ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน สิงหาคม 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. สมอ.จับมือ 21 เขต ศก. เอเปกชู BCG Model ขับเคลื่อนหลังโควิด (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) หรือ เอเปก 2022 ใน วันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 พร้อมแสดงจุดยืนและบทบาทของไทยในเวทีการค้าโลก เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านต่างๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตามแนวคิด "เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" หรือ Open. Connect. Balance. ทั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนไทยในคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานและการรับรองของเอเปก (SCSC) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม SCSC ครั้งที่ 2/2565 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 18-20 สิงหาคม 2565 โดย สมอ. ได้ผลักดันภารกิจสำคัญเพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล 4 ด้าน ได้แก่ 1. การพัฒนาและผลักดันกิจกรรมด้านมาตรฐานและการรับรองเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) 2. สนับสนุนและส่งเสริมแนวทางใหม่ เพื่อให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 และฟื้นฟูการค้าและการลงทุน 3. ส่งเสริมด้านนวัตกรรมและดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนตลาดและเชื่อมโยงสู่สากล และ 4. สนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการค้าให้ผู้ประกอบการ รายย่อย (MSMEs) โดยในการประชุมมีผู้แทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปก ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน จีนฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย เวียดนาม เข้าร่วมประชุม

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จะทำให้เกิดการปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกันกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เน้นมาตรฐานเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีการจัดกิจกรรม/การประชุมเชิงปฏิบัติการ/การสัมมนาเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 และ BCG Modelขั้นพื้นฐานกรณีเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรในโรงงานอุตสาหกรรม หวังลดอุบัติภัยจากเพลิงไหม้ ช่วยลดความสูญเสียที่สามารถป้องกันได้ และลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงาน

 

นายณัฐพล รังสิตพล

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม)

 

2. ดัน 'อาชีพดีพร้อม' บูมศก. 1.2 หมื่นล. (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 23 สิงหาคม 2565)

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม หรืออาชีพดีพร้อม ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 งบกลาง กรอบวงเงิน 1,249 ล้านบาท จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำชับให้เดินหน้าโครงการด้วยความรอบคอบและรวดเร็วเพื่อช่วยเหลือประชาชนในการฝึกอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มที่ตกงาน หรือรายได้ลดลง ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้เดินหน้าโครงการ โดยนำร่องเปิดกิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิตในรูปแบบการอบรมฝึกอาชีพระยะสั้น พร้อมพัฒนาระบบ job.diprom รองรับการดำเนินงานที่เขตคลองสาน กรุงเทพฯ เน้น 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรลดรายจ่าย และหลักสูตรเพิ่มรายได้ ซึ่งจะเป็นการลดค่าครองชีพให้กับครอบครัว รวมถึงสามารถสร้างรายได้และอาชีพเสริมให้กับชุมชน ได้รับการตอบรับที่ดี หลังจากนี้จะคิกออฟทั่วประเทศ กำหนดวันที่ 27 สิงหาคม วางแผนดำเนินการเพิ่มทักษะและรายได้ให้ชุมชนกว่า 400 แห่ง ผ่าน 4 หลักสูตรหลัก ได้แก่ กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการผลิต กิจกรรมพัฒนาทักษะอาชีพพื้นฐานด้านการบริการ กิจกรรมพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และกิจกรรมพัฒนาต่อยอดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งเป้าในการพัฒนาประชาชนกว่า 700,000 ราย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ดีพร้อม และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะกระจายกำลังลงพื้นที่ เพราะมีข้อจำกัดด้านระยะเวลาที่ต้องดำเนินการเสร็จสิ้นภายใน 30 กันยายน 2565 หรือกรอบ 2 เดือน (สิงหาคม-กันยายน) ด้วยเหตุนี้จึงนำแพลตฟอร์ม job.diprom มาช่วยอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนเอกสาร ใช้วิธีการเสียบบัตรสามารถยืนยันตัวตนได้เลย เชื่อว่าจะเกิดความแม่นยำและรวดเร็วแน่นอน โดยหลังดำเนินโครงการมั่นใจว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านบาท

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. หั่นเป้าผลิตรถยนต์ปี'65 เหลือ 1.75 ล้านคัน อ้างวัตถุดิบขาดแคลนเงินเฟ้อสูงกำลังซื้อลด (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2565)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ปรับประมาณการการผลิตรถยนต์ปี 2565 ลดลง 50,000 คัน จาก 1,800,000 คัน เหลือ 1,750,000 คัน เป็นการปรับเป้าการผลิตเพื่อส่งออกลง 100,000 คัน จาก 1,000,000 คัน เหลือ 900,000 คัน แต่ปรับเป้าการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 50,000 คัน จาก 800,000 คัน เป็น 850,000 คัน สำหรับปัจจัยของการปรับยอดผลิตเพื่อส่งออกลดลง เนื่องจากสงครามยูเครนรัสเซียยืดเยื้อ ทำให้การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เพราะทั้งสองประเทศส่งออกรายใหญ่ ก๊าซนีออนที่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ นอกจากนี้ การล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 ทำให้ขาดแคลนชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นเพราะโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศเมียนมาประกาศห้ามนำเข้ารถยนต์เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ทำให้ส่งออกรถยนต์ลดลงกว่า 2,000 คัน ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ไต้หวัน ตะวันออกกลาง เป็นต้น อัตราเงินเฟ้อที่สูงมากและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศชั้นนำของโลกอาจทำให้กำลังซื้อลดลง

อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยของการปรับยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นผลจากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างประเทศสะดวกขึ้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเดินทางเข้าประเทศหลายล้านคน การส่งออกยังคงเติบโต ทำให้ประชาชนมีงานทำมีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง รวมทั้งมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ โดยภาพรวมการผลิตรถยนต์ 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2565) ผลิตได้ทั้งสิ้น 1,013,069 คัน เพิ่มขึ้น 4.68% เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 499,104 คัน และผลิตเพื่อส่งออก 513,965 คัน

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. สิงคโปร์ทำแผนดึงแรงงานต่างชาติทักษะสูง (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 23 สิงหาคม 2565)

นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันประกาศนโยบายใหม่ที่มีจุดประสงค์เพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงเร็วๆ นี้ โดยมีจุดมุ่งหมาย   เพื่อกระจายผู้มีความสามารถไปทุกภาคอุตสาหกรรม ถึงแม้สิงคโปร์จะมีแผนดึงคนมีทักษะสูงอยู่ก่อนแล้ว เช่น คนที่มีทักษะเฉพาะด้านเทคโนโลยี หรือ ไอที โดยรัฐบาลมองว่ายังไม่พอเพียงต่อความต้องการ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่กำลังมีแนวโน้มเติบโตดี ซึ่งตอนนี้มีหลายประเทศที่พยายามนำเข้าแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศ เช่น เยอรมนี ที่ล่าสุดเพิ่งอนุญาตให้แรงงานที่มีฝีมือเฉพาะทางสามารถอยู่ในประเทศ โดยยังไม่จำเป็นต้องมีงานทำ ในขณะที่สหราชอาณาจักรได้ออกวีซ่าพิเศษแก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจาก 50 สถาบันชั้นนำของโลก ซึ่งรวมถึงผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเข้ามาของแรงงานทักษะสูง หรือมีฝีมือเฉพาะทาง จะช่วยสนับสนุนให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรม เศรษฐกิจ และการเติบโต อีกทั้งจะทำให้ชาวสิงคโปร์ที่มีความสามารถยังต้องการอยู่ในประเทศ และร่วมกันสร้างประเทศสู่ระดับโลก

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)