ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ‘สุริยะ’ เดินหน้าพลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย (ที่มา: สำนักข่าวไทย, ประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการเปิดประเทศ ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มมากขึ้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และการบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น ดังนั้น ก้าวใหม่ของอุตสาหกรรมไทยในยุคความปกติถัดไป (Next Normal) จะต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมศักยภาพของประเทศ หรือเป็นห่วงโซอุปทาน (Supply Chain) ให้กับอุตสาหกรรมศักยภาพ และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำมาตรการและแนวทางการเพิ่มผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย เนื่องจากเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการวางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ได้กำหนดเป้าหมายให้ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในอัตราร้อยละ 4.6 และมีการขยายตัวของผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอัตราร้อยละ 2.2

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สศอ. อยู่ระหว่างการดำเนิน “โครงการติดตามผลสัมฤทธิ์การดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม พ.ศ.2560-2564” เพื่อจัดทำมาตรการและแนวทางการเพิ่มผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยได้ศึกษาแนวทางการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมีบริบทใกล้เคียงกับประเทศไทย อาทิ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ มาใช้เป็นแนวทางในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ สศอ. ยังได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงได้ผนึกกำลังเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ และภาคส่วน ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมายก (ร่าง) มาตรการและแนวทางการเพิ่มผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้รองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยในอนาคต

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2. เอกชนหารือคลัง หาช่องทางแก้วิกฤตเศรษฐกิจ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 10 ตุลาคม 2565)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ท่ามกลางความผันผวนและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญปัญหา Perfect Storm ทั้งปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าพลังงานที่แพง สงครามรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อจนส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นโดยเฉพาะค่าแรงที่ปรับขึ้น และเงินบาทอ่อนค่าที่แม้จะดีต่อการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ในภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากการนำเข้า เป็นต้น สำหรับแนวทางการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม ส.อ.ท. คือ การเปลี่ยนเกม ที่จะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนทั้งอุตสาหกรรมเดิม (First Industries) ที่ประกอบด้วย 45 กลุ่มอุตสาหกรรม (11 คลัสเตอร์) 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด (5 ภาค/คลัสเตอร์จังหวัด) และอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Next-GEN Industries)ที่ประกอบด้วย 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curves) อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) และการผลักดันเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้เข้าร่วมการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางและมาตรการรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงและผู้แทนจากหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. ได้นำเสนอแนวทางและมาตรการรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนี้ 1. การแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าและต้นทุนพลังงานแพง 2. การอำนวยความสะดวกในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตมากขึ้น 3. การสนับสนุนการยกระดับเกษตรอุตสาหกรรมผ่านโครงการการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Agriculture Industry (SAI) 4. การส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ในด้าน Go Digital การนำดิจิทัลมาช่วยยกระดับศักยภาพทางธุรกิจ รวมทั้ง Go Innovation การส่งเสริมให้ SMEs เข้าถึงนวัตกรรมและงานวิจัยมากขึ้น และ 5. Go Global การสร้างและขยายโอกาสในตลาดต่างประเทศ

 

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

3. ไทยกระชับสิงคโปร์ วาง 8 กรอบเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2565)

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบท่าทีไทย สำหรับการประชุมกรอบความร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสิงคโปร์ (Singapore-Thailand Enhanced Economic Relationship : STEER) ครั้งที่ 6 โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 ณ กรุงเทพมหานคร ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อให้คณะผู้แทนไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วมฝ่ายไทยใช้เป็นกรอบในการหารือกับฝ่ายสิงคโปร์ ทั้งนี้ การประชุม STEER ครั้งที่ 6 มุ่งหารือการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในธุรกิจ BCG การส่งเสริมความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยได้กำหนดท่าทีในการประชุมไว้ดังนี้ 1. ด้านสินค้าเกษตร มุ่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า และอำนวยความสะดวกในการส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหาร ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ 2. ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ 3. ด้านการลงทุน มุ่งเชิญชวนนักลงทุนสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในเขต EEC 4. ด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า พัฒนาความร่วมมือของกรมศุลกากรไทยและสิงคโปร์ 5. ด้านการท่องเที่ยว หารือการจัดตั้งคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวทางเรือสำราญ 6. ด้านการบิน ติดตามความคืบหน้าความร่วมมือด้านการบิน 7. ด้านทรัพย์สินทางปัญญา พิจารณาจัดทำบันทึกความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา แผนการดำเนินงานในปี 2566-2567 และ 8. ความร่วมมือสาขาใหม่ แนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานและด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม สำหรับประโยชน์จากการประชุม STEER ครั้งนี้ เพื่อขยายโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ การเชิญชวนให้สิงคโปร์ขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ซึ่งปัจจุบันสิงคโปร์เป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของไทย และเป็นอันดับ 4 ของไทยในกลุ่มอาเซียนรองจากมาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยกระทรวงพาณิชย์ เตรียมจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจคู่ขนานกับการประชุมดังกล่าว เพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและสิงคโปร์

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. เฟด สาขาแอตแลนตา เปิดแบบจำลองคาดการณ์ ศก.สหรัฐฯ Q3 โต 2.9% (ที่มา: ศูนย์ข่าวแปซิฟิค, ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2565)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 3 ขยายตัว 2.9% โดยเฟดสาขาแอตแลนตา จะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2565 ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 1 หดตัว 1.6% ไตรมาส 2 เติบโต 0.6% ซึ่งการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ทั้งนี้ ทางด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธาน เฟด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การบรรลุภารกิจในการควบคุมเงินเฟ้อของเฟด อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจะยังไม่พิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมั่นใจว่าตัวเลขเงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (NBER) เป็นหน่วยงานในการตัดสินเกี่ยวกับการขยายตัวหรือการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยจะมีการพิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การจ้างงานการบริโภค การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และรายได้ส่วนบุคคล ก่อนที่จะประกาศอย่างเป็นทางการ

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)