ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกุมภาพันธ์ 2566

ข่าวในประเทศ

A person in a suit

Description automatically generated with medium confidence

นายสินิตย์ เลิศไกร

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

1. คนต่างชาติยกทัพเข้ามาลงทุนในประเทศไทยปีนี้คึกคัก (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566)

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดือนมกราคม 2566 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 52 ราย รวมเงินลงทุน 5,129 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 298 คน พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีแก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบ การสร้างแบบจำลองแบบ 3 มิติ และการทำงานเฉพาะทางบนคอมพิวเตอร์ ระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยธุรกิจที่ได้รับอนุญาต ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น บริการออกแบบจัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ปรับปรุง พัฒนา ทดลองระบบ เชื่อมระบบ และการเปิดใช้งาน สำหรับชาติที่เข้ามาลงทุนมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 14 ราย เงินลงทุน 3,588 ล้านบาท รองลงมาเป็นสิงคโปร์ 6 ราย เงินลงทุน 410 ล้านบาท สหรัฐฯ 6 ราย เงินลงทุน 9 ล้านบาท สหราชอาณาจักร 5 ราย เงินลงทุน 98 ล้านบาท และจีน 3 ราย เงินลงทุน 548 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2566 ตั้งเป้าหมายมีนักลงทุนชาวต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งด้านการท่องเที่ยว และการลงทุนเพื่อขยายตลาด การปรับโครงสร้างการผลิตที่มีการขยายฐานการผลิตของธุรกิจต่างชาติเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจเกษตร อาหาร ชีวภาพ ธุรกิจท่องเที่ยว สุขภาพ และธุรกิจดิจิทัลต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนจากโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ภาครัฐและเอกชนร่วมกันดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม 2566 มีนักลงทุนต่างชาติลงทุน 8 ราย คิดเป็น 15% ของจำนวนนักลงทุน โดยมีมูลค่าการลงทุน 683 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 5 ราย เงินลงทุน 632 ล้านบาท จีน 2 ราย ลงทุน 48 ล้านบาท และสหราชอาณาจักร 1 ราย ลงทุน 3 ล้านบาท

 

A person sitting at a desk

Description automatically generated with medium confidence

นายณัฐพล รังสิตพล

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

2. ตั้งทีมรับมือรถอีวีดัดแปลงสมอ.ย้ำมี 138 มาตรฐานคุม (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566)

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติหรือบอร์ดอีวี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติอนุมัติให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงหรืออีวี คอนเวนชั่น โดยให้มีหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน 29 หน่วยงาน ร่วมเป็นกรรมการและมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. เป็นเลขานุการ ทั้งนี้ เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ทั้งรถยนต์ กระบะ จักรยานยนต์ สามล้อ รถโดยสาร รถบรรทุก เรือ รถไฟไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ ให้สามารถแข่งขันได้ยั่งยืน พร้อมจัดทำมาตรการพัฒนาเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน รวมถึงพัฒนาแรงงานที่มีทักษะรองรับอุตสาหกรรมนี้ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. ได้จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องยานยนต์ไฟฟ้าออกมาต่อเนื่องซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำและประกาศใช้แล้ว รวม 138 มาตรฐาน เช่น สถานีชาร์จ รถยนต์ไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ระบบขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ มี 3 มาตรฐานที่อยู่ระหว่างจัดทำเป็นมาตรฐานบังคับ ได้แก่ สถานีชาร์จ แบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนจากด้านหน้าและด้านข้าง ทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง คือชุดชิ้นส่วนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงและ   ทำมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส สำหรับเอสเอ็มอี 2 มาตรฐาน ได้แก่ การบริการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า มอก. เอส 221-2566 และการบริการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มอก. เอส 222-2566

 

A person speaking into a microphone

Description automatically generated

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม

 

3. "ดีพร้อม" ยกระดับผู้ประกอบการ 2.86 หมื่นราย สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 7,500 ล้านบาท ปี'66 (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566)

