ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนมกราคม 2566

ข่าวในประเทศ

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. สกัดเผาอ้อยฉุดท่องเที่ยว (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 3 มกราคม 2565)

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า วันที่    4 มกราคม 2566 คณะกรรมการบริหาร (กม.) ที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) แต่งตั้ง มีวาระพิจารณากำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูกาลผลิตปี 2564/65 และปี 2565/66 เตรียมเสนอที่ประชุม กอน. พิจารณานัดถัดไป นอกจากนี้ กอน. เน้นย้ำถึงชาวไร่และโรงงานน้ำตาลให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาอ้อยตามนโยบายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้ดูแลชาวไร่อ้อยและอุตสาหกรรมทั้งระบบโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดเป้าหมายลดการเผาอ้อยในฤดูการผลิตปี 2565/66 เป็น 0% เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทยกว่า 60 ล้านคน ที่สำคัญเป็นการหนุนภาคเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ซึ่งล่าสุดได้เพิ่มเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2566 จาก 20 ล้านคน เป็น 25 ล้านคนแล้ว ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลการหีบอ้อยฤดูการผลิต 2555/66 ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1-27 ธันวาคม 2565 พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้วกว่า 15 ล้านตัน จำนวนนี้เป็นอ้อยถูกลักลอบเผาสูงถึง 4.1 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนถึง 27.36% ซึ่งมากกว่าฤดูการผลิตปี 2564/65 ที่มีสัดส่วนอ้อยที่ถูกลักลอบเผา 27.28% จากสัดส่วนการลักลอบเผาอ้อย ที่เพิ่มขึ้นถือเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างวิกฤต ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพประชนชน และบรรยากาศการท่องเที่ยว

 

อย่างไรก็ตาม จังหวัดนครราชสีมามีการเผาอ้อยสูงสุด 6.7 แสนตัน รองลงมา คือ กาฬสินธุ์ 4.2 แสนตัน อุดรธานี 4.1 แสนตัน ขอนแก่น 3.5 แสนตัน และหนองบัวลำภู 2.6 แสนตัน ซึ่งล่าสุดศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 พบว่า ฝุ่นพีเอ็ม 25 มีค่าเกินมาตรฐานมากถึง 13 พื้นที่ ปริมาณฝุ่นที่พบ 31-69 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก/ลบ.ม.) บ่งชี้ว่าสภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร เริ่มแย่ลง ส่วนพื้นที่อื่นทั่วประเทศ สอน. ได้ประสานข้อมูลกับกระทรวงมหาดไทย (มท) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ติดตามสถานการณ์การลักลอบเผาอ้อยซ้ำซากรายพื้นที่ และใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจังกับผู้ลักลอบเผาอ้อย

 

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

2. กนอ.ดันลงทุน 4 นิคมฯ ปั๊มยอดขาย/เช่าที่ปี 66 (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 6 มกราคม 2566)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ปี 2566 กนอ.กำหนดมาตรการส่งเสริมการขายและให้เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการลดอัตราค่าเช่าและอัตราซื้อขายที่ดิน รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุน ให้เข้ามาเช่าและซื้อที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตและการลงทุน ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 30 กันยายน 2566 เชื่อว่าการออกแพคเกจจะจูงใจนักลงทุนเพิ่มขึ้นส่งผลลงทุนปีนี้ฟื้นตัวด้วย สำหรับแพคเกจประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ในส่วนพื้นที่รับเบอร์ซิตี้ จังหวัดสงขลา ผู้เช่ารายใหม่จะได้รับการยกเว้นค่าเช่าที่ดิน 1 ปี ยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษา 1 ปี ส่วนผู้เช่ารายเดิมได้รับการยกเว้นค่าเช่าที่ดิน 2 ปี และยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษา 1 ปี สำหรับผู้ที่จะซื้อจะขายรายใหม่ได้ส่วนลด 15% ของอัตราราคาขายที่ดิน และยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษา 1 ปี ส่วนผู้ที่จะซื้อจะขายรายเดิมได้ส่วนลด 20% ของอัตราราคาขายที่ดิน และยกเว้น ค่าบริการบำรุงรักษา 1 ปี ส่วนนิคมอุตสาหกรรมสงขลา (ระยะที่ 1) จังหวัดสงขลา ผู้เช่ารายใหม่ได้รับการยกเว้นค่าเช่า 3 ปีแรก และยกเว้นค่าบำรุงรักษา 1 ปี ส่วนผู้เช่ารายเดิมยกเว้นค่าเช่า 3 ปี ได้ส่วนลดค่าเช่าที่ดิน 25% ปีที่ 4 ยกเว้นค่าบำรุงรักษา 1 ปี

