ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'ชาวไร่อ้อย'เฮ 'อุตฯ' ยันพ.ย.นี้ รับเงินตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 22 กันยายน 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/65 โดยมีนโยบายช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ในอัตรา 120 บาทต่อตัน เช่นเดียวกับฤดูการผลิตปี 2563/64 ซึ่งมีชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานเพื่อผลิตน้ำตาลทราย ผลิตเอทานอล และผลิตน้ำตาลทรายแดงได้ประโยชน์กว่า 2 แสนราย คาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 โครงการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบายแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่น PM2.5 ของรัฐบาล ทั้งนี้ ทางด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ผลักดันโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ทำให้ชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงานเพิ่มมากขึ้น และเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดจะได้รับราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2564/65 รวมกับเงินช่วยเหลือแล้วไม่ต่ำกว่าตันละ 1,100 บาท สำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ รวมถึงการดำรงชีพ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ โดยจะสามารถส่งข้อมูลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2565 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลบัญชีและอนุมัติการจ่ายเงินให้แก่ชาวไร่อ้อย คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้

 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม)

 

2. เอสเอ็มอีรอเลย! ดีพร้อม-เซเว่นฯ ผนึกกำลังดันเข้าโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ เฟส 2 (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 20 กันยายน 2565)

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายดีพร้อมเตรียมจัดกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมขยายสู่ช่องทางธุรกิจการค้าสมัยใหม่ (Gifted DIPROM - Modern Trade) ระยะ 2 หลังจากประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ หรือ โมเดิร์นเทรด (Modern Trade) โดยระยะ 1 ที่ได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ดำเนินการจัดกิจกรรม DIPROM MOVE TO MODERN TRADE เพื่อให้ความรู้ พร้อมส่งเสริม สนับสนุน และต่อยอดให้กับผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ที่มีศักยภาพให้สามารถนำธุรกิจเข้าสู่โมเดิร์นเทรด โดยกิจกรรมเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 มีผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 22 ธุรกิจ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจภาพรวมได้กว่า 36 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่ายอดขายหน้าร้าน และการส่งออกเพิ่มขึ้นรวมกันกว่า 34 ล้านบาท มูลค่ายอดขายในอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านบาท และการลงทุนของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มเติม 1.2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ DIPROM MOVE TO MODERN TRADE ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ของศูนย์ 7 สนับสนุนเอสเอ็มอีในการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งในครั้งนี้เป็นความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในการเตรียมความพร้อมเอสเอ็มอีเข้าสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรด โดยเป็นการถ่ายทอดเคล็ดลับความสำเร็จของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ค้าขายกับเซเว่น อีเลฟเว่น โดยโครงการนี้สอดคล้องกับความตั้งใจของบริษัทในการสนับสนุนเอสเอ็มอีทั้ง 3 เรื่องคือ คือ 1. ให้ช่องทางขายเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการ SME นำเสนอสินค้าเพื่อจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และผ่านช่องทางออนไลน์ 2. ให้ความรู้ จัดอบรมสัมมนาแก่ผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่อง และ 3. ให้การเชื่อมโยงเครือข่ายแก่ SME ทั้งภายในบริษัทและองค์กรความร่วมมือจากภายนอก เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ส.อ.ท.ชี้บาทอ่อนค่าส่งผลค่าครองชีพพุ่งเอกชนจี้คลัง-ธปท.ร่วมกันหาจุดสมดุล (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 23 กันยายน 2565)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3-3.25% เป็นเรื่องปกติ เพราะไม่สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศได้ แม้ใช้ยาแรงด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องใช้ยาแรงสกัดเงินเฟ้ออีกรอบหนึ่งเป็นแรงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปแตะ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มอาจทะลุไปแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่มีมาตรการรองรับที่เพียงพอ ทั้งนี้ เมื่อบาทอ่อนค่า สิ่งที่จะตามมาคือราคาการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินบาท จากปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมัน 900,000 บาร์เรลต่อวัน รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่เน้นจำหน่ายในประเทศ จะต้องปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สุดท้ายก็ต้องมีการปรับราคาจำหน่ายหน้าโรงงานตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนจะปรับขึ้นเท่าใด อาทิ ปรับขึ้นอีก 10-30% หรืออาจปรับขึ้นไม่ถึงจำนวนนี้ หรืออาจตรึงราคาได้อีกระยะหนึ่ง เพราะกำลังซื้อในประเทศก็ซบเซา สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยพุ่งขึ้นตามไปด้วย สำหรับต้นทุนราคาพลังงานที่สูงขึ้นโดยเฉพาะ LNG ที่เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่ ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ก็อาจทำให้เราจะได้เห็นค่าไฟฟ้าที่อาจสูงเกิน 4.72 บาทต่อหน่วย จากในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี แม้บาทอ่อนค่าก็ยังส่งผลดีต่อการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก และธุรกิจ ท่องเที่ยว หากเป็นเช่นนี้เราอาจได้เห็นนักท่องเที่ยวเข้าในไทย 10 ล้านคน ในปี 2565 ตามเป้าที่วางไว้                     

