ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนธันวาคม 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. สศอ. ปรับเป้า MPI เหลือโต 1% อุตฯ ปลายปีชะลอตัวจากวันหยุดยาว (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ปรับประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของทั้งปี 2565 ใหม่จากเป้าหมายล่าสุดที่ตั้งไว้ 1.9% มาเป็นขยายตัว 1% ขณะที่อัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม (GDP อุตสาหกรรม) ตั้งเป้าไว้ที่ 2% เนื่องจากภาพรวมของอุตสาหกรรมในช่วงเดือนสุดท้ายของปีจะชะลอตัวจากวันหยุดยาว ทั้งนี้ MPI เดือนพฤศจิกายน 2565 หดตัว 5.60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก โดยอุตสาหกรรมหลักที่ขยายตัวในเดือนพฤศจิกายน 2565 ยังคงเป็นยานยนต์ จากรถบรรทุกปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดกลาง ที่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง น้ำมันปาล์มจากน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หลังจากราคาปาล์มน้ำมันในปีก่อนปรับสูงขึ้นจึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงต้นและลูกปาล์ม ส่งผลให้ปี 2565 ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมากกว่าปีก่อน และเครื่องปรับอากาศที่กลับมาเร่งผลิตได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า MPI งวดเดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 95.11 ขยายตัว 1.55% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากการบริโภคในประเทศเป็นหลัก และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 62.63% สำหรับภาพรวมดัชนี MPI สะสม 11 เดือนของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 98.68 ขยายตัว 1.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสะสม 11 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 63.02% เป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สศอ. ได้คาดการณ์ดัชนี MPI ปี 2566 จะขยายตัว 2.5-3.5% และ GDP อุตสาหกรรม จะขยายตัว 2.5-3.5% จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศ มีทิศทางที่ดีขึ้น การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงปัญหาข้อจำกัดในการผลิตได้คลี่คลายลง

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

2. อียูคุมเข้ม 7 กลุ่มสินค้า เริ่ม 1 ต.ค. 66 กรมเจรจาฯ เตือนผู้ประกอบการปรับตัว (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2565)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการออก มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของสหภาพยุโรป (อียู) ว่า ล่าสุดการประชุม 3 ฝ่าย ระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ได้ข้อสรุปให้ขยายขอบเขตการบังคับใช้ CBAM จากเดิม 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า เพิ่มเป็น 7 กลุ่มสินค้า โดยรวมไฮโดรเจนและสินค้าปลายน้ำบางรายการ เช่น นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (indirect emissions) เช่น ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ ในการผลิตสินค้า ซึ่งได้ข้อสรุปในรายละเอียดสำคัญของมาตรการดังกล่าวแล้ว และจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ กรมขอให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องนำมารายงานอียูภายใต้มาตรการ และควรพิจารณาทางเลือกใหม่ ในกระบวนการผลิต เพื่อให้ปล่อยคาร์บอนต่ำ นำพลังงานสะอาด และหมุนเวียนมาใช้ เพื่อลดภาระในการซื้อใบรับรอง CBAM ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เช่น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงพาณิชย์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการไทยแล้ว ทั้งนี้ ในปี 2564 สถิติการส่งออกสินค้าของไทย ไปอียู ตามพิกัดสินค้าที่ระบุในร่างกฎหมาย CBAM ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า มีมูลค่า 125.42 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 3.76% ของการส่งออกไปโลก อะลูมิเนียม มูลค่า 61.17 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 3.75% ของการส่งออกไปโลก นอต และสกรู มูลค่า 95.89 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 19.96% ของการส่งออกไปโลก

 

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

3. กนอ.กำชับนิคมฯ ท่าเรืออุตสาหกรรม เฝ้าระวังอุบัติเหตุ ช่วงหยุดยาวปีใหม่ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2565)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้ กนอ. กำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรม 67 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง ใน 16 จังหวัดเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดยาวนั้นได้ขอความร่วมมือไปยัง นิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรมทุกแห่งให้เพิ่มความเข้มงวดเฝ้าระวังความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุ รวมถึงการบาดเจ็บจากกระบวนการผลิตที่มีการใช้สารเคมีอันตรายร้ายแรง (Highly Hazardous Chemicals) ตามระบบ "การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management : PSM)" ซึ่งเป็นมาตรการบริหารจัดการและส่งเสริมผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายร้ายแรง ซึ่ง กนอ. ได้ออกเป็นข้อบังคับฯ และมีผลบังคับใช้กับโรงงานที่เข้าข่ายในนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้นิคมฯ/ท่าเรืออุตสาหกรรมทุกแห่งมอบหมายให้พนักงานปฏิบัติงาน นอกเวลาทำการและช่วงวันหยุดยาวตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกำหนดมาตรการกำกับดูแล เฝ้าระวัง หากเกิดกรณีฉุกเฉิน โดยให้ประสานงานร่วมกันระหว่างสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม /ท่าเรืออุตสาหกรรม และศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ศสป.) กนอ.สำนักงานใหญ่ รวมถึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งกนอ. ในเรื่องของการรายงานข้อเท็จจริงกรณีเกิดเหตุ และติดตามสถานการณ์พร้อมทั้งรายงานเหตุการณ์ให้ผู้อำนวยการสำนักนิคมฯ /ท่าเรือฯ ทราบโดยเร็ว เพื่อประเมินผลกระทบอย่างทันท่วงที

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. กำไรภาคอุตฯ จีนร่วงต่อเนื่อง นักวิเคราะห์มองระยะยาวยังดี คาดเริ่มฟื้นตัวต้นปีหน้า (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2565)

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า กำไรภาคอุตสาหกรรมจีนระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนปรับตัวลง 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 7.7 ล้านล้านหยวน (หรือประมาณ 38.3 ล้านล้านบาท) ขณะที่กำไรระหว่างเดือนมกราคมถึงตุลาคมปรับตัวลง 3.0% โดยสำนักงานสถิติฯ ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเฉพาะเดือนพฤศจิกายน ทั้งนี้ ทางด้าน ทางด้าน Zhu Hong นักสถิติอาวุโสของสำนักงานสถิติฯ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกใหม่และความต้องการที่ซบเซาในเดือนพฤศจิกายนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต และสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศจีนในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าปัจจัยที่ทำให้กำไรภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงนอกเหนือจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดที่ทำให้โรงงานในเมืองอุตสาหกรรม เช่น กว่างโจวและเจิ้งโจว เกิดความยากลำบากในการผลิตแล้วก็มาจากวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ และการส่งออกที่ชะลอลง

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ประเมินว่าจีนจะเห็นการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปีหน้าหลังกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป แต่ในระยะแรกมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะยังคงหดตัว เนื่องจากการเปิดประเทศจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้ง โดยการผลิตในภาคอุตสาหกรรมจีนเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบกับที่สำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.6% และยังชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้านี้ที่เติบโต 5.0%

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)