ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม 2566

ข่าวในประเทศ

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

1. กนอ.ผนึกกำลังเอกชน จัดตั้งนิคมฯราชทัณฑ์ทั่วประเทศ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 10 มีนาคม 2566)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ว่า หลังจาก กนอ.ผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทรัพย์สาครที่จังหวัดสมุทรสาครแล้ว ยังออกประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อเสนอพื้นที่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมทั่วไป และนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ร่วมกับ กนอ. ในพื้นที่เป้าหมาย 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยองด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเปลี่ยนแปลงผังเมือง และขอเปลี่ยนแปลงรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าแนวทางการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ (พื้นที่เพิ่มเติม) ซึ่งเป็นผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการฯ โดยเพิ่มการศึกษาแนวทางการจัดตั้งนิคมฯ ในลักษณะการร่วมดำเนินการกับภาคเอกชน และขยายผลการศึกษาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ จังหวัดนครราชสีมา ภาคเหนือ คือ จังหวัดลำพูน และภาคใต้ คือ จังหวัดสงขลา เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคต่างๆ ของประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับรูปแบบของการจัดตั้งนิคมฯ แบ่งเป็น 7 รูปแบบ คือ 1. ใช้ที่ราชพัสดุในลักษณะร่วมดำเนินการกับ กนอ. 2. ประกาศเชิญชวนเอกชนมาร่วมลงทุน โดยใช้ที่ดินของเอกชนมาพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน และเปิดพื้นที่ให้สถานประกอบการเช่าใช้ประกอบการเป็นรายได้ตอบแทนให้กับเอกชนผู้ลงทุน 3. ใช้พื้นที่นิคมฯ เดิมที่มีอยู่ โดยเปิดให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ว่างที่ยังเหลืออยู่และยังไม่มีผู้ประกอบการมาจับจอง 4. จัดตั้งเขตอุตสาหกรรมภายในพื้นที่เรือนจำ โดยขอใช้ที่ดินราชพัสดุของเรือนจำซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ แต่ยังมีขนาดไม่เพียงพอที่จะจัดตั้งเป็นนิคมฯซึ่งกระทรวงยุติธรรมจะเป็นผู้ขอใช้ที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ แล้วเชิญชวนเอกชนมาร่วมลงทุน 5. จัดตั้งเขตอุตสาหกรรมการเกษตร โดยนำพื้นที่ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการจัดตั้งเป็นนิคมฯ แต่สามารถพัฒนาพื้นที่เหลือใช้ของเรือนจำต่าง ๆ ให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยเน้นที่การพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้พื้นที่น้อยแต่มีมูลค่าสูง 6. จัดตั้งเขตอุตสาหกรรมเชิงท่องเที่ยวและสุขภาพ โดยนำพื้นที่ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแต่มีศักยภาพมาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และ 7. จัดตั้งเขตอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ในพื้นที่เอกชน ซึ่งอาจดำเนินการ    ในลักษณะของบ้านกึ่งวิถี หรือสถานที่ พักพิงดูแลผู้ถูกคุมประพฤติในระหว่างพักการลงโทษ และลดวันต้องโทษในพื้นที่เอกชนได้โดยไม่จำเป็นที่รัฐจะต้องลงทุนเพิ่ม

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2. ส.อ.ท. ลุยปี66 ดึงเอสเอ็มอีร่วมเครือข่าย EPR รีไซเคิลบรรจุภัณฑ์พลาสติกรับกติกาโลก (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2566)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปี พ.ศ. 2566 สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) มีเป้าหมายที่จะขยายองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติว่าด้วยหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility : EPR) ไปสู่ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตที่มีจำนวนมาก เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายผ่านโครงการ Pack Back เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน มุ่งให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อรองรับกับกฏระเบียบบังคับของการค้าโลกที่เข้มงวดในเรื่องดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ ทั่วโลกต่างวางเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยไทยวางไว้ในปี พ.ศ. 2608 เพื่อลดโลกร้อน ทำให้วันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องที่ซีเรียสและกลายเป็นการกีดกันการค้าในรูปแบบใหม่ เช่น สหภาพยุโรป (อียู) ออกระเบียบให้ประเทศสมาชิกจะต้องเข้าร่วมโครงการ EPR และปี พ.ศ. 2573 บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในตลาดอียูต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ ส่งผลให้ไทยเองก็จะต้องปรับกติกาและคาดว่า EPR ของไทยจะเป็นภาคบังคับในปี พ.ศ. 2570 เวลาที่เราเหลือ 5 ปีนี้ จึงต้องเร่งให้ความรู้และการปฏิบัติให้ครอบคลุมทุกส่วนการผลิตเพราะไทยมีการส่งออกคิดเป็น 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. โดย TIPMSE เป็นองค์กรหลักของภาคเอกชนที่ขับเคลื่อน EPR ไปสู่แนวทางการปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้เริ่มต้นศึกษาหลักการ EPR เมื่อปี พ.ศ. 2564 ผ่านโครงการ Pack Back เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาได้กำหนดไว้ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกศึกษาเพื่อเรียนรู้หลักการ EPR ที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย ศึกษาข้อมูลโครงสร้างที่จะรองรับแนวทาง ระยะสองสำรวจเพื่อสร้างโมเดล จัดทำฐานข้อมูล และสร้างการสื่อสารผ่านการจัดกิจกรรมสัมมนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมออกแคมเปญต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจ และเกิดความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ และระยะที่สาม เพื่อพัฒนาสู่กฎระเบียบข้อบังคับ ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มที่จะดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อรองรับกติกาที่จะเปลี่ยนแปลงไป

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated with medium confidence

นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์

ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ (สยย.)

