ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ 2566

ข่าวในประเทศ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

 

1. กอช. เดินหน้าแผนปฏิบัติ หลังครม.อนุมัติ 'อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ' (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งที่ 1/2565 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ รวมถึงรับทราบและเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้าน การพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ (พ.ศ. 2566-2570) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กอช. ได้เตรียมผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง โดยได้เตรียมเสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) ครั้งต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมภายในครึ่งปีแรกของปี 2566 นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ กอช. จำนวน 3 คณะ ตามมติที่ประชุม กอช.ครั้งที่ 1/2565 ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการด้านความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม คณะอนุกรรมการด้านอุตสาหกรรมยั่งยืน และคณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์และการอำนวยความสะดวกภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานของ กอช.ในประเด็นสำคัญด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน รวมถึงมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 60% ของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และมูลค่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของไทย มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 1% ของจีดีพีภาคอุตสาหกรรม ภายในปี 2570 โดยภายใต้แผนปฏิบัติการ ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1. ยกระดับศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 2. กระตุ้นอุปสงค์ เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในประเทศ และต่อยอดการสร้างหรือพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และ 3. สร้างและพัฒนาระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยพัฒนาระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

 

A person folding the arms

Description automatically generated with medium confidence

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

2. กนอ.ดึงนักลงทุน ลุยขยายนิคมฯ ปิ่นทองเฟส 5 (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ. หรือ บอร์ด กนอ. อนุมัติให้ขยายพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 5) ส่วนขยาย จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ 1,155 ไร่ ที่ตำบลเขาคันทรง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นการขยายจากพื้นที่เดิมในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) ซึ่งโครงการดังกล่าวฯ เป็นการรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาลที่วางเป้าหมายการลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า2 แสนล้านบาท ในปี 2566 สำหรับการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายนี้ ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับมาตรฐานระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกของนิคมอุตสาหกรรม โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย สู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (SMART I.E.) พื้นที่ประกอบการอัจฉริยะ (SMART I.Z.) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ สร้างความได้เปรียบในกระบวนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงลดความสิ้นเปลืองพลังงานและความสูญเสียของทรัพยากรที่มีจำกัด เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคลเพิ่มอีก 50% เป็นระยะ 5 ปีอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 5) ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งสิ้น 1,540 ไร่ เมื่อรวมพื้นที่ส่วนขยายอีกประมาณ 1,155 ไร่ จะทำให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 5) มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,695 ไร่ สำหรับพื้นที่ส่วนขยายนั้นจะใช้งบลงทุนประมาณ 2,500 ล้านบาท และคาดว่าพื้นที่ส่วนขยายจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 4/2567 ซึ่งโครงการฯ มุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน

 

นายสุชาติ จันทรานาคราช

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. กำลังซื้อเพิ่มหลังท่องเที่ยวฟื้น ดันดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ พุ่งทุบสถิติรอบ 43 เดือน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566)

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.6 ในเดือนธันวาคม 2565 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 43 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ สำหรับปัจจัยสนับสนุนมาจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภค-บริโภค รวมทั้งอานิสงส์ของมาตรการช้อปดีมีคืน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายในประเทศ ตลอดจนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการเปิดประเทศของจีน ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและทำให้จีนนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สำหรับอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอลงเนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคการส่งออกของไทยขณะที่ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อเนื่องในปัจจัยด้านราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตลอดจนการแข็งค่าของเงินบาททำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกของไทยลดลง

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 99.9 ในเดือนธันวาคม โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัว โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ขณะที่ภาคการผลิตมีคำสั่งซื้อและปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ

 

ข่าวต่างประเทศ

A close-up of a flag

Description automatically generated with medium confidence

 

4. ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ พุ่ง 3% เกินคาด ชาวมะกันยังมีการบริโภคที่สูงแม้เงินเฟ้อเกินเป้า (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566)

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกปรับตัวขึ้น 3% ในเดือนมกราคม 2566 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.8%-1.9% โดยตัวเลขดังกล่าวยังไม่ได้ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ หมายความว่าการบริโภคแซงหน้าอัตราเงินเฟ้อที่วัดโดยดัชนีราคาผู้บริโภคที่เร่งตัวขึ้น 0.5% ในเดือนที่ผ่านมา โดยยอดค้าปลีกปรับตัวดีขึ้นหลังจาก ดิ่งลง 1.1% ในเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งได้รับแรงหนุนมาจากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยอดขายน้ำมันของสถานีบริการน้ำมัน หากไม่รวมยอดขายรถยนต์ ยอดค้าปลีกในเดือนมกราคม 2566 ปรับตัวขึ้น 2.3% ตามรายงาน สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.9% สำหรับยอดขายอาหารและเครื่องดื่มพุ่งขึ้น 7.2% เป็นภาคค้าปลีกที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุด ขณะที่ยอดจำหน่ายยานยนต์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น 5.9% และยอดขายของร้านเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านเพิ่มขึ้น 4.4% ในส่วนของยอดขายของสถานีบริการน้ำมัน ทรงตัวในเดือนมกราคม แม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้น 2.4% ขณะเดียวกันยอดค้าปลีกออนไลน์เพิ่มขึ้น 1.3% ในขณะที่ร้านค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3.5%

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังเผยให้เห็นว่า ในเดือนมกราคม 2566 ไม่มียอดค้าปลีกใดที่ลดลง เมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 6.4% ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของดัชนีราคาผู้บริโภค หรือมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ที่รายงานไปก่อนหน้านี้ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.4% ในเดือนมกราคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.2% เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.5% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4%

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)