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนต้องการให้ธปท. และกระทรวงการคลัง ร่วมกันหาจุดสมดุลของค่าบาทที่เหมาะสม เพื่อดูแลคนที่ได้ประโยชน์และเสียผลประโยนชน์ โดยเฉพาะการที่ธนาคารพาณิชย์คงต้องทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยตามไปด้วย เพื่อเป็นตัวหน่วงให้ภาวะเศรษฐกิจเกิดความสมดุล ส่วนจะขึ้นดอกเบี้ยเท่าใดจะเหมาะสม ตนคงตอบไม่ได้ ส่วนกรณีที่มีคนต้องการเห็นค่าเงินที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เรื่องนี้ทุกคนก็มีสิทธิเสนอมุมมอง ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจีนโต 44% ตั้งเป้าศูนย์กลางเทคโนโลยีหุ่นยนต์โลก (ที่มา: สำนักข่าว TNN, ประจำวันที่ 22 กันยายน 2565)

รายงานของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) เปิดเผยถึงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเติบโตของตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศจีนที่มีการเติบโตต่อเนื่องนับจากปี 2011 โดยเฉพาะในปี 2021 ที่ผ่านมา มีการเติบโต 44% หรือคิดเป็น   การติดตั้งหุ่นยนต์สำหรับใช้งานในภาคอุตสาหกรรมมากถึง 243,000 ครั้ง โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2020 ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการใช้งานระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมอยู่ในลำดับที่ 9 ขึ้นมาจากลำดับที่ 25 ในปี 2015 นับว่ามีเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงเวลาดังกล่าวจีนมีสัดส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 246 ตัว ต่อพนักงานที่เป็นมนุษย์ 10,000 คน สำหรับประเทศที่มีการใช้งานระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติมากที่สุดในโลก คือ ประเทศเกาหลีใต้ ตามมาด้วยสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และประเทศเยอรมนี

อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนกำลังเดินหน้าไปสู่เป้าหมายผลักดันให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของจีนเป็นจุดศูนย์กลางของนวัตกรรมหุ่นยนต์ของโลก โดยรัฐบาลจีนยังคาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของรายได้จากการดำเนินงานในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จะเกิน 20% ต่อปี ในประเทศจีนแม้จะมีจำนวนประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน แต่ปัจจุบันประชากรจีนจำนวนไม่น้อยเริ่มเข้าสู้ประชากรสูงอายุทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานและสาเหตุดังกล่าวทำให้มีการผลักดันเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัตโนมัติ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) ประเทศจีนได้ประกาศแผน 5 ปี เพื่อความต่อเนื่องสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมนวัตกรรมและทำให้ประเทศจีนเป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม         

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)