ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนตุลาคม 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. จ่อคลอด 620 มาตรฐาน สมอ.รับกติกาโลกใหม่ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 4 ตุลาคม 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้รายงานจัดทำแผนกำหนดมาตรฐานปีงบประมาณ 2566 ได้กำหนดมาตรฐาน สมอ. ในปีงบ ประมาณ 2566 จำนวน 620 เรื่อง เป็นมาตรฐานกำหนดใหม่ 501 เรื่อง รวมถึงมาตรฐานกลุ่มอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟ จำนวน 52 เรื่อง นิวเอสเคิร์ฟ 70 เรื่อง กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ 84 เรื่อง มาตรฐานเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ 283 เรื่อง และมาตรฐานตามนโยบายอีก 12 เรื่อง เช่น โดรนสำหรับเกษตรอัจฉริยะ เครื่องฆ่าเชื้อด้วยยูวีซี ท่อเข็มเหล็กกล้าไร้สนิมผลิตเครื่องมือแพทย์ ขณะเดียวกันยังมีถังเก็บน้ำพลาสติกยับยั้งแบคทีเรีย เครื่องแปลงขยะเศษอาหารและเศษวัชพืชโดยใช้จุลินทรีย์ หลอดพลาสติกชีวภาพ คอมพาวด์กัญชง เครื่องยึดเหนี่ยวราง ชุดชิ้นส่วนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ยางปิดช่องว่างระหว่างชานชาลากับขบวนรถขนส่งทางราง ภาชนะพลาสติกพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลตเรซินแปรใช้ใหม่บรรจุน้ำบริโภค รถพยาบาล หุ่นยนต์เคลื่อนที่ขนส่งสิ่งของในสถานพยาบาล และหุ่นยนต์ช่วยดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาล

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานเดิมที่นำมา ทบทวนใหม่อีก 119 เรื่อง เพื่อให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน เนื่องจากใช้มาเกิน 5 ปี เช่น สายไฟฟ้าอะลูมิเนียม สีพ่นยานยนต์ หมอนคอนกรีตอัดแรง ท่อยางและท่อพลาสติก ฟองน้ำลาเท็กซ์สำหรับทำหมอนและที่นอน น้ำยาประสานท่อพีวีซีแข็งและข้อต่อท่อพีวีซีแข็ง น้ำยางคอมพาวด์เคลือบผ้าปูสระกักเก็บน้ำ กระเบื้องพีวีซีปูพื้น แคลเซียมคาร์บอเนตสำหรับอุตสาหกรรมยาง ผงซักฟอก ขวดนมพลาสติก สีเทียน สายต่อใช้ในทางการแพทย์ ฟิล์มพลาสติกโพลิไวนิลคลอไรด์สำหรับงานเกษตรกรรม ข้อต่อสำหรับเครื่องมือแพทย์ใช้กับหลอดเลือด หรือใต้ผิวหนัง กระบอกฉีดยาผ่านใต้ผิวหนังปราศจากเชื้อชนิดใช้ครั้งเดียว เป็นต้น

 

นายสินิตย์ เลิศไกร

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

2. 'สินิตย์' เยือนสิงคโปร์ สบช่องดันส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร (ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, ประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2565)

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ เยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา โดยได้หารือกับ ดร.ตัน ซี เหล็ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ซึ่งได้เห็นพ้องจะกระชับความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีในการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร อาทิ ผลิตภัณฑ์นม ข้าว และผลไม้ ซึ่งไทยมีศักยภาพการผลิตและส่งออก รวมทั้งแนวโน้มความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพที่เพิ่มขึ้นของสิงคโปร์ นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยได้ส่งเสริมการส่งออกอาหารนวัตกรรมหรืออาหารแห่งอนาคตตามแนวทาง BCG ของไทย อาทิ โปรตีนทางเลือกและเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช พร้อมเชิญชวนสิงคโปร์นำเข้าสินค้าดังกล่าว และเพิ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีด้านเกษตรและอาหารต่อไป สำหรับการหารือกับรัฐมนตรีการค้าสิงคโปร์ ได้หารือถึงประเด็นการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นภารกิจที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญและเห็นว่าสิงคโปร์มีความก้าวหน้าเรื่องนี้ สำหรับการพบกับผู้บริหารสมาคมสตาร์ทอัพของสิงคโปร์ (ACE) ได้รับทราบแนวทางพัฒนาระบบนิเวศที่สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพของสิงคโปร์ โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายและความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ซึ่งไทยสามารถนำมาใช้เป็นแบบอย่างได้ โดยจะนำไปต่อยอดสนับสนุนผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทุกระดับก้าวสู่การค้าออนไลน์ และใช้ประโยชน์จาก e-Commerce ให้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้หารือกับ Shopee ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ของสิงคโปร์ ซึ่งได้รับความนิยมสูงในไทย โดยเห็นว่าผู้ประกอบการจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และจะสามารถส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบันสิงคโปร์มีบริษัทสตาร์ทอัพกว่า 4,000 ราย และก้าวสู่การเป็นบริษัทยูนิคอร์น 25 ราย อาทิ แกร้ป นินจาแวน และ Sea Limited โดยนอกจากสตาร์ทอัพด้านการเงิน ยังมีธุรกิจด้านชีววิทยาศาสตร์ (life sciences) และธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตรและอาหารแห่งอนาคต ซึ่งสิงคโปร์จะผลักดัน เนื่องจากเห็นว่าเป็นสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะสามารถสร้างความร่วมมือกับไทยต่อไปได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในอาเซียน ในช่วงเดือนมกราคม - สิงหาคม 2565 การค้าระหว่างไทยกับสิงคโปร์ มีมูลค่า 436,110.42 ล้านบาท โดยไทยส่งออกมูลค่า 241,725.34 ล้านบาท (+34.9%) และไทยนำเข้ามูลค่า 194,385.08 ล้านบาท (+27.9%) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกและนำเข้าสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ส่วนสินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกไปสิงคโปร์ อาทิ ไก่แปรรูป เครื่องดื่ม และข้าว