 

3. รถปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 9 มีนาคม 2566)

นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ (สยย.) คนใหม่ เปิดเผยว่า ปี 2566 มีการประมาณการตัวเลขการผลิตรถยนต์ในประเทศอยู่ที่ 1,950,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.53% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1,050,000 คัน และผลิต   เพื่อจำหน่ายในประเทศ 900,000 คัน และคาดภายในปี 2573 ประเทศไทยจะมีการผลิตรถยนต์ 2.4 ล้านคัน แบ่งเป็นรถ ZEV 725,000 คัน ตอกย้ำปี 2566-2573 ซึ่งประเทศไทย มีบทบาทในการเป็นฐานการส่งออกเพิ่มมากขึ้น โดย สยย.วางแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ภายใต้ยุทธศาสตร์ "โบ 3 สี ฟ้า เขียว ขาว : 3 RIBBONS STRATEGY" ตั้งเป้าหมายการผลิตรถที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ภายในปี 2573 เข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ได้แก่ การสร้างนวัตกรรม (BLUE OCEAN) เพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจใหม่ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการทดสอบและรับรองในภูมิภาคอาเซียน

อย่างไรก็ตาม การสร้างความยั่งยืน (GREEN GROWTH) ขณะนี้ได้ติดตั้งเครื่องมือทดสอบการปล่อยสารมลพิษตามมาตรฐานยูโร 5 และ 6 เพื่อลดปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 การทดสอบแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งภายในเดือนมีนาคม 2566 นี้ จะเปิดโครงการ "แบตฯ ดี มีคืน" สำหรับลูกค้าที่มาใช้บริการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า จะได้รับคืนเงินค่าบริการทดสอบ 10% สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2566 และการสร้างความน่าเชื่อถือ (WHITE SPIRIT) มีประสิทธิภาพ และธรรมาภิบาล

 

ข่าวต่างประเทศ

A red flower on a green leaf

Description automatically generated with low confidence

 

4. ‘อาลีบาบา’ ขยายธุรกิจเอเชียใต้ ดึงดูดผู้ค้าออนไลน์ในบังกลาเทศ (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 9 มีนาคม 2566)

กระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศ เปิดเผยว่า ตอนนี้มีบริษัทจำนวนมากสมัครจำหน่ายสินค้ากับอาลีบาบา รวมถึง บริษัทในกลุ่มผู้ผลิตสิ่งทอชั้นนำของประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้จากการส่งออกให้แก่ประเทศในช่วงที่บังกลาเทศกำลังเผชิญปัญหาทุนสำรองเงินตราต่างประเทศต่ำมาก และมีปัญหาขาดดุลการชำระเงินอย่างมากมายมหาศาล ทั้งนี้ อาลีบาบา เล็งเป้าสร้างการเติบโตทางธุรกิจในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยพยายามดึงดูดบรรดาพ่อค้า-แม่ค้าในบังกลาเทศ ที่ถือเป็นแหล่งผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าของภมิภาคให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจด้วย ซึ่งอาลีบาบา เสนอโอกาสในการโปรโมทสินค้าและบริการของบรรดาผู้ประกอบการในบังกลาเทศแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศผ่านทางแพลตฟอร์มของบริษัทแลกกับค่าธรรมเนียมรายปี โดยเน้นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) เป็นหลัก ทั้งนี้ อาลีบาบาได้เข้าไปดำเนินธุรกิจในบังกลาเทศนาน 20 ปีแล้วแต่นับจนถึงตอนนี้มีบริษัทแค่ 160 แห่งเท่านั้นที่จัดหาผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มของอาลีบาบา เทียบกับปากีสถานและอินเดีย ที่มีบริษัทเข้ามาขายสินค้าบนแพลตฟอร์มของอาลีบาบารวมกันมากถึง 3,000 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ภายใต้แผนขยายธุรกิจในบังกลาเทศครั้งนี้ อาลีบาบา เสนอตัวสร้างเพจ “Made in Bangladesh”เพื่อนำเสนอสินค้าจากผู้ผลิตชาวบังกลาเทศ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการชาวบังกลาเทศเข้าถึงตลาดใหม่ๆ นอกประเทศได้ในเวลาอันรวดเร็ว เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ได้

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)