ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนพฤศจิกายน 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ส่งออกขยายตัวหนุนดัชนี MPI โต 3.36% (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่องโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 97.90 ขยายตัว 3.36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีผลมาจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการส่งออก สะท้อนได้จากการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 รวมถึงการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี อาทิ เบียร์ เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ ประกอบกับสถานการณ์เงินเฟ้อชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนกันยายนที่ขยายตัว 7.9% ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ขยายตัว 8.7% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดของปี 2565 ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) เดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 19,710.60 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.92% เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 22 ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีมาตรการป้องกัน ช่วยเหลือ ฟื้นฟู สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งได้กำชับและมอบหมายให้ทุกหน่วยงานลงพื้นที่มอบถุงยังชีพให้ประชาชนที่เดือดร้อนเป็นการด่วน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า ดัชนี MPI เดือนกันยายน 2565 ขยายตัว 3.36% และไตรมาส 3 ปี 2565 ขยายตัว 8.06% ส่งผลให้ 9 เดือนแรก ปี 2565 ขยายตัว 2.83% อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกในเดือนกันยายน 2565 ได้แก่ ยานยนต์ จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดกลาง และรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นและสามารถผลิตได้ต่อเนื่อง น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวจากการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวตามการเติบโตของตลาดโลก ทั้งนี้ จากการใช้เครื่องมือระบบเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) พบว่า คาดการณ์ดัชนี MPI เดือนตุลาคม 2565 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และทั้งปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.5% มาจากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ การส่งออกจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดอาเซียน และตะวันออกกลาง เช่น ประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) และออสเตรเลีย

 

นายชัยชาญ เจริญสุข

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

 

2. สรท. ลุ้นส่งออกปี 65 โต 9% แนะเร่งเจรจา FTA-แก้ก.ม.ถ่ายลำ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565)

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกันยายน 2565 เทียบเดือนเดียวกันของปีก่อน การส่งออกมีมูลค่า 24,919.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.8% หรือคิดเป็น 888,371 ล้านบาท ขยายตัว 16.4% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน อาวุธยุทธปัจจัย พบว่า การส่งออกเดือนกันยายน ขยายตัว 9.0%) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,772.5 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.6% และมีมูลค่าในรูปเงินบาท 929,732 ล้านบาท ขยายตัว 24.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยเดือนกันยายน 2565 ขาดดุล 853.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 41,361 ล้านบาท สำหรับภาพรวมช่วง 9 เดือนของปี 2565 เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ไทยส่งออก 221,366.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.6% หรือคิดเป็น 7,523,817 ล้านบาท ขยายตัว 21.3% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน อาวุธยุทธปัจจัย พบว่า การส่งออก 9 เดือนของปี 2565 ขยายตัว 8.6%) ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 236,351.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 20.7% และมีมูลค่าในรูปเงินบาท 8,148,602 ล้านบาท ขยายตัว 32.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยช่วง 9 เดือนของปี 2565 ขาดดุล 14,984.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 624,785 ล้านบาท ทั้งนี้ สรท.คาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2565 อยู่ที่ 8% และมีโอกาสขยายตัว 9% หากไตรมาส 4 การส่งออกมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามหากจะให้ขยายตัว 10% ภาวะเศรษฐกิจและการส่งออกต้องขยายตัวมากกว่านี้ ซึ่งมองว่าเป็นไปได้ปานกลาง ถึงน้อย ส่วนการส่งออกปี 2566 คาดการณ์ไว้ที่ 2-5% (ณ เดือนพฤศจิกายน 2565)

อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยปัจจัยเสี่ยงปี 2565 ได้แก่ 1. อัตราเงินเฟ้อของประเทศคู่ค้าสำคัญมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2. ดัชนีภาคการผลิตในประเทศคู่ค้า อาทิ สหรัฐ ยุโรป จีน เกาหลีใต้ เริ่มส่งสัญญาหดตัวลดลงเล็กน้อยในเดือนกันยายนและตุลาคม 3. ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง ส่งผลถึงต้นทุนการผลิต ในภาคอุตสาหกรรมและการดำรงชีวิตภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก 4. วัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ ข้าวสาลี ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน ปุ๋ย และ 5. การขาดแคลนชิพเริ่มคลี่คลายในช่วงเดือนที่ผ่านมา แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในภาคการผลิตที่มีชิพ   เป็นส่วนประกอบสำคัญ ทั้งนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ 1. เร่งดำเนินการ ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่สำคัญ 2. ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย รักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับเหมาะสม เพื่อประคองการฟื้นตัวภาคธุรกิจ และไม่เป็นการซ้ำเติมรายจ่ายผู้บริโภคและต้นทุนผู้ประกอบการมากเกินไป 3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายลำ และเร่งทำความเข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ชัดเจน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการรับส่งสินค้าของอาเซียน (ASEAN Logistic Hub) เพื่อดึงดูดเรือแม่เข้ามาให้บริการแบบ Direct Call มากขึ้น

 

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล

รักษาการผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์

 

3. สถาบันยานยนต์จับมือกับเกาหลีใต้พัฒนาแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565)

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล รักษาการผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า สถาบันยานยนต์ (สยย.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOC (Memorandum Of Cooperation) ด้านการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมกับนายคิม แจฮง ประธานของ Korea Conformity Laboratories (KCL) ประเทศเกาหลีใต้ โดยความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ เทคโนโลยีด้านการทดสอบ การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านวิศวกรรม การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญทางด้านการประเมินผลการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า และการพัฒนามาตรฐานการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย และประเทศเกาหลีใต้ ให้เดินหน้าไปพร้อมๆ กัน อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อเนื่อง สำหรับพิธีลงนามในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 นับจากการลงนามความร่วมมือกับ KCL เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา โดยครั้งนั้นเป็นการลงนาม MOU ผ่านระบบ Video Conference เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ครั้งนี้เป็นการลงนาม MOC เพื่อ กำหนดกรอบความร่วมมือที่ลงลึกในรายละเอียดของความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจน และยังเป็นการแสดงเจตจำนงในความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม สถาบันยานยนต์พร้อมเดินหน้าพัฒนาภารกิจในการสร้างเสริมศักยภาพศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อการเป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้และพัฒนาด้าน Mobility ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตสู่สังคมต่อไปในอนาคต

 

ข่าวต่างประเทศ

4. เศรษฐกิจจีนต.ค.อ่อนตัวส่งซิกขาลง (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565)

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต และภาคอื่นๆ นอกเหนือจากภาคการผลิตเดือนตุลาคม ปรับตัวลงแตะระดับ 49.2 และ 48.7 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ โดยการที่ตัวเลขต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของจีนอยู่ในภาวะหดตัว ทั้งนี้ ทางด้าน  นาย Raymond Yeung หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Greater China at Australia & New Zealand Banking Group กล่าวว่า ตัวเลขดัชนี PMI ล่าสุดยังไม่สามารถบ่งบอกถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้ แม้ว่าข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 จะออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม เนื่องจากจีนยังเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่า จะเป็นการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ และการส่งออกที่หดตัวลง โดยในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจจีนขยายตัว 3.9% แต่สัญญาณความอ่อนแอยังคงมีให้เห็น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แย่ลง ทำให้ประชาชนและธุรกิจต้องหยุดชะงักลงอีกครั้ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม 2565 ประเทศจีนรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ 2,600 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนักเศรษฐศาสตร์จาก Nomura Holdings คาดการณ์ว่า รัฐบาลจีนจะคงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ไว้จนถึงอย่างน้อยก็เดือนมีนาคม ปี 2566 พวกเขามองว่าจีนจะประกาศใช้มาตรการปิดเมือง หรือล็อกดาวน์ ที่มีความเข้มงวดขึ้น เนื่องจากกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว และอาจมีเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยคาดการณ์เพิ่มเติมว่า การเติบโตของการส่งออกจะค่อยๆ ลดลง และวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์จะแย่ลงไปอีก เพราะรัฐบาลจีนขาดวิธีแก้ปัญหาที่ครอบคลุม โดยดัชนีเบื้องต้นสำหรับยอดจำหน่ายรถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ พบว่าปรับตัวลงในเดือนตุลาคมเช่นเดียวกัน ขณะที่การส่งออกและความเชื่อมั่นของกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กก็หดตัว ทั้งหมดล้วนชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่ย่ำแย่

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)