ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนเมษายน 2566

ข่าวในประเทศ

A person speaking into a microphone

Description automatically generated

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือดีพร้อม (DIPROM)

 

1. ดีพร้อมยกระดับสตาร์ทอัพ เพิ่มดีกรีการแข่งขันรุกตลาดต่างประเทศ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 27 เมษายน 2566)

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลได้กำชับทุกฝ่ายให้เร่งดำเนินการ เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทย และเป็นหนึ่งในพันธกิจที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ ภายใต้นโยบายของนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเข้าสู่วิถีใหม่ จากนโยบายดังกล่าว ในปี 2566 ดีพร้อมได้มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับธุรกิจภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตด้วยกระบวนการทางธุรกิจที่เข้มข้น ผ่านนโยบาย "ดีพร้อมโต โตได้ โตไว โตไกล โตให้ยั่งยืน" หนึ่งในนั้นคือ โตได้ (Start) ที่เน้นการส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือสตาร์ทอัพ (Startup) หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ผ่านมาดีพร้อมได้ติดอาวุธเพิ่มเติมทักษะการประกอบการ เพื่อให้เกิดโมเดลธุรกิจที่พร้อมต่อยอดกิจการและการเชื่อมโยงไปยังแหล่งเงินทุนคุณภาพ (CVC) ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นหรือดีพร้อม สตาร์ทอัพ คอนเน็ค ซึ่งปีนี้ ดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ โดยเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ รวมถึงเป็นเวทีให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเริ่มต้นได้นำเสนอนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจและสนองความต้องการของตลาด ตลอดจนสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน และส่งเสริมให้ธุรกิจขยายตลาดไปในต่างประเทศได้

 

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 กลุ่มเป้าหมายหลักของ ดีพร้อม สตาร์ทอัพ คอนเน็ค ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีเชิงลึก หรือดีพเทค หรือเทคโนโลยีทั่วไปที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร วัสดุชีวภาพ และพลังงาน โดยมีจุดเด่นที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมร่วม หรือ Co-Creation ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรเอกชนรายใหญ่ในการทดลองใช้นวัตกรรม หรือโซลูชั่นส์ในตลาดจริง อันจะเป็นการสร้างโอกาสในการขยายตลาดร่วมกันในอนาคตต่อไป ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการสตาร์ทอัพได้รับการคัดเลือก 17 บริษัท เพื่อนำเสนอโมเดลธุรกิจ เกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจร่วมลงทุนกว่า 176 ล้านบาท ขยายฐานลูกค้าและสร้างนวัตกรรมร่วมหรือ Co-Creation กว่า 76.5 ล้านบาท

 

A person with her arms crossed

Description automatically generated with medium confidence

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม

อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

 

2. ไทยส่งออกแอร์อันดับ 2 ของโลก แนะใช้เอฟทีเอสร้างแต้มต่อเหนือคู่แข่ง (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 28 เมษายน 2566)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศทั่วโลกที่ร้อนขึ้นในหลายภูมิภาค ส่งผลให้หลายประเทศมีความต้องการใช้ และนำเข้าเครื่องปรับอากาศจากไทยมากขึ้น ทำให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงจีน โดยปี 2565 ไทยส่งออกไปตลาดโลก 7,044 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9% เทียบช่วงเดียวกันของปี 2564 ส่วนช่วง 2 เดือน (มกราคม - กุมภาพันธ์) ปี 2566 ส่งออกมูลค่า 1,423 ล้านเหรียญฯ เพิ่ม 1% เทียบช่วงเดียวกันปี 2565 โดยเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือติดผนัง มีสัดส่วนส่งออกสูงถึง 68% ของการส่งออกเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนทั้งหมด ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศของไทยมีโอกาสส่งออกมากขึ้น เพราะได้เปรียบด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอย่างครบวงจร รวมทั้งการเติบโตของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยมีกับคู่ค้า 18 ประเทศ ขยายส่งออกสินค้าไปตลาดคู่เอฟทีเอได้ ซึ่งจะช่วยปลดล็อกกำแพงภาษีและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทย

