิงคโปร์พยายามอย่างหนักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านการผสมผสานนโยบายการเงินแบบเข้มงวด และการอัดฉีดเงินอุดหนุนแก่ครัวเรือนที่มีความเปราะบาง ทั้งยังเตรียมความพร้อมรับมือกับภาวะถดถอยที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนไว้

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)