ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนมีนาคม 2566

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a desk

Description automatically generated

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. MPI หดตัว 4.3% ชี้ส่งออกเปราะบาง คาดทั้งปีโต 1.5-2.5% เหตุท่องเที่ยวหนุน (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360, ประจำวันที่ 1 มีนาคม 2566)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 99.82 ขยายตัว 6.61% จากเดือนธันวาคม 2565 และเป็นอัตรา MPI ที่สูงสุดรอบ 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 เนื่องมาจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องส่งผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวฟื้นตัวตามโดยตลอด สำหรับปี 2566 สศอ. ได้คาดการณ์ MPI และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวในอัตราเดียวกันคือ 1.5-2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนมกราคม 2566 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ 1. น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัว 8.96% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเบนซิน 95 เพื่อใช้ในการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2. ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.79% จากรถยนต์นั่งขนาดกลางและรถยนต์นั่งขนาดเล็ก เนื่องจากได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้น 3. น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 69.23% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ โดยปีนี้ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึงการเร่งผลิตเพื่อรองรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 4. น้ำตาล ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.94% เนื่องจากปีนี้มีผลผลิตอ้อยเข้าหีบมากกว่าปีก่อน และ 5. เภสัชภัณฑ์เคมีภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 17.83% เนื่องจากมีความต้องการยาที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวทำให้ความต้องการบริโภคยาในพื้นที่ท่องเที่ยวมีเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า MPI เดือนมกราคม 2566 ขยายตัวลดลง 4.35% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 ที่ MPI อยู่ระดับ 104.36 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง เนื่องจากส่งออกไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงนั้นตัวเลขที่หดตัวสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของการส่งออกจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักโดยเฉพาะสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ชะลอตัว ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 62.31% ลดลงเทียบกับเดือนมกราคม 2565 ที่ CapU อยู่ที่ 65.90% ทำให้ สศอ. คาดการณ์ MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2566 จะยังคงหดตัวจากความต้องการสินค้าของตลาดโลกที่ลดลงตามทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแต่จะมีปัจจัยหนุนการท่องเที่ยวที่อาจทำให้ตัวเลขการหดตัวลดต่ำลงจากเดือนมกราคม 2566

 

 

นายสุชาติ ชมกลิ่น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

 

2. "รมว.สุชาติ" เจรจา 2 รัฐมนตรีเปิดตลาดแรงงานสาขาใหม่ๆ ในออสเตรเลีย (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 3 มีนาคม 2566)

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวอาจารีย์ ศรีรัตนบัลล์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าพบ ฯพณฯ เบรนดัน โอคอนเนอร์ รัฐมนตรีด้านทักษะและการฝึกอบรม กระทรวงการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ ประเทศออสเตรเลีย และ ฯพณฯ แอนดริว จ้าวส์ รัฐมนตรีด้านการตรวจคนเข้าเมือง สถานะพลเมือง และกิจการพหุวัฒนธรรม ประเทศออสเตรเลีย เพื่อหารือประเด็นความต้องการแรงงานไทยในภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการอื่นๆ เพื่อขยายตลาดแรงงานไทยในออสเตรเลีย ณ นครเมลเบิร์น ทั้งนี้ ได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือร่วมกับรัฐมนตรีด้านทักษะและการฝึกอบรม กระทรวงการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ รวมถึงรัฐมนตรีด้านการตรวจคนเข้าเมือง สถานะพลเมือง และกิจการพหุวัฒนธรรม ของออสเตรเลีย ประเด็นความร่วมมือในการจัดส่งแรงงาน ไทยเข้ามาทำงานในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นรวมถึงส่งเสริมให้ออสเตรเลียเปิดตลาดสำหรับแรงงานจากไทยในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการมากขึ้น ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่เป็นหน่วยงานฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือให้แก่แรงงานเพื่อเตรียมความพร้อมตั้งแต่ต้นทางก่อนไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้เรียนภาษาอังกฤษ การอบรมเกี่ยวกับวัฒนธรรม ความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตในต่างแดนให้แก่แรงงานก่อนเดินทางไปทำงาน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพแรงงานไทยเพื่อไปทำงานต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมที่จะจัดส่งแรงงานภาคเกษตร ภาคการบริการ ภาคอุตสาหกรรมและภาคก่อสร้าง ที่มีศักยภาพสูง สามารถที่จะตอบสนองความต้องการแรงงานในออสเตรเลียได้