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ดีพร้อมได้ถอดบทเรียนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาพร้อมกับรับนโยบายจากนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ดังนั้นในปี 2566 จึงดำเนินมาตรการ "ดีพร้อมโต" ผ่าน 4 กลไก โตได้ โตไว โตไกล โตยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน จำนวน 13,000 ราย ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท และดำเนินการควบคู่ไปกับกิจกรรมพิเศษ เพื่อยกระดับประชาชนให้สามารถก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 15,600 ราย และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท หรือเป็นการยกระดับผู้ประกอบการรวม 28,600 ราย สร้างเศรษฐกิจรวม 7,500 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปี 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมด้วยนโยบาย MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน จึงได้สั่งการให้ ดีพร้อม พัฒนาโมเดลการส่งเสริมอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ "โมเดลชุมชนดีพร้อม" ที่พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไปพร้อมกับชุมชน ผ่านการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และชุมชนให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน และยังมีการดำเนินกิจกรรมพิเศษ ได้แก่ การปฏิรูป DIPROM CENTER ให้เป็นศูนย์กลางการให้บริการภาคธุรกิจ การพัฒนาช่องทางตลาดออนไลน์ (DIPROM Marketeer) การพัฒนานักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม และปั้นดีพร้อมรุ่นเยาว์สู่ดีพร้อมที่ยอดเยี่ยม

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการดำเนินงานปี 2565 ที่ผ่านมา ดีพร้อมได้ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการ ฃแข่งขันภายใต้นโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) ผ่านกลไกโครงการ/กิจกรรมต่างๆ จนสามารถพัฒนาผู้ประกอบการมากกว่า 14,000 ราย และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 7,000 ล้านบาท โดยเฉพาะโครงการอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชน อาชีพดีพร้อม หนึ่งโครงการที่เป็นเรือธงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และขยายการให้บริการประชาชนที่เข้าร่วมโครงการกับดีพร้อม จากเดิมเฉลี่ยปีละ 10,000 ราย ไปสู่ 700,000 ราย ส่งผลให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีศักยภาพทางด้านวิชาชีพเพิ่มขึ้น และสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพ ต่อยอดธุรกิจ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการ

 

ข่าวต่างประเทศ

Logo

Description automatically generated

 

4. อังกฤษฟื้นตัวดี พ้นภาวะถดถอย (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566)

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี เปิดเผยว่า นักวิเคราะห์มองเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรสามารถรอดพ้นจากภาวะถดถอย และภาคธุรกิจเริ่มส่งสัญญาณการเติบโตที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เผยแพร่ในเดือนที่ผ่านมาออกมาในทิศทางบวก เช่น จีพีดีของเดือนธันวาคม 2565 ที่หดตัวเพียง 0.5% ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยทางเทคนิคได้ โดยนักวิเคราะห์เตือนว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงให้ต้องจับตามอง อย่างราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ทำให้ค่าครองชีพแพงขึ้น ทางด้านธนาคารแห่งประเทศอังกฤษคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศได้เข้าสู่ภาวะถดถอยเล็กน้อยในไตรมาสแรกของปี 2566 และภาวะถดถอยนี้จะกินเวลานานถึง 5 ไตรมาส เนื่องจากราคาพลังงานยังคงสูง และอัตราดอกเบี้ยก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้คนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของ Brough พบว่า ธุรกิจหลายแห่งมีการฟื้นตัวได้ดี และมีความยืดหยุ่นกว่าที่คาดการณ์กันไว้ สะท้อนให้เห็นว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นไปตามสภาพที่เกิดขึ้นจริงของหลายๆ ธุรกิจเสมอไป อีกทั้งผู้คนก็ยังคงออกไปจับจ่ายใช้สอยตามปกติ ทำให้เขาค่อนข้างประหลาดใจที่เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรหดตัวในเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากรายงานผลประกอบการของธนาคารในอังกฤษล่าสุด พบว่า ธนาคารส่วนใหญ่ตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญเพิ่มขึ้น ซึ่ง Brough มองว่าการตั้งสำรองสูงขึ้นก็ไม่ได้สะท้อนปัญหาหนี้ครัวเรือน พร้อมทั้งกล่าวว่า ไม่ควรตีความว่าการตั้งสำรองสูงเป็นสัญญาณว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นที่ผู้บริโภคจะผิดนัดชำระหนี้ อีกทั้งหลายๆ ธุรกิจก็สามารถบันทึกผลประกอบการ รายได้ และกำไรที่มากขึ้นในเดือนที่ผ่านมา ดังนั้น Brough จึงมองว่าสภาพเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวที่ดีขึ้นมาก

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)