ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนตุลาคม 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. สั่งกรอ. คุมเข้มน้ำทิ้งโรงงาน หวั่นลักลอบปล่อยช่วงน้ำท่วม (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ดูแลการระบายน้ำจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้ลักลอบระบายน้ำเสียที่ยังไม่ได้บำบัด ออกมาในช่วงน้ำท่วมนี้ พร้อมสั่งกำชับโรงงานให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และข้อกฎหมายที่กำหนด เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมประชาชนที่กำลังเดือดร้อน นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้กำกับดูแลโรงงานที่ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าบีโอดี ค่าซีโอดี ออนไลน์ (การตรวจวัดค่าความสกปรกของน้ำระบายออกจากโรงงานด้วยเครื่องวิเคราะห์ของน้ำสุดท้ายก่อนระบายออกนอกโรงงาน) ที่ระบายน้ำทิ้งตั้งแต่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และข้อกฎหมายที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานประเภทนี้ 300 โรงงาน ใน 40 จังหวัด ในจำนวนนี้อาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 150 โรงงาน จึงต้องตรวจสอบการระบายน้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน

 

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้กองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานของ กรอ.เพิ่มประสิทธิภาพกำกับการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงาน ด้วยการทวนสอบ เครื่องตรวจวัดค่าบีโอดี ค่าซีโอดี ออนไลน์ เพื่อให้ข้อมูลที่ส่งมายังระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกล ให้มีความถูกต้องเทียบเท่าวิธีมาตรฐาน

 

นายวันชัย พนมชัย

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

 

2. ฟันธงอุตฯ ปี 66 ไปต่อได้แน่ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2565)

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานงานประจำปีโอไออี ฟอรัม 2022 วิกฤติพลิกโอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมไทย จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า อุตสาหกรรมไทยเผชิญกับความท้าทายใหม่รองรับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง รวดเร็วและซับซ้อนมาก โดยการขับเคลื่อนระยะต่อไป ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ได้เร่งดำเนินนโยบายนำนวัตกรรมเพิ่มมูลค่า และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เพื่อยกระดับภาคเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะและอุตสาหกรรมก้าวสู่ 4.0 เพื่อความยั่งยืนทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ต้องสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในภาคเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนาการแปรรูปสินค้าเกษตรและยกระดับไปสู่ผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมเกษตรแปรรูป นำอินเตอร์ ออฟ ทิงส์ มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการการผลิต การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ในปี 2566 คาดว่า หลายอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวตามอุปสงค์ในประเทศ และต่างประเทศหลังโควิด-19 คลี่คลาย เช่น กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงยางล้อ กลุ่มเครื่องมือแพทย์ ที่ยังมีความต้องการต่อเนื่อง กลุ่มปิโตรเคมี และเชื่อว่าปีหน้าภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวดีขึ้นมากกว่าปีนี้ โดยประมาณการขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม หรือจีดีพี ภาคอุตฯ ขยายตัวสูงกว่าปีนี้ ที่คาดว่า ขยายตัว 2-3% ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือเอ็มพีไอ คาดว่า ขยายตัวสูงกว่าปีนี้ที่ประมาณการว่า ขยายตัว 1.5-2.5%

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

3. บีโอไอผนึกหอการค้าดันไทยขึ้นศูนย์กลางธุรกิจภูมิภาค (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2565)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ได้นำคณะผู้บริหารบีโอไอเข้าพบและหารือกับนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหาร โดยได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างบีโอไอกับหอการค้าไทย เพื่อร่วมขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการลงทุน มุ่งสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศไทยตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566-2570) ทั้งนี้ บีโอไอมองเห็นความสำคัญของการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน เพื่อผนึกกำลังกันผลักดันให้เกิดการยกระดับภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนที่จะนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจใหม่ ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า ภายใต้ 3 แนวคิด Innovative, Competitive และ Inclusive อีกทั้งจะร่วมมือกันผลักดันการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน และเป็นศูนย์กลางธุรกิจของภูมิภาคได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ บีโอไอและหอการค้าไทยจะจัดตั้งกลไกการทำงานร่วมกัน เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ โดยเฉพาะ เอสเอ็มอี ได้เข้าถึงมาตรการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบีโอไอด้วย สำหรับประเด็นสำคัญในการหารือร่วมกับหอการค้าไทย คือ การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ระหว่างประเทศ และประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค การยกระดับเอสเอ็มอีให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่การผลิตระดับโลก และพร้อมปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการสนับสนุนให้บริษัทใหญ่ ที่มีศักยภาพเข้ามามีบทบาทในการช่วยพัฒนาเอสเอ็มอี รวมทั้งช่วยพัฒนาชุมชนและสังคม

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ประเทศไทยมีความได้เปรียบในการดึงดูดการลงทุนจากประเทศต่างๆ หอการค้าฯ เห็นด้วยกับบีโอไอที่ต้องทำกิจกรรมในเชิงรุก เพื่อดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะประเทศเป้าหมาย อาทิ จีน ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยเทคโนโลยี และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ จะทำให้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ประสบความสำเร็จ

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ECB ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด แม้เพิ่มความเสี่ยง ศก.ถดถอย (ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, ประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2565)

ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เมื่อวันพฤหัสบดี (27 ตุลาคม 2565) และให้คำมั่นจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของ 19 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรหรือ ยูโรโซน ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.5% นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมา 3 ครั้งติดต่อกัน แม้ว่ามาตรการนี้จะทำให้กลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจก็ตาม โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมนั้น ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ของ ECB และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า การดำเนินการของ ECB อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญสูงสุดต่อการรักษาเสถียรภาพของราคา ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยอาจจะกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่นี่เป็นความเสี่ยงที่เราจำเป็นต้องรับไว้ เนื่องจากการรักษาเสถียรภาพของราคาถือเป็นหลักการพื้นฐานสำคัญ

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)