ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกันยายน 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. เปิดประเทศการบริโภคฟื้นดันดัชนีอุตสาหกรรมเดือนสิงหาโต 14.52% (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 29 กันยายน 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง จากการบริโภคในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 99.28 เพิ่มขึ้น 14.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 63.78 สำหรับภาพรวมดัชนี MPI 8 เดือนแรกของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 99.81 ขยายตัว 2.72% อัตราการใช้กำลังการผลิต 8 เดือนแรก เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.43 จากการที่รัฐบาลเปิดประเทศนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ส่งผลดีต่อการบริโภคในประเทศปรับตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงมีคำสั่งซื้อและเพิ่มการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมากขึ้น คาดว่าดัชนี MPI จะขยายตัวต่อเนื่อง โดยรับอานิสงส์จากโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ที่จะทำให้การบริโภคในประเทศขยายตัว โดยภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ขยายตัวตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้นและการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2565 ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ จักรยานยนต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอย ฟื้นตัวอีกทั้งการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดี ต่อภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) คาดการณ์จากดัชนีชี้นำสถานการณ์การผลิตโลก (PMI) พบว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยใน 1-2 เดือนข้างหน้า ปัจจัยภายในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง ภาคการผลิตขยายตัว ต่อเนื่องตามอุปสงค์ในประเทศ ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เกิดความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ รวมทั้งข้อพิพาทระหว่างประเทศ และประเทศคู่ค้าอยู่ในภาวะไม่ปกติและคำสั่งซื้อชะลอตัวลง ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ที่คาดว่าอาจเกิดเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้และต้องเผชิญต่อภาวะขาดแคลนพลังงาน และจีน ที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์และข้อพิพาทระหว่างประเทศในช่องแคบไต้หวัน ส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณไม่ปกติ

 

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

2. ดึงญี่ปุ่นร่วมขับเคลื่อน อุตสาหกรรมการแพทย์ของไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 28 กันยายน 2565)

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันเวชศาสตร์ฟื้นฟู โดยเฉพาะเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ (Stem Cell) เป็นเทคโนโลยีที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ประกอบกับไทยได้กำหนดให้อุตสาหกรรมการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาให้เกิดความร่วมมือในเทคโนโลยีดังกล่าวระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับไทย จึงอาจมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยให้เป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลได้ในอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ รวมไปถึงการเป็นผู้นำทางการแพทย์และสุขภาพครบวงจร ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้มีโอกาสการเข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงาน N2 CLINIC ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูผ่านเทคโนโลยีสเต็มเซลล์ เช่น การบำบัดด้วยสเต็มเซลล์ (Stem Cell Therapy) และการบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พบว่า Stem Cell คือ เซลล์ชนิดหนึ่งที่เป็นต้นกำเนิดในการเจริญเติบโตหรือสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการสร้างจำนวนเซลล์และเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ชนิดต่างๆ เพื่อทดแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพในร่างกาย

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ได้เข้าเยี่ยมชมและศึกษาดูงานการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของ Tokyo Metropolitan Industrial Technology Research Institute (TIRI) โดย TIRI เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่สนับสนุนงานด้านการวิจัยและเทคโนโลยีให้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กของญี่ปุ่น เช่น การทำวิจัยร่วมกับเอกชน การสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า การให้เช่าเครื่องมือหรืออุปกรณ์สำหรับการวิเคราะห์ วิจัย รวมถึงการให้ใช้สถานที่ทดสอบระบบ 5G และการให้บริการทดสอบชิ้นงานพร้อมให้คำแนะนำ เป็นต้น ซึ่งงบประมาณหลักของสถาบันได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกรุงโตเกียว โดยการหารือครั้งนี้มีการนำเสนอแนวทางความร่วมมือระหว่าง TIRI และสถาบันไทย-เยอรมัน ในอนาคตด้วย

 

นายดนุชา พิชยนันท์

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

3. เลขาฯสภาพัฒน์ ห่วง ศก. โลกในปีหน้า แต่ยังยืนกรานเศรษฐกิจไทยไม่อ่อนแอ (ที่มา: บางกอกทูเดย์, ประจำวันที่ 30 กันยายน 2565)

