ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้ามาแรง (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า งานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 39 หรือ Motor Expo 2022 ที่ปิดฉากลงไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมามีผู้เข้าชมงานสูงถึง 1.3 ล้านคน มียอดจองรถยนต์ภายในงานรวมทั้งสิ้น 36,679 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 จากปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท โดยเป็นยอดจองรถยนต์ไฟฟ้ามากถึง 5,800 คัน คิดเป็นร้อยละ 15     ของยอดรวมจองรถยนต์ แบ่งเป็น BYD 2,714 คัน ORA 1,212 คัน MG 600 คัน Neta 827 คัน Mine 32 คัน Volt 210 คัน Pocco 30 คัน Porsche 70 คัน Mercedes-Benz 30 คัน และอื่นๆ 75 คัน ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน มาตรการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐทำให้มีราคาลดลง ประกอบกับค่ายรถยนต์ต่างๆ มีการเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่แนะนำในช่วงงานหลายรุ่น ขณะที่ผู้บริโภคเริ่มให้ความเชื่อมั่นในมาตรฐานมากขึ้นรวมถึงแคมเปญกระตุ้นยอดขายของแต่ละค่ายที่อัดโปรโมชั่นแบบจัดเต็ม นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณการลงทุนจากค่ายรถต่างๆ เข้ามาประกอบกิจการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มียอดการผลิตรถยนต์ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2565 กว่า 1,534,754 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ12.36 ทำให้คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2565 ประเทศไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 1.75 ล้านคัน ได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกำหนดวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2568 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 225,000 คันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 10 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 2573 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 725,000 คันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ภายในปี 2573 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 อัตราต่อปี

 

นายสินิตย์ เลิศไกร

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

2. ไทยเนื้อหอมต่างชาติแห่ลงทุน "ญี่ปุ่น" ครองแชมป์ (ที่มา: เนชั่นออนไลน์, ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2565)

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานว่า ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม - พฤศจิกายน) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 530 ราย แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 198 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 332 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 112,466 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 5,008 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 137 ราย หรือ 26 % เงินลงทุน 39,000 ล้านบาท สิงคโปร์ 85 รายสัดส่วน 16 %เงินลงทุน 11,999 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 70 ราย 13 % เงินลงทุน 3,343 ล้านบาท ฮ่องกง 38 ราย สัดส่วน 7% เงินลงทุน 8,451 ล้านบาท และ จีน 25 ราย สัดส่วน 5 % เงินลงทุน 22,677 ล้านบาท ทั้งนี้ หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย เพิ่มขึ้น 30 ราย คิดเป็น 6 % (ปี 2565 อนุญาต 530 ราย ปี 2564 อนุญาต 500 ราย)  เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 47,884 ล้านบาท คิดเป็น 74% ก่อให้เกิดจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 5 ราย คิดเป็น 0.1% (ปี 2565 จ้างงาน 5,008 คน ปี 2564 จ้างงาน 5,003 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตฯ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย บริการขุดลอก ถมทะเล และก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น ศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics

 

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

 

3. “พาณิชย์” ชี้ช่อง “อาหารสัตว์เลี้ยงไทย” เจาะตลาดจีน (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 15 ธันวาคม 2565)

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ ทำการสำรวจลู่ทางการส่งออกให้กับสินค้าไทยไปยังประเทศต่างๆ ล่าสุดได้รับรายงานจาก น.ส.ชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงโอกาสในการขยายตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยเข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งปัจจุบันมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รองรับความต้องการเลี้ยงสัตว์ของชาวจีน ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง และของใช้ในชีวิตประจำวันของสัตว์เลี้ยงครองส่วนแบ่งตลาดในสัดส่วนที่มากที่สุด โดยผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงในจีนปี 2019 มีมูลค่า 105,800 ล้านหยวน หรือประมาณ 560,740 ล้านบาท และปี 2021 มูลค่าเพิ่มขึ้น เป็น 140,100 ล้านหยวน หรือประมาณ 742,530 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5.3 บาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจำนวนประชากรที่มีฐานะโสด มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความต้องการสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของจีน ส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ถูกครองโดยบริษัทต่างชาติ โดยอาหารหลัก Royal Canin ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13 รองลงมา Myfoodie ร้อยละ 8 PureNatural ร้อยละ 7 และ Orijen Cat & Kitten ร้อยละ 5 และอาหารว่าง Myfoodie ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 18 รองลงมา Wanpy , FancyFeast และ Frisian ครองส่วนแบ่งประมาณร้อยละ 5 แต่อุตสาหกรรมของจีนเริ่มมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทำให้เข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีน เป็นตลาดที่น่าจับตาสำหรับผู้ประกอบการไทย เพราะยังมีโอกาสอีกมาก โดยการเปิดตลาด สามารถทำได้หลายช่องทาง ทั้งผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังในจีน หรือช่องทางอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน โดยการร่วมมือกับพันธมิตร คู่ค้าที่น่าเชื่อถือได้ในจีน และเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการค้ากับเทศกาลสำคัญของแพลตฟอร์มออนไลน์ การทำคลิปวิดีโอสั้น การร่วมกับผู้มีชื่อเสียงท้องถิ่นในการแนะนำสินค้า รวมทั้งการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติระดับประเทศทั้งในเมืองหลวง และเมืองรองต่างๆ เพื่อทดสอบตลาดในระยะเริ่มต้น ซึ่งปัจจุบันสามารถพบเห็นอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยวางจำหน่ายอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีนบ้างแล้ว อาทิ JD.com และ TaoBao เป็นต้น แต่ยังมีแบรนด์ที่ไม่หลากหลายเท่าที่ควร จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยรายใหม่ๆ จะเข้าสู่ตลาดได้เพิ่มขึ้น

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. เฟดขึ้นดบ.ต่อแม้เสี่ยงศก.ถดถอย (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 16 ธันวาคม 2565)

ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เปิดเผยว่า ได้มีการประกาศขึ้นดอกเบี้ย ครั้งที่ 7 ในปีนี้ ด้วยอัตรา 0.5% ตามการคาดการณ์ของตลาด พร้อมส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มถึงปีหน้าเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แม้มีความเสี่ยงที่ประเทศจะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ตาม โดยคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะขึ้นไปจุดสูงสุดที่ 5.1% ในปี 2566 ซึ่งมากกว่าที่นักลงทุนและตลาดคาดการณ์ไว้ และค่อนข้างไม่เห็นด้วยหากอัตราดอกเบี้ยจะขยับถึงระดับนั้น โดยก่อนหน้านี้ตลาดมองว่าดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะแตะระดับสูงสุดที่ 4.6% ทั้งนี้ ทางด้านเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางฯ ส่วนใหญ่ก็ประเมินว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะสูงถึงระดับดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่เพียง 2 คนจาก 19 คนเท่านั้น ที่คาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5.0% ในปีหน้า ซึ่งธนาคารกลางฯ ได้ส่งสัญญาณว่า การขึ้นดอกเบี้ยยังมีความจำเป็นอยู่ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางฯ ระบุว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในกรอบเป้าหมาย มีความเหมาะสมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินที่เข้มงวด ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2%  ตามที่ธนาคารฯ กำหนดไว้ ตั้งแต่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธนาคารกลางสหรัฐได้ทำการลดอัตราดอกเบี้ยลงจนมาอยู่ที่ระดับใกล้ 0.0% และต่อมาได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และยับยั้งปัญหาเงินเฟ้อ โดยในช่วงแรก ธนาคารกลางฯ ตั้งเป้าหมายให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับมาอยู่ที่ระดับ 4.25-4.50% ซึ่งถือเป็นดอกเบี้ยที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)