ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ก.อุตฯ อวดความสำเร็จต้นแบบแบตเตอรี่โซเดียมไอออนสำหรับรถ EV (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 21 ตุลาคม 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี(Innovation-Driven Entrepreneurship) ผสมผสานกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามนโยบาย BCG Model (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) โดยการพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพให้ นำกลับมาใช้เป็นแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก(Second Life Electric Vehicle Batteries for Small Electric Vehicles) รวมทั้ง การพัฒนาต้นแบบรถกอล์ฟไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ ไฟฟ้าดัดแปลง(EV Conversion) ซึ่งสอดคล้องกับ นโยบายรัฐบาลที่ผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ทั้งนี้กระทรวงฯ ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยมีการจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เป็นศูนย์กลางการออกแบบ วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลผลการทดสอบ พบว่า แบตเตอรี่ดังกล่าวจะมีอายุการใช้งานเทียบเท่ากับระยะเวลาการรับประกันแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใหม่ หรือไม่น้อยกว่า 8 ปี และสำหรับแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล เพื่อนำลิเทียมและสารประกอบโลหะในแบตเตอรี่กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่ใหม่ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในไทย นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาแบตเตอรี่ทางเลือกที่ไทย โดยนำแร่เกลือหิน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่พบมากในไทยนำมาผลิตเป็นแบตเตอรี่โซเดียมไอออนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และได้นำมาใช้งานได้จริงในจักรยานไฟฟ้าต้นแบบ (E-Bike) นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกในอาเซียน ซึ่งผลงานครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญในการรองรับนโยบายรัฐบาล ที่ส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้สามารถรักษาตำแหน่งการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และก้าวไปสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตได้

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

2. ส.อ.ท.ปั้นอุตฯ บรรจุภัณฑ์ไทย ดันผู้ประกอบการบุกตลาดใหญ่ทั่วโลก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 20 ตุลาคม 2565)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การพิมพ์ การบรรจุภัณฑ์ และการผลิตกระดาษลูกฟูกเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างมากต่อหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งมีอานิสงส์ทั้งการสร้างแรงจูงใจในการเลือกซื้อสินค้า การตลาด การคงไว้ซึ่งคุณภาพของสินค้า อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือขยายธุรกิจที่สำคัญทั้งในกลุ่มเอสเอ็มอี ไปจนถึงธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ และจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยขณะนี้ถือว่ามีผู้พัฒนาเทคโนโลยีและผู้ให้บริการธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มในแง่ปริมาณ และในเชิงศักยภาพเป็นจำนวนมาก และเป็นเจ้าตลาดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากไทยมีคลัสเตอร์ที่แข็งแกร่ง เป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพการผลิตสามารถตอบโจทย์ได้หลากหลายอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีผู้ให้บริการที่ครบวงจร ซึ่งความได้เปรียบเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากที่จะพาให้ผู้ประกอบการหลายรายสามารถก้าวไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น ทั้งนี้ ในช่วงที่ทั่วโลกกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ตามปกติ ส.อ.ท.จึงมีเป้าหมายที่จะยกระดับให้การพิมพ์ การบรรจุภัณฑ์ และการผลิตกระดาษลูกฟูกของไทยสามารถแข่งขันได้มากขึ้น โดยนอกจากการยกระดับการผลิต-บริการให้สอดรับกับอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศและอาเซียนแล้ว ยังมีเป้าหมายพาผู้ประกอบการไปสู่ตลาดการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ขึ้นอย่างทวีปเอเชีย และในตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดเอเชียที่ขณะนี้มีความสดใสในด้านกำลังซื้อจากการขยายตัวของเมืองที่รวดเร็ว เช่น อินเดีย จีน เวียดนาม รวมถึงกลุ่มผู้มีอำนาจซื้อที่เกิดใหม่ที่สำคัญ เช่น เจเนอเรชั่น Z กลุ่มผู้บริโภครักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มที่เน้นความสะดวกจากช่องทางอี-คอมเมิร์ซ ตลอดจนยังมุ่งส่งเสริมให้เกิดการผลิตและให้บริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงหลังจากวิกฤตการณ์สุขภาพ ซึ่งสิ่งที่ทั่วโลกกำลังมองหาคือความน่าเชื่อถือ การไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกและหลายประเทศคู่ค้าของไทยกำลังให้ความสนใจกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและการปรับตัวที่สำคัญกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผู้ผลิตกระดาษลูกฟูก และผู้พัฒนาด้านการพิมพ์ ทั้งนี้ มีการระบุว่า 80% ของผู้บริโภคตัดสินใจเลือกใช้-ซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแม้จะมีราคาที่สูงขึ้น ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมการดำเนินงาน การขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของทั้ง 3 อุตสาหกรรมในเวทีโลกควบคู่กันไปด้วยเช่น

