ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคม 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ทุ่มหมดตัวแจกของขวัญปีใหม่ (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงได้จัดของขวัญปีใหม่ 2566 ให้กับประชาชนใน 4 เรื่องประกอบด้วย 1. การสร้างความสำเร็จให้ภาคธุรกิจ 2. การดูแลสังคมโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม 3. การรักษาสิ่งแวดล้อม และ 4. การกระจายรายได้ให้กับประชาชน เพื่อมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน และขยายโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ ประกอบด้วยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมจำพวกที่ 2 และ 3 ทุกขนาด จำนวน 60,283 โรงงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คิดเป็นวงเงินรวม 282 ล้านบาท พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องจักร จำนวน 1,200 ราย คิดเป็นวงเงิน 2 ล้านบาท ขณะที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้มอบส่วนลดจากการจำหน่ายมาตรฐานของไอเอสโอ ในอัตรา 30% เพื่อช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน พร้อมทั้งให้บริการตรวจสอบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) จะทยอยจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ "ซื้อของไทย ใช้ของดี สร้างอาชีพเสริมธุรกิจที่ดีพร้อม" ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตส่งถึงมือผู้บริโภคโดยตรงภายใต้กลไก "ตลาดชุมชนดีพร้อม" คาดว่าจะกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ 12,000 ล้านบาท พร้อมจัดสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการด้วยสินเชื่อพิเศษ "ดีพร้อมเปย์" และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยจัดของขวัญเป็นบัตรแทนเงินสด สำหรับผู้ใช้บริการสินเชื่อสูงสุด 5,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ทางด้านกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ จัดกิจกรรมตรวจสุขภาพให้กับประชาชนโดยรอบพื้นที่ โดยปีนี้มีผู้เข้ารับการตรวจสุขภาพไปแล้ว 18,156 คน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะจัดหาเครื่องสางใบอ้อยให้ชาวไร่อ้อยยืมใช้งาน ในการตัดอ้อยสด 288 เครื่อง เพื่อเป็นการลดมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาอ้อยในฤดูการผลิต ปี 2565/66 ซึ่งชาวไร่อ้อยจะได้รับประโยชน์จากเครื่องสางใบอ้อย 600 รายทั่วประเทศ

 

นายภาสกร ชัยรัตน์

รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

 

2. ดีพร้อม ร่วม สสส. ลุย SHAP เฟส 3 หลังเพิ่มผลิตภาพเอสเอ็มอีกว่า 64 ล. (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2565)

นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ "ดีพร้อม" เปิดเผยว่า ปัจจุบัน SMEs ไทยมีจำนวนมากถึงร้อยละ 99.57 ของวิสาหกิจทั้งประเทศมีการจ้างงานกว่า 17,536,336 คน คิดเป็นร้อยละ 71.86 และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ SMEs มีมูลค่า 16,178,719 ล้านบาท คิดเป็นร้อย 34.6 ของ GDP ดังนั้น SMEs จึงมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในทุกมิติ ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างเสริมผู้ประกอบการให้คำนึงถึงความสำคัญของการทำงานอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีจะส่งผลดีโดยรวมต่อการเพิ่มผลิตภาพ ทั้งในด้านคุณภาพสินค้า การบริการ การลดความสูญเสียต่างๆ และยังทำให้ต้นทุนลดลง สามารถขนส่งสินค้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ตามกำหนด และสร้างความปลอดภัยในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้ง ยังรักษาพนักงานคุณภาพ ลดจำนวนการลาออก เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สำหรับโครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SHAP เป็นความร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. นำหลักการ Happy Workplace การสร้างผลิตภาพที่ยั่งยืน และเป็นองค์กรที่มีความสามารถในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2565 นี้ มีผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลวิสาหกิจต้นแบบ โครงการ SHAP ประจำปี 2564 ภายใต้โครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จากกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งสิ้น 37 ราย ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้จัดขึ้นเป็นระยะที่ 3 โดยจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยปัจจุบันมี SMEs เข้าร่วมโครงการแล้ว 80 แห่ง คณะทำงานสร้างสุของค์กร จำนวน 1,132 คน และมีกิจกรรมสร้างสุขแล้วทั้งสิ้น 1,152 กิจกรรม ในส่วนผลสำเร็จของโครงการ สามารถสร้างความสุขให้กับบุคลากรของ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการได้ อาทิ สามารถเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 107 คน สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 1,457,100 บาท และทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้ถึง 53 คน ลดค่าใช้จ่ายได้ 958,600 บาท ส่วนกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาที่มีพนักงานวิสาหกิจเข้าร่วม 4,317 คน ทำให้ลดค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนถึง 8.55 ล้านบาท จากการที่บุคลากร SMEs ได้ทำการ ลด ละ เลิก ในสิ่งไม่จำเป็นดังกล่าว ส่งผลให้สุขภาพของผู้เข้าร่วมโครงการดีขึ้น มีค่า BMI ดีขึ้น 1,448 คน

 

อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมข้อมูลและร่วมประเมินผล พบว่า ค่าความสุข (HAPPINOMETER) ใน 8 มิติ ก่อนการดำเนินโครงการ มีค่าความสุขอยู่ที่ร้อยละ 59.14 และหลังจากการดำเนินโครงการ ค่าเฉลี่ยความสุข เพิ่มมากขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 64.37 เพิ่มขึ้นเท่ากับร้อยละ 5.23 ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาผลิตภาพในมิติด้านคุณภาพ ต้นทุน การส่งมอบ ความปลอดภัยในการทำงาน ขวัญและกำลังใจของพนักงาน การจัดการสิ่งแวดล้อม จริยธรรมในการทำงาน โดยมีผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นมูลค่ารวมกว่า 64 ล้านบาท

