ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 5 ของเดือนสิงหาคม 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ดัชนีผลผลิตอุตฯ ก.ค. ขยายตัว 6.37% (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 1 กันยายน 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงานถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 95.71 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 61.01% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 58.10% ส่งผลให้ MPI 7 เดือนแรก (มกราคม - กรกฎาคม 2565) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 63.42% ทั้งนี้ มาจากปัจจัยภาพรวมการผลิตที่ขยายตัวจากภาคการส่งออกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ โดยหลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปิดประเทศจะหนุนให้เกิดการบริโภคและเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะมาช่วยขับเคลื่อนให้ภาคการผลิตขยายตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากภาคการส่งออกจึงคาดว่า MPI ครึ่งปีหลังยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งยังคงต้องติดตามปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ทั้งนี้ ทางด้านนางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมหลักที่ทำให้ MPI กลับมาขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวช่วยฟื้นการบริโภคภายในประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการปรับคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิม 6 ล้านคน เป็น 8 ล้านคน ในปีนี้ รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณเฝ้าระวัง โดย สศอ. ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (EWS-IE) จึงคาดการณ์จากดัชนีชี้นำสถานการณ์การผลิตโลก (PMI) ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 1-2 เดือนข้างหน้า ปัจจัยภายในประเทศยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวและปลดล็อกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัย ต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ประเทศคู่ค้าอยู่ในภาวะไม่ปกติ ส่งผลให้คำสั่งซื้อชะลอตัวลง ทั้งนี้ ต้องจับตาดูสถานการณ์การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครนยังคงยืดเยื้อ ส่งผลต่อราคาพลังงานและวัตถุดิบ สภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย รวมถึงปัญหาข้อพิพาททางการเมืองระหว่างประเทศ

 

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

2. 'อีอีซี' เนื้อหอมต่างชาติดีลตั้งฐานผลิต (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2565)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปี 2565 เริ่มมีนักลงทุนจากหลายประเทศเข้ามาลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมคึกคักหลังเปิดประเทศและจากการที่เกิดข้อขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ทำให้เป็นโอกาสของประเทศไทยมากขึ้น โดยนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนมีทั้งขยายโรงงานและขยายพื้นที่ ซึ่งเป็นนักลงทุนรายเดิมและรายใหม่ที่ยังไม่เคยเข้ามาก็เริ่มทยอยเข้ามา เช่น ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศจีน หลังก่อนหน้านี้ มีเข้ามา 2-3 ยี่ห้อ เริ่มมียี่ห้ออื่นๆ ตื่นตัวและกำลังเข้ามาขออนุมัติการลงทุน ส่วนการลงทุนอื่นๆ พยายามดึงธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ จากประเทศตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย อาหรับ เข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมดิคอลฮับของภูมิภาค แต่คงไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่อีอีซี อาจขยายไปยังพื้นที่อื่นด้วย เนื่องจากโรงพยาบาลระดับอินเตอร์ของไทยมีชื่อเสียงมาก ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยค่อนข้างเนื้อหอมขึ้นมา หลังเปิดประเทศ คาดว่าจะคึกคักไปถึงสิ้นปีนี้ สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปคือต้องมีกฎระเบียบต่างๆ ที่ค่อนข้างเข้มงวด ไม่ให้คนเข้ามาลงทุนทำผิดกฎระเบียบ ทำให้ชุมชน ทรัพยากรเราเสียหาย ซึ่ง กนอ.จะต้องปรับทั้ง 2 ด้านนี้ไปพร้อมกัน ทั้งด้านการตลาดและกฎระเบียบการตรวจสอบ เพื่อให้เราได้ประโยชน์สูงสุด เพราะที่ผ่านมามีกรณีที่นักลงทุนต่างชาติมองว่าไทยเป็นแค่ฐานการผลิตเล็กๆ น้อยๆ แล้วส่งออกไปประเทศอื่นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในพื้นที่อีอีซีกำลังเร่งการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภค ให้แล้วเสร็จตามแผน เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน เป็นต้น ซึ่งระบบอินฟราสตรัคเจอร์ต่างๆ จะสร้างความเชื่อมั่นใหักับนักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น จากเดิมประเทศไทยมีพื้นฐานดีอยู่แล้ว จากทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ขายอีวี 7 เดือน เฉียดหมื่นคัน ผลิตรถในประเทศสะดุดเม็ดเงินหาย 5 หมื่นล้าน (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ประจำวันที่ 1 กันยายน 2565)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ หลังจากเดิมตั้งเป้าจะผลิตรถยนต์ในปีนี้ไว้ที่ 1.8 ล้านคัน ลดลง 50,000 คัน เหลือเพียง 1.75 ล้านคัน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการปรับเป้าการผลิตเพื่อการส่งออก     ลงจาก 1 ล้านคัน เหลือเพียง 900,000 คัน ขณะที่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 800,000 คัน เป็น 850,000 คัน สำหรับสาเหตุที่กลุ่มตัดสินใจปรับลดเป้าหมายยอดการผลิตรถยนต์ลงไปนั้นเป็นผลมาจากสถานการณ์สงครามยูเครน-รัสเซียยังคงยืดเยื้อนาน ส่งผลให้ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์มาต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีก่อน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศ เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ก๊าซนีออนที่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และยังส่งผลให้ยอดการส่งออกรถยนต์ไปทั้ง 2 ประเทศลดลงไปกว่า 20,000 คัน ประกอบกับสถานการณ์การล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ในเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ขาดแคลนชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้ ยังมีผลจากประเทศเมียนมาประกาศห้ามนำเข้ารถยนต์เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้การส่งออกรถยนต์ลดลงกว่า 2,000 คัน อีกทั้งต้องจับตาสถานการณ์ในไต้หวัน ตะวันออกกลาง และอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศชั้นนำของโลกอาจทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงด้วย ขณะที่ตลาดในประเทศนั้นได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเปิดประเทศ และตลาดส่งออกยังคงเติบโตจากปีที่แล้วที่มูลค่าส่งออกทำสถิติสูงสุด และมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ ทำให้เชื่อว่ายอดขายรถยนต์ปีนี้จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของยอดการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ในเดือนกรกฎาคม มีจำนวน 1,459 คัน เพิ่มขึ้น 334.23% แบ่งเป็นรถยนต์นั่งและรถกระบะมีทั้งสิ้น 577 คัน เพิ่มขึ้น 410.62% รถยนต์สามล้อรับจ้างมีทั้งสิ้น 22 คัน เพิ่มขึ้น 2,100% รถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 857 คัน เพิ่มขึ้น 287.78% รถบรรทุกมีทั้งสิ้น 3 คัน ส่วนยอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้า สะสม 7 เดือน (มกราคม - กรกฎาคม) มีจำนวน 8,784 คัน เพิ่มขึ้น 187.53% แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง รถประเภทต่างๆ และรถกระบะรถแวน มีทั้งสิ้น 3,618 คัน เพิ่มขึ้น 254.36% รถยนต์สามล้อรับจ้างมีทั้งสิ้น 136 คัน เพิ่มขึ้น 312.12% รถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 4,963 คัน เพิ่มขึ้น 148.65% รถโดยสารมีทั้งสิ้น 49 คัน เพิ่มขึ้น 1,125% และรถโดยสารมีทั้งสิ้น 18 คัน เพิ่มขึ้น 1,700%