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

3. ศก.ฟื้นลุ้นลงทุนจริงปีนี้ 5 แสนล. (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2565)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และแถลงถึงนโยบายบีโอไอภายหลังเข้ารับตำแหน่งว่า บอร์ดบีโอไอรับทราบถึงสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนของปีนี้ (มกราคม-กันยายน 2565) 1,247 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8% มูลค่ารวม 439,090 ล้านบาท ลดลง 14% เนื่องจากปีที่ผ่านมามีโครงการขนาดใหญ่ในกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้ายื่นกว่า 1.5 แสนล้านบาท มั่นใจว่าตลอดปี 2565     จะมียอดคำขอถึง 600,000 ล้านบาท ขณะที่สถิติการออกบัตรส่งเสริม เป็นขั้นตอนใกล้เคียงลงทุนจริงมากที่สุดช่วง 9 เดือนมีการออกบัตรส่งเสริม 1,101 โครงการ เพิ่มขึ้น 17% มูลค่ารวม 357,552 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% เป็นสัญญาณว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงมากขึ้น โดยปีนี้ตัวเลขลงทุนจริงคาดว่าจะถึง 500,000 ล้านบาท เนื่องจากโควิดคลี่คลาย กิจกรรมเศรษฐกิจกลับมา ผู้คนออกมาใช้ชีวิต เกิดดีมานด์ นักลงทุนเห็นโอกาส จึงตัดสินใจ ตั้งโรงงานเร็วขึ้น ใช้เวลาเพียง 1 ปี จากปกติ 2-3 ปีตามอายุบัตรส่งเสริม สำหรับอุตสาหกรรมที่โดดเด่น คือ ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ และเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ ในส่วนของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) มีมูลค่ารวม 275,624 ล้านบาท โดยการลงทุนจากจีน รองลงมาคือไต้หวันและญี่ปุ่น ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม บอร์ดบีโอไอยังเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566-2570) เพิ่มขีดความสามารถประเทศ หลังจากนี้จะจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่อไป โดยมุ่ง 7 หมุดหมาย อาทิ ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เร่งเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ Smart & Sustainability ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค พร้อมปรับบทบาทบีโอไอเพิ่มบูรณาการ ประสานงาน เชื่อมโยงระหว่างนักลงทุน โดยภายในสิ้นปีนี้มีแผนจะเร่งชักจูงการลงทุนประเทศญี่ปุ่น ในฐานะลงทุนรายสำคัญ ส่วนจีนต้องรอนโยบายเปิดประเทศก่อน

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. เวียดนามมั่นใจเติบโตสูงสุดในอาเซียน (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 21 ตุลาคม 2565)

นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เปิดเผยว่า มั่นใจว่าเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้จะเติบโตได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ และในปีหน้าเวียดนามจะยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเวียดนามผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 เรียบร้อยแล้ว โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีเวียดนามปี 2565 จะขยายตัว 8% มากกว่าที่บลูมเบิร์กเคยคาดการณ์ไว้ที่ 7.3% และในปีหน้าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโต 6.5% ทั้งนี้ เศรษฐกิจเวียดนามในปี 2566 จะเผชิญความท้าทายและอุปสรรคมากมาย เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนี้ ในการประชุมสภาแห่งชาติประจำปี นายจิ๋งห์แถลงนโยบายเศรษฐกิจปีหน้าว่า จะมุ่งเน้น  ไปที่การฟื้นฟูประเทศที่เสียหายจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อันเป็นผลจากมาตรการปิดประเทศ และปิดโรงงานอุตสาหกรรม ผนวกกับการที่ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกชะงักตัว

อย่างไรก็ตาม เวียดนามเริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตั้งแต่รัฐบาลยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น และสามารถส่งออกได้มากขึ้น ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3 เวียดนามรายงานตัวเลขจีดีพีที่ขยายตัวถึง 2 หลัก โดยรัฐบาลพยายามสร้างสมดุลระหว่างการควบคุมเงินเฟ้อ ปกป้องครัวเรือนจากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อ และรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลเวียดนามประเมินอัตราเงินเฟ้อในปี 2566 จะอยู่ที่ 4.5% ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจาก 4% ในปีนี้

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)