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ห่วงเศรษฐกิจคือในเรื่องของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย (Global Recession) ซึ่งไทยจะได้รับผลกระทบและยังจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นซึ่งก็ต้องจับตาว่านโยบายต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้นโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่มีการเดินหน้าไปในหลายเรื่อง ได้แก่ นโยบาย EV นโยบาย LTR ที่เป็นนโยบายที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ในระยะยาวหากการเมืองเปลี่ยนแปลงก็ต้องติดตามดูว่านโยบายต่างๆ เหล่านี้จะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ ส่วนกรณีที่ ธนาคาร เจพี มอร์แกน อินเวสต์เมนท์ แบงก์ ในประเทศสิงคโปร์ ได้เสนองานวิจัยว่าประเทศไทยและญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนมากที่สุดสองชาติในเอเชีย ในกรณีดังกล่าวยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อ่อนแอ แต่มุมมองที่มองเช่นนั้นอาจเป็นเพราะช่วงที่ผ่านมาในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยพึ่งพาภาคท่องเที่ยว และมีข้อจำกัดของตลาดที่ยังแคบอยู่ เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงแล้วเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้น นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มที่ดีของการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่เข้ามาในประเทศเห็นได้จากการเข้ามาลงทุนของ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รายใหญ่จากประเทศจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่ถือว่าเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ขณะที่เร็วๆ นี้ จะมีการเข้ามาลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทดิจิทัลระดับโลก ซึ่งแนวโน้มการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม จากนโยบายที่รัฐบาลไทยได้มีการเตรียมพร้อมไว้หลายเรื่องเพื่อรองรับการลงทุนรวมถึงนโยบายการสนับสนุนให้คนต่างชาติที่มีความสามารถและรายได้สูงเข้ามาอยู่ในประเทศไทย หรือมาตรการ "LTR" ซึ่งทำให้มีรายได้ส่วนนี้จากต่างชาติเข้ามาเพิ่มเติม และเป็นรายได้ที่แน่นอนมากกว่ารายได้จากการท่องเที่ยวในระยะยาว

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. เศรษฐกิจจีน โตช้ากว่าชาติอื่นในเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งแรกในรอบ 30 ปี (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ประจำวันที่ 29 กันยายน 2565)

ธนาคารโลก เปิดเผยว่า ได้มีการคาดการณ์การเติบโตของ GDP จีน ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ว่าปี 2022 อยู่ที่เพียงร้อยละ 2.8 ขณะที่ประเทศอื่นๆ 23 ประเทศในภูมิภาคคาดว่า GDP จะโตขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.3 มากกว่าการเติบโตเมื่อปีที่แล้วกว่า 2 เท่า ทำให้การเติบโตของ GDP จีนตามหลังประเทศเพื่อนบ้านเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่ปี 1990 ทั้งนี้ ธนาคารโลกระบุว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นและการบริโภคในประเทศฟื้นตัวหลังการระบาดทำให้เศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิกขยับขึ้น แต่มาตรการควบคุมโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวดของจีนส่งผลกระทบด้านลบต่อภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการขายในประเทศและการส่งออก สำหรับวิกฤตตลาดที่อยู่อาศัยและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปอีก เมื่อเดือนสิงหาคม ราคาบ้านใหม่ใน 70 เมืองของจีนลดลงเกินกว่าที่เกินคาดการณ์ไว้ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบปีต่อปี และเกือบ 1 ใน 3 ของสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดเป็นหนี้เสีย

อย่างไรก็ตาม สถิติของรัฐบาลจีนระบุว่าปี 2021 GDP เติบโตร้อยละ 8.1 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในรอบทศวรรษและคาดว่าปีนี้ จะขยับขึ้นเป็นร้อยละ 5.5 แต่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า GDP เติบโตน้อยกว่า เป็นร้อยละ 5 และปีหน้า จีนและมีการเติบโต GDP ที่ร้อยละ 4.5

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)