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ผู้เช่ารายใหม่ได้รับการยกเว้นค่าเช่าที่ดิน 1 ปี ยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษา 1 ปี ส่วนผู้เช่ารายเดิมได้รับการยกเว้นค่าเช่าที่ดิน 3 ปี ยกเว้นค่าบริการบำรุง 1 ปี ยังมีมาตรการส่งเสริมการเช่าโรงงานมาตรฐานในนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว โดยทั้งผู้เช่ารายใหม่และรายเดิมจะได้รับการยกเว้นค่าเช่าโรงงานมาตรฐาน 2 ปี ยกเว้นค่าบริการบำรุง 1 ปีแรก และนิคมอุตสาหกรรมพิจิตร ผู้เช่ารายใหม่ยกเว้นค่าเช่าที่ดิน 2 ปี ยกเว้น ค่าบริการบำรุง 1 ปี ส่วนผู้เช่ารายเดิมยกเว้น ค่าเช่าที่ดิน 3 ปี ยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษา 1 ปี

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

3. ชี้ส่งออกปี 66 ส่อเค้าชะลอตัวเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงสารพัด (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 5 มกราคม 2566)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ในปี 2566 ภาคการส่งออกของไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญมากมาย ได้แก่ ตลาดส่งออกหลักขยายตัวลดลง ทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป เพราะความต้องการซื้อสินค้าชะลอลงจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ, ดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2565 เพราะธนาคารกลางหลายประเทศยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้ต้นทุนของภาคธุรกิจและครัวเรือนเพิ่มขึ้นจนฉุดกำลังซื้อ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากค่าเงินบาทผันผวน จากผลของธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่ยังไม่จบสิ้น ทั้งปัญหารัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงาน วัตถุดิบ อาหารโลกผันผวน รวมถึงความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน-ไต้หวัน ที่กดดันต่อห่วงโซ่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีขั้นสูง จนส่งผลให้เกิดความขาดแคลน และกระทบต่อการส่งออกไทยได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยบวกที่สนับสนุนการขยายตัว ได้แก่ เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญบางประเทศเติบโตดี จีนผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ส่งผลดีต่อการเดินทาง และการจับจ่ายใช้สอยของชาวจีน ที่จะเพิ่มขึ้นภาคอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ

 

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปี 2566 หน่วยงานพยากรณ์เศรษฐกิจของไทยหลายแห่ง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน คาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกไทยจะชะลอลง และไม่ได้เป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนปี 2565 อีกแล้ว โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดขยายตัว 1% จากปี 2565 ที่คาดขยายตัว 7.5% สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดขยายตัว 2-3% จากปี 2565 ที่คาดขยายตัว 7-8% ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอกรค้าไทย คาดขยายตัว 1.2% เป็นต้น

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. เฟดส่งสัญญาณผ่อนคันเร่งขึ้นดอกเบี้ย หวั่นเศรษฐกิจชะลอตัวมากเกินไป (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 5 มกราคม 2566)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13-14 ธันวาคม 2565 โดยระบุว่า กรรมการเฟดมีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับเงินเฟ้อ และคาดว่าจะเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปจนกว่าข้อมูลที่เฟดได้รับมานั้นมีหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอว่าเงินเฟ้อกำลังกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ อาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งกรรมการทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าเฟดควรจะชะลออัตราการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยจะยังปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปเมื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่จะดำเนินการในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ รายงานการประชุมดังกล่าวซึ่งมีการเผยแพร่ในวันพุธ (4 มกราคม 2565) ระบุว่า กรรมการเฟดยังคงมุ่งมั่นที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นร้อนแรงมากกว่าคาดในช่วงที่ผ่านมา และแสดงความกังวลว่าตลาดการเงินจะ "มีความเข้าใจที่ผิดพลาด" เกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม กรรมการเฟดตระหนักว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมานั้น เฟดมีความคืบหน้าในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเพียงพอในการฉุดเงินเฟ้อให้อ่อนแรงลง และด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้เฟดเล็งเห็นถึงความจำเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการต่อสู้กับเงินเฟ้อและการควบคุมความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากเกินไป รวมทั้งความเป็นไปได้ที่ว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะเพิ่มภาระให้กับภาคส่วนที่มีความอ่อนไหว

 

 

อย่างไรก็ตาม ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปีหน้า ก่อนที่จะสิ้นสุดวัฏจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยระดับดังกล่าวเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550 ทั้งนี้ หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.1% ในปี 2566 หรือเทียบเท่ากับช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย 5.00-5.25% เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจับตาดูผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)