ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม 2566

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ค่าไฟดันต้นทุนผลิตพุ่ง 4.88% อุตฯเหล็กหนักสุดรองลงมาคือซีเมนต์ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 19 มกราคม 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์ทิศทางราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูงส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น และเป็นการเร่งอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลง โดยคาดว่าสถานการณ์ราคาพลังงานจะมีผลกระทบในระยะยาว ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ทำการศึกษาผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม พบว่า การขึ้นค่าไฟฟ้าที่อัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.88% ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า รองลงมา ได้แก่ ซีเมนต์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เครื่องแต่งกาย และเซรามิก ทั้งนี้ ทางด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ. ได้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าต่อภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จากการศึกษาพบว่า การขึ้นค่าไฟฟ้าที่อัตรา 5.33บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าเพิ่มขึ้น 12.41% ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมซีเมนต์เพิ่มขึ้น 9.47% ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอเพิ่มขึ้น 8.96% ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตเพิ่มขึ้น 8.14% ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายเพิ่มขึ้น 7.98% และต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมเซรามิกเพิ่มขึ้น 6.49%

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมโดยใช้ข้อมูลดัชนีการส่งสินค้ารายเดือน (Shipment Index) ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีอัตราการขยายตัวของดัชนีการส่งสินค้าในแต่ละเดือนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมสิ่งทอ จำเป็นต้องปรับตัวอย่างมาก เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นๆ

 

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)

 

2. อาหารและผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงมาแรงในฟิลิปปินส์ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 20 มกราคม 2566)

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับข้อมูลจากนางสาวจันทนา โชติมุณี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ถึงโอกาสการขยายตลาดสินค้าอาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงในตลาดฟิลิปปินส์ ที่กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ชาวฟิลิปปินส์หันมาเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น ทำให้มีความต้องการอาหารและผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์ ผู้ประกอบการไทยควรรักษาจุดแข็งในเรื่องมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของสินค้า ควรวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ส่วนการเข้าสู่ตลาด ควรกำหนดกลยุทธ์ด้านราคาอย่างเหมาะสม จับต้องได้เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ของประเทศ แต่ก็ควรพิจารณาเจาะตลาดในระดับกลาง-บนมากขึ้น เนื่องจากสินค้าระดับพรีเมียมเริ่มได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมีการแข่งขันด้านราคาน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้อาจร่วมกับคู่ค้าในฟิลิปปินส์ พิจารณาใช้กลยุทธ์การทำการตลาดแบบผูกปิ่นโต หรือ Subscription.box เพื่อให้ดึงดูดผู้บริโภคและกระตุ้นยอดขายให้เพิ่มมากขึ้น โดยจุดขายหรืออรรถประโยชน์หลักที่ผู้ประกอบการควรพิจารณา ได้แก่ ความคุ้มค่าของราคา คุณค่าทางโภชนาการ และสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ ในส่วนของช่องทางที่เป็นที่นิยมในการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ รวมถึงช่องทางออนไลน์ ส่วนการหาผู้นำเข้าหรือผู้จัดจำหน่ายที่มีศักยภาพในฟิลิปปินส์ ดำเนินการได้หลายแนวทาง โดยเฉพาะการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับตลาดอาหารและผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง เช่น งาน Pet.Summit Philippines งาน Philippine Pet Expo เป็นต้น หรืองานแสดงสินค้า Thailand Week จัดโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงมะนิลา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การขอคำแนะนำคำปรึกษา และรายชื่อผู้นำเข้าในฟิลิปปินส์ จาก สคต. ณ กรุงมะนิลา เป็นต้น

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. สอท. เปิด 17 อุตฯ สดใส จี้อีกดูแลค่าไฟต่อเนื่อง (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 18 มกราคม 2566)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้สำรวจแนวโน้ม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 5 ภูมิภาค ปี 2566 เทียบกับปี 2565 ของ ส.อ.ท. พบว่า 17 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม, การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, เครื่องจักรกลและโลหะการ, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, ดิจิทัล, น้ำตาล, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์, ผู้ผลิตไฟฟ้า, พลังงานหมุนเวียน, เฟอร์นิเจอร์, ยา, ยานยนต์, โรง กลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, หล่อโลหะ, หลังคาและอุปกรณ์, เหล็ก, อาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวหลังจากที่จีน เปิดประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะกำลังซื้อในประเทศที่จะสูงขึ้นทำให้ดีมานด์สินค้าสูง และมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาครัฐ ขณะที่มี 21 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ทรงตัว เช่น ก๊าซ, แก้ว และกระจก, เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น ส่วนอีก 7 อุตสาหกรรมที่ชะลอตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน, ปิโตรเคมี, สมุนไพร

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวล คือ ค่าไฟฟ้าอุตสาหกรรมงวดมกราคม - เมษายน 2566 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 บาท ต่อหน่วยหรือเพิ่มขึ้น 13% ที่สะท้อนจากดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2565 ที่อยู่ระดับ 92.6 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน จึงเห็นว่ารัฐจำเป็นต้องดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้าเพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

ข่าวต่างประเทศ

A picture containing background pattern

Description automatically generated

 

4. ศก.จีนมีแนวโน้มฟื้นตัวในปี 2566 (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 19 มกราคม 2566)

ซีเอ็นบีซี เปิดเผยว่า นักวิเคราะห์คาดเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวในปี 2566 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญอย่างการบริโภคในประเทศ เนื่องจากความต้องการทั่วโลกหดตัว โดยเฉพาะในกลุ่มชาติตะวันตกที่กำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าการเปิดประเทศจะทำให้การบริโภคในจีนฟื้นตัวแบบ “วีเชฟ” รับแรงหนุนจากการที่คนจีนแห่ออมเงินในช่วงก่อนหน้านี้ และภาคอสังหาริมทรัพย์กำลังฟื้นตัว โดยจีดีพีจีนเติบโต 3% ในปีที่ผ่านมา ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนคาดการณ์ไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ สำหรับปัจจัยที่ฉุดให้จีดีพีเติบโตต่ำสุดในรอบ 50 ปี ได้แก่ นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่เลวร้ายลง และวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนักวิเคราะห์จาก KraneShares กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวอย่างมากในปีที่ผ่านมา แต่การเปิดประเทศ และการไหลเข้าของเงินทุนในภาคอสังหาฯ ที่กำลังฟื้นตัว กลับช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างมาก และจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีนในปีนี้ โดยรัฐบาลจีนให้คำมั่นเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาว่าจะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูอุปสงค์ในประเทศเป็นอันดับแรก

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)