 

นายสนั่น อังอุบลกุล

ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

3. กกร. รื้อเป้าจีดีพีโต 3-3.5% (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 5 ตุลาคม 2565)

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2565 อยู่ในกรอบ 3-3.5% เพิ่มขึ้นจากเดิมคาดไว้โต 2.75-3.5% มูลค่าการส่งออกคาดโตในกรอบ 7-8% เพิ่มขึ้นจากเดิมคาดไว้โต 6-8% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดโตในกรอบ 6-6.5% เพิ่มขึ้นจากเดิมคาดไว้โต 5.5-7% ทั้งนี้ เนื่องจากได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีจากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดในเดือนสิงหาคม อยู่ที่ 1.17 ล้านคน และคาดว่าทั้งปี 2565 มีโอกาสแตะระดับ 9-10 ล้านคน ส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว แต่ยังต้องติดตามภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงกระทบกำลังซื้อของครัวเรือน และความเสี่ยงต่อรายได้ภาคเกษตรจากน้ำท่วม ทั้งนี้ ภาคเอกชนเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ ซึ่งคาดการณ์ความเสียหายรวมทั้งประเทศประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะโซนเมืองในหลายจังหวัด เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจกระทบต่อความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชาชน รวมถึงภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบบ้างในพื้นที่เพาะปลูกข้าว แต่โดยรวมยังไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจมากนัก ส่วนผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมประกอบการยังมั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ กกร. กทม. ยังประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยืนอยู่ในระดับสูง ต้นทุนนำเข้าสูงขึ้นจากเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศยังไม่สามารถลดลงได้มากนัก ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน ทั้งยังมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำและยังมีแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าที่คาด ยุโรปเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยด้วย

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. เวียดนามฝันนั่ง ‘ฮับ’ อุตฯ เทคโนโลยีหลังซีโร่โควิดทำ 'จีน' หมดเสน่ห์ (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2565)

สำนักข่าวเวียดนาม เปิดเผยว่า เวียดนามเตรียมชิงฐานะศูนย์กลางการผลิตผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีแทนที่จีนที่กำลังเจอปัญหาบริษัทต่างชาติจำนวนมากพากันถอนฐานการผลิตออกจากจีน เพราะผลกระทบจากการใช้มาตรการกำจัดการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ของรัฐบาลปักกิ่ง โดยล่าสุด บริษัทแอปเปิล กูเกิล และซัมซุงอยู่ในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีที่เพิ่มการผลิตในเวียดนามที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วที่สุด ทั้งนี้ มาจากการล็อกดาวน์ในหลายเมืองของจีน รวมถึงเมืองศูนย์กลางการผลิตอย่างเสิ่นเจิ้นและเทียนจิน ทำลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกอุตสาหกรรม ประชาชนซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคภัณฑ์ อาหาร หรือท่องเที่ยวได้น้อยลง ทำให้ภาคบริการสำคัญตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน สำหรับเวียดนามเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศยากจนที่สุดในโลกก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเทคโนโลยีหลังจากประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นรูปแบบเสรี ในช่วงปลายปี 2523 หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้เศรษฐกิจของประเทศหดตัวมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษเมื่อปีที่แล้ว เวียดนามก็เลิกใช้นโยบายซีโร-โควิดอย่างสิ้นเชิงและใช้นโยบายอยู่ร่วมกับโรคระบาดนี้อย่างเป็นทางการหลังจากรณรงค์ฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัว 7.2% ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในปี2564 เมื่อเทียบกับจีน ที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่ามีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2.8% ซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามส่วนใหญ่ได้อานิสงส์จากการส่งออก โดยช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกของเวียดนามมีมูลค่า 186,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่า 17% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่นโยบายกำจัดโควิดเป็นศูนย์ของทางการจีนบั่นทอนความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนอย่างมาก และทำให้นักลงทุนต่างชาติหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในเวียดนามแทน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)