ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม 2566

ข่าวในประเทศ


นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. "สุริยะ" นำทัพโรดโชว์ญี่ปุ่น 11-15 ม.ค.นี้ (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 11 มกราคม 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 11-15 มกราคม 2566 มีกำหนดเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น ณ เมืองอิชิกาวะ (Ishikawa) พร้อมด้วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ฯลฯ  เพื่อร่วมประชุมหารือความร่วมมือระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดอิชิกาวะ (Ishikawa) และกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมกันนี้จะมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กสอ.และรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดอิชิกาวะ ด้านความร่วมมือเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างโอกาสที่ดีในการกระชับความสัมพันธ์และผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ไทยและญี่ปุ่น โดยเฉพาะผู้ประกอบการจากจังหวัดอิชิกาวะภายใต้แนวคิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือ โอทาไก (OTAGAI) เพื่อต่อยอดสู่การขยายความร่วมมือและยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเกิดการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เครือข่ายของหน่วยงานที่ดำเนินการด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ของไทยและญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ยังจะมีการประชุมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น เพื่อเชิญชวนภาคเอกชนญี่ปุ่นขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายของประเทศไทย อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล สุขภาพและการแพทย์ กลุ่ม BCG และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภายใต้กำกับของ กนอ.

 

อย่างไรก็ตาม การเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ ถือเป็นการเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกของปี 2566 และเป็นการต่อยอดขยายผลการประชุมหารือร่วมกับนายฮากิอูดะ โคอิจิ รัฐมนตรีว่าการ METI ที่ประเทศไทยเมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ตอกย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน ยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) อย่างรอบด้านกับญี่ปุ่น และหารือแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ในมิติ เศรษฐกิจที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาคและภูมิภาค สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของทั้งสองฝ่าย โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ และอุตสาหกรรมR&D (Research and Development) ที่คาดว่าจะสามารถดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรม และเป็นประเทศที่ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่งมาอย่างยาวนาน ซึ่งรัฐบาลไทยมุ่งมั่นเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจในไทยสำหรับเอกชนญี่ปุ่นตามคำแนะนำและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากภาคเอกชนญี่ปุ่น โดยไทย ให้ความสำคัญกับการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยและมองหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

 

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)

 

 

2. ขนมขบเคี้ยวไขมันต่ำมาแรง พาณิชย์ชี้ช่องส่งออกเจาะตลาดจีน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 13 มกราคม 2566)

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวเนตรนภิศ จุลกนิษฐ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึงแนวโน้มการทำตลาดสินค้าขนมขบเคี้ยวไขมันต่ำที่กำลังเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคชาวจีน โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวจีน ให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ก็ยังคงมีความต้องการด้านรสชาติอาหารที่อร่อยควบคู่ไปกับประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ ทำให้อุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวของจีนค่อยๆ ปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์การบริโภคดังกล่าว เช่น การเปิดตัวของผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ใส่สารเติมแต่ง ใช้วัตถุดิบธรรมชาติ มีน้ำตาลและไขมันต่ำ ซึ่งกำลังทยอยเข้าสู่ท้องตลาด นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตอาหารหลายรายได้เริ่มศึกษาวิจัยเทคนิคการผลิตอาหารที่มีไขมันเล็กน้อย หรือไขมันเท่ากับศูนย์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยเปิดตัวขนมขบเคี้ยว ของว่างหลากหลายชนิด                       ที่เน้นจุดขาย ไขมันต่ำ เช่น เค้กบุกไขมันต่ำ เนื้อวัวอบแห้งไขมันต่ำ เป็นต้น รวมถึงผู้ผลิตมันฝรั่งแผ่นทอดหลายรายที่ได้พัฒนาและเปิดตัวมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบที่มีไขมันต่ำ เช่น Lay's ได้เลือกใช้น้ำมัน rapeseed oil-lowerucic acid มาทอด ทำให้ไขมันอิ่มตัวลดลง 50% แต่ราคาขายทำได้สูงขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม เทรนด์การบริโภคอาหารมักจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และความต้องการของ ผู้บริโภคก็จะได้รับการอัปเดตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยปัจจุบันขนมขบเคี้ยวที่วางจำหน่ายในตลาดจีน ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะเลือกปรับปรุงผลิตภัณฑ์ในด้านเทคนิคการผลิต ส่วนผสม และบรรจุภัณฑ์ อย่างเช่น สตรอว์เบอร์รี่อบแห้ง(พัฒนา ด้านเทคนิคการผลิต) ขนมเวเฟอร์ที่เติมโปรไบโอติก และเยลลี่ น้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำ (ปรับปรุงด้านส่วนผสม) ถั่วเปลือกแข็งบรรจุ    ในซองขนาดเล็ก (ปรับปรุงด้านบรรจุภัณฑ์) เป็นต้น ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจด้านอาหารของไทย ควรติดตามแนวโน้มการบริโภคของตลาดจีนอย่างใกล้ชิด พยายามส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ทำให้ผู้บริโภคมีวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดีมากขึ้น โดยเน้นงานวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ศึกษารวบรวมข้อมูลความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับสารอาหารและสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้บริโภค ติดตามผลสะท้อนกลับจากผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสำรวจทิศทางตลาดที่เหมาะสมกับการพัฒนาของตนเอง ซึ่งจะทำให้มีโอกาสในการ ผลักดันสินค้าเข้าสู่ตลาดจีนได้เพิ่มขึ้น