อย่างไรก็ตาม ในโอกาสที่เดินทางเยือนออสเตรเลียในครั้งนี้ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมออสเตรเลีย ทำให้ทราบข้อมูลว่าขณะนี้ออสเตรเลียกำลังขาดแคลนแรงงานในหลายๆสาขา อาทิ สาขาการดูแลผู้สูงอายุ สาขาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แรงงานภาคเกษตร เป็นต้น ทางกระทรวงแรงงานมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือในการจัดส่งแรงงานภาคดังกล่าวเหมือนกับอีกหลายๆประเทศอาทิ อิสราเอล ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งการจัดส่งในแต่ละประเทศจะเป็นรูปแบบรัฐต่อรัฐ และเอกชนต่อเอกชน แต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่คนไทยสนใจอยากเดินทางมาทำงานเพราะมีค่าตอบแทนสูงและมีมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานที่ดี

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. กกร. ลดเป้าส่งออกปีนี้ -1 ถึง 0% เนื่องจากเศรษฐกิจโลก (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 2 มีนาคม 2566)

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับคาดการณ์    การส่งออกของไทยในปีนี้ที่มีโอกาสหดตัวในกรอบ -1 ถึง 0% จากเดิมที่คาดว่าขยายตัว 1-2% เนื่องจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะคู่ค้าหลักๆ ชะลอตัว แต่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าตัวเลขการท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยจะอยู่ระดับ 25-30 ล้านคน ดังนั้นจึงยังคงประมาณการอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวที่ 3-3.5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 2.7-3.2% ตามกรอบเดิม ทั้งนี้ กกร.มองว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่เกิด technical recession หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิค แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2565 จะหดตัว 1.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2565 แต่คาดว่า ในไตรมาส 1 ปีนี้ จะไม่หดตัวต่อเนื่อง จนกลายเป็น technical recession โดยการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจในไตรมาสแรกให้ฟื้นตัวได้

 

อย่างไรก็ตาม ปีนี้จะมีการเลือกตั้ง จึงคาดว่าจะเห็นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ในเดือนสิงหาคม 2566 นี้ ดังนั้นภาวะเศรษฐกิจไทยควรให้ความสำคัญในการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เร่งการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล รวมทั้งอาศัยโอกาสจากภาคการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวต่อเนื่องในช่วงนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่จะกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเศรษฐกิจเดิม สำหรับปัจจัยที่ภาคเอกชนยังคงกังวล ได้แก่ ค่าแรงงาน ความผันผวนของค่าเงินบาท และต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งภาคเอกชนอยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น การแก้ไขปัญหา รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี

 

ข่าวต่างประเทศ

A red and white flag

Description automatically generated with medium confidence

 

4. อินโดนีเซียเดินหน้าสร้าง นิคมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 2 มีนาคม 2566)

สำนักข่าวซินหัว เปิดเผยรายงานว่า ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย กล่าวถึง โครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งกำลังดำเนินการบนพื้นที่ 16,400 เฮกตาร์ ( ราว 102,500 ไร่ ) ของเขตบูลูงัน บนเกาะกาลิมันตัน สำหรับกลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก ขณะเดียวกัน วิโดโดประกาศว่า นิคมแห่งนี้ จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นอนาคตของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ปัจจุบัน อินโดนีเซียกำลังเดินหน้าส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า และการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยพยายามดึงดูดกลุ่มนักลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตแร่นิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลก อันเป็นส่วนประกอบหลักของแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวมีกำหนดเริ่มดำเนินการช่วงต้นปี 2567 จะใช้เทคโนโลยีซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การใช้โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น แบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งจะมีการตั้งโรงงานปิโตรเคมี และโรงงานผลิตอะลูมิเนียมภายในนิคมด้วย

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)