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ตีปี๊บยอดผลิตรถยนต์ทุบสถิติในรอบ 44 เดือน (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 21 ธันวาคม 2565)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดการผลิตรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีทั้งสิ้น 190,155 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15% สูงสุดในรอบ 44 เดือน หลังได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น จึงสามารถผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกได้ 107,345 คัน เพิ่มขึ้นถึง 19.12% และผลิตเพื่อขายในประเทศได้ 82,810 คัน เพิ่มขึ้น 10.06% ส่งผลให้ภาพรวม 11 เดือนของปีนี้ (มกราคม - พฤศจิกายน 2565) มียอดรถยนต์ที่ผลิตได้ 1,724,909 คัน เพิ่มขึ้น 20.95% แบ่งเป็นยอดผลิตเพื่อส่งออกได้ 951,551 คัน เป็นยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 773,358 คัน เพิ่มขึ้น 41.33% โดยตลอดทั้งปี 2565 คาดว่าการผลิตรถยนต์จะทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ระดับ 1,750,000 คัน และมีโอกาสสูงที่ทะลุ 1,800,000 คัน ซึ่งเป็นเป้าหมายแรกที่เคยตั้งไว้ ส่วนปี 2566 คาดว่ายอดผลิตรถยนต์น่าจะอยู่ที่ 1,850,000-1,950,000 คัน แต่จะขอติดตามตัวเลขเดือนธันวาคม 2565 ก่อนสรุปตัวเลขอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ทั้งนี้ ในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ปี 2566 คาดว่า จะมียอดจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) ในประเทศ 25,000-35,000 คัน จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 8,000 กว่าคัน ซึ่งถือเป็นตัวเลขโตแบบก้าวกระโดดจากมาตรการสนับสนุนการใช้จากภาครัฐ และแนวโน้มตลาดของผู้ผลิตที่มีให้เลือกเพิ่มขึ้นจากค่ายใหญ่ระดับโลก โดยปี 2567 จะมีการตั้งฐานการผลิตรถยนต์อีวีในไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการวิเคราะห์ ว่าราคาอีวีในอีก 4 ปีข้างหน้า หรือปี 2569 จะเท่ากับรถยนต์สันดาปภายในหรือต่ำกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้ยอดผลิตรถยนต์เดือนพฤศจิกายน 2565 จะเพิ่มขึ้น แต่หากพิจารณาจากยอดขายรถยนต์ภายในประเทศอยู่ที่ 68,284 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.79% เพราะมีน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ 9 ล้านกว่าคน รวมทั้งนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศมีเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ส่งผลให้คนมีงานทำเพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ภาพรวม 11 เดือนมียอดขาย 766,589 คัน เพิ่มขึ้น 14.67% เช่นเดียวกับยอดส่งออกที่ 87,979 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.98%

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ศก.อังกฤษโตต่ำสุดใน G7 (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2565)

สำนักงานสถิติแห่งสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ผลผลิตมวลรวมภายใน ประเทศของสหราชอาณาจักรในไตรมาสที่สามของปีนี้ ปรับตัวลง 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสสองของปี และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเติบโต 0.5% โดยตัวเลขเศรษฐกิจนี้ชี้ให้เห็นว่าสหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) ในไตรมาสที่สามที่ผ่านมา ถึงแม้ตัวเลขจะมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อยจากการประกาศวันหยุดพิเศษสำหรับจัดพระราชพิธีพระบรมศพควีนเอลิซาเบธที่ 2 ในเดือนกันยายนก็ตาม ขณะที่การลงทุนในภาคเอกชนปรับตัวลง 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงสามเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ที่จะลดลง 0.5% ทั้งนี้ ทางด้านบริษัท Pantheon Macroeconomics ที่ปรึกษาด้านการวิจัยทางเศรษฐกิจ ประเมินว่า เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มที่จะทำผลงานได้ต่ำกว่าปกติ และจะประสบกับภาวะถดถอยที่ลึกที่สุดในกลุ่ม G7 ในปี 2566 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่สามที่ผ่านมานั้น ต่ำกว่าระดับการเติบโตในช่วงปลายปี 2562 ประมาณ 0.8% อีกทั้งยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ 0.4% ซึ่งสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจของชาติสมาชิกอื่นในกลุ่ม G7 ที่เริ่มฟื้นตัวแล้ว ด้านภาคบริการขยายตัว 0.1% ในไตรมาสที่สาม เป็นผลมาจากภาคการผลิตและการก่อสร้างปรับตัวลงในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ในส่วนของภาคการผลิตย่อยอีก 13 ภาค ก็ล้วนปรับตัวลงในไตรมาสที่ผ่านมา ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งสหราชอาณาจักร ขณะที่รายได้ครัวเรือนเมื่อปรับตามอัตราเงินเฟ้อก็หดตัวเป็นไตรมาสที่สี่ติดต่อกัน ทั้งนี้ จากผลสำรวจความคิดเห็นนักเศรษฐศาสตร์ของสำนักข่าวรอยเตอร์พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะหดตัวอีกครั้งในไตรมาสที่สี่ของปี ในขณะที่บางส่วนมองว่าประเทศจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)