 

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

 

3. พาณิชย์ยิ้มส่งออกอัญมณีพุ่ง (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 10 มกราคม 2566)

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนพฤศจิกายน 2565 มีมูลค่า 687.81 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8% หากรวมทองคำ มีมูลค่า 868.87 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15.98% และ  ยอดรวม 11 เดือนของปี 2565 (มกราคม - พฤศจิกายน) หากไม่รวมทองคำ มีมูลค่า 7,466.16 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 34.02% และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 14,489.54 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 57.24% สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวเพิ่มขึ้น มาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น จากการที่เงินเฟ้อและราคาสินค้าในหลายประเทศเริ่มลดลงค่าขนส่งสินค้าในหลายเส้นทางทั่วโลกปรับลดลง การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้มีการซื้อสินค้าในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น และช่วงปลายปี 2565 เป็นช่วงเทศกาลจับจ่ายใช้สอย จึงเป็นปัจจัยหนุนทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เงินบาทแม้จะแข็งค่าขึ้น แต่ก็ไม่ได้แข็งเร็วเกินไป ยังช่วยให้สินค้าไทยแข่งขันได้ และหลายตลาดมีการสั่งซื้อสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ สำหรับตลาดส่งออกสำคัญที่มีอัตราการขยายตัวได้ดีในช่วง 11 เดือน ได้แก่ สหรัฐ เพิ่ม 23.60% อินเดีย เพิ่ม 91.61% ฮ่องกง เพิ่ม 19.04% เยอรมนี เพิ่ม 4.34% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 36.67% สิงคโปร์ เพิ่ม 159.95% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 82.48% เบลเยียม เพิ่ม 34.76% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 32.84% และญี่ปุ่น เพิ่ม 9.11%

 

อย่างไรก็ตาม การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วง 11 เดือนของปี 2565 ยังสามารถเติบโตได้ดี แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยรุมเร้าหลายประการ ทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนปี 2566 GIT ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากการเติบโตในปี 2566 อาจขาดปัจจัยหนุน ทำให้เติบโตลดลง จากปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น และการกลับมาระบาดของโควิด-19 จนทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและการรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสหรัฐและยุโรปให้ความสำคัญมาก อาจก่อให้เกิดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีได้

 

ข่าวต่างประเทศ

A picture containing background pattern

Description automatically generated

 

4. ตลาดรถอีวีจีนเสี่ยงโตลดลง ส่อง 5 แบรนด์ดังกินตลาด 60% (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ประจำวันที่ 13 มกราคม 2566)

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ เปิดเผยรายงานว่า การสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนการซื้อรถอีวีของทางการจีนที่มีผลเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ได้สร้างความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดอีวีจีน ที่ได้รับการส่งเสริมกระตุ้นยอดขายมาโดยตลอดช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ข้อมูลของสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจีน (ซีพีซีเอ) คาดว่า ผู้ผลิตอีวีในจีนราว 200 ราย จะส่งมอบรถอีวีประมาณ 8.4 ล้านคัน ในปี 2566 เพิ่มขึ้นราว 30% จาก 6.4 ล้านคันในปี 2565 แต่อัตราการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเทียบไม่ได้กับการเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในปี 2565 ถึง 114% จาก 2.99 ล้านคันในปี 2564 ขณะที่ "บีวายดี" (BYD) ได้ขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตอีวีรายใหญ่ที่สุดของโลก หลังจากยอดขายทั่วโลกในปี 2565 ที่ผ่านมา พุ่งสูงถึง 1.85 ล้านคัน ขึ้นแซงยักษ์ใหญ่สหรัฐ "เทสลา" ไปแล้ว โดยยอดขายของบีวายดีส่วนใหญ่เป็นตลาดในจีน ผลจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้รถอีวีของ "บีวายดี" ที่มีความคุ้มราคาได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อระดับกลางมากขึ้น สำหรับแบรนด์รถอีวีที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในจีน (มกราคม - พฤศจิกายน 2565) "บีวายดี" ครองมาร์เก็ตแชร์อันดับหนึ่ง 30.6% ตามมาด้วย SAIC-GM-Wuling 8.3%, เทสลา 7.6%, GAC 4.6%, เฌอรี่ 4.1% และฉางอัน 3.8%

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของอีวีจีน อยู่ที่อุตสาหกรรมแบตเตอรี่ โดยมีบริษัทจีนถึง 6 แห่ง ติด Top 10 ของผู้ผลิตแบตเตอรี่อีวีโลก ได้แก่ ซีเอทีแอล (CATL) บีวายดี ซีเอแอลบี (CALB) โกชัน ไฮเทค (Gotion High-tech) ซันโวดะ (Sunwoda) และอีฟ เอนเนอร์จี (Eve Energy) ซึ่งแบตเตอรี่อีวีจีนคิดเป็นสัดส่วนถึง 60.5% ของตลาดโลก โดยการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมแบตเตอรี่จีนได้รับแรงหนุนสำคัญจากยอดขายรถอีวี ซึ่งหากยอดขายอีวีจีนเติบโตช้าลงในปีนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตแบตเตอรี่เช่นกัน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)