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. IMF เตรียมปล่อยกู้ศรีลังกา 2.9 พันล้านดอลล์ การบรรลุข้อตกลงขั้นต้นจะช่วยแก้วิกฤติเศรษฐกิจในศรีลังกา (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 2 กันยายน 2565)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เปิดเผยว่า ได้บรรลุข้อตกลงขั้นต้นในการจัดหาเงินกู้ระยะเวลา 48 เดือน เป็นวงเงิน 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับรัฐบาลศรีลังกา เพื่อเป็นการช่วยฟื้นเสถียรภาพเศรษฐกิจให้กับประเทศศรีลังกาที่กำลังเผชิญวิกฤตอยู่ในขณะนี้ โดยเงินกู้นี้จะดำเนินการภายใต้โครงการการอำนวยความสะดวกขยายกองทุน หรือ Extended Fund Facility ซึ่งช่วยหลายๆ ประเทศในการรับมือกับปัญหาดุลชำระเงิน หรือกระแสเงินสดหมุนเวียน โดยจะจ่ายเงินให้หลังจากมีการปรับโครงสร้างหนี้ที่น่าพอใจ ซึ่งรวมถึงข้อตกลงการผ่อนปรนหนี้ที่รัฐบาลศรีลังกาทำไว้กับประเทศเจ้าหนี้ โครงการเงินกู้นี้ยังรวมถึงการปฏิรูปประเทศศรีลังกาให้มีการทุจริตที่ลดลง และเพิ่มความโปร่งใสในระบบการเงิน

อย่างไรก็ตาม IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจศรีลังกาจะติดลบ 8.7% ในปีนี้ และอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงกว่า 60% โดยผลกระทบนั้นกระจายไปยังกลุ่มผู้ยากจน และกลุ่มเปราะบางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่ง IMF เล็งที่จะช่วยสร้างสมดุลในเศรษฐกิจของศรีลังกา การปกป้องความเป็นอยู่ของประชากร สร้างฐานสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเติบโตแบบยั่งยืน และครอบคลุม ทั้งนี้ IMF ตั้งเป้าไว้ โดยคาดว่าการช่วยเหลือศรีลังกาในครั้งนี้จะทำให้งบประมาณกลับมาอยู่ในแดนบวกได้ที่ 2.3% ของ GDP ในปี 2567 จากการคาดการณ์ว่าจะขาดงบดุล 9.8% ของ GDP ในปี 2565 และจะยังช่วยเสริมเสถียรภาพด้านราคา หลังเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นแตะ 64.3% ในเดือนที่ผ่านมา 

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)