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคู่ค้าเอฟทีเอ 16 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง ไม่เก็บภาษีนำเข้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนจากไทยแล้ว เหลือเพียง 2 ประเทศ ได้แก่ จีน และอินเดีย ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ เช่น จีน เก็บภาษีเครื่องปรับอากาศในยานยนต์ 5% และอินเดีย เก็บภาษีเครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือผนัง และเครื่องปรับอากาศในยานยนต์ 5% นอกจากนี้ กรมยังเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนเพิ่มเติมให้ไทย ภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลงที่มีอยู่แล้วและที่อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบทางด้านภาษี และช่วยขยายส่วนแบ่งตลาดให้กับสินค้าไทยในตลาดโลกเพิ่มขึ้น

 

A person folding the arms

Description automatically generated with medium confidence

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

3. กนอ. จับมือ PRIME เปิดตัว PIE พร้อมผนึกพลังพันธมิตรอุตสาหกรรม ประกาศเป้า มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 25 เมษายน 2566)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กนอ. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงาน ที่ได้ร่วมผนึกพลังขับเคลื่อน เพื่อการพัฒนาประเทศไทย ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมุ่งสร้างความสมดุลให้ “เศรษฐกิจสามารถเติบโตควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน” และเป็นที่น่ายินดียิ่ง ที่การนิคมอุสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จํากัด (มหาชน) ได้ร่วมทุนกันตั้ง บริษัท ไพร์ม อินดัสเทรียล เอ็นเนอร์ยี่ จํากัด หรือ PIE ขึ้น โดยมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในเขตนิคมอุตสาหกรรมและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ กนอ. มีการวางนโยบายการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของนิคมอุตสาหกรรม ให้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในเรื่อง BCG โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องการบริหารจัดการพลังงาน การลดต้นทุน และ Carbon Neutrality อันสอดคล้องกับ ไพร์ม ที่มีเป้าหมายในการประกอบธุรกิจด้านพลังงานทดแทน (Renewable Energy) และอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency) เพื่อให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดย PIE จะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของประเทศร่วมกัน

 

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสมประสงค์ ปัญจะลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ไพร์ม ในฐานะผู้นําธุรกิจด้านพลังงานแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ได้ดำเนินธุรกิจด้วยความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อม จวบจนวันนี้ ที่การนิคมอุตสาหกรรมได้ให้โอกาสเราร่วมทุน จนเกิดเป็น PIE ยิ่งทำให้เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยม ที่จะสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยความพร้อมด้านนวัตกรรมที่ทันสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ระหว่างปี 2564 ถึง 2573 เรามีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย 20-25% โดยร่วมผลักดันการใช้พลังงานทดเเทนและการอนุรักษ์พลังงาน จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมายาวนาน เรามั่นใจว่า จะสามารถตอบสนองนโยบายอันสำคัญยิ่งนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ  ขณะที่ นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา ประธานคณะกรรมการบริษัท ไพร์ม อินดัสเทรียล เอ็นเนอร์ยี่ จํากัด เปิดเผยว่า PIE มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะประกอบธุรกิจด้านพลังงานทดแทน (Renewable Energy) และอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency) โดยรับบทบาทขับเคลื่อน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ กนอ. ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (GHGs)  และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593

 

ข่าวต่างประเทศ

A red flag with a yellow star

Description automatically generated with medium confidence

 

4. ค้าปลีกเวียดนาม พุ่ง 3.5 แสนล.ดอลล์ ทั่วโลกแห่ลงทุน (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 24 เมษายน 2566)

เวียดนามนิวส์ เปิดเผยรายงานข้อมูลจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ว่าตลาดค้าปลีกเวียดนามมีมูลค่า 1.42 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มอีกเกือบ 2.5 เท่ามาอยู่ที่ 3.5 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 โดยในเดือนมกราคม 2566 ยอดค้าปลีกโดยรวมสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค และบริการลดลง 6% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน มาอยู่ที่กว่า 481.8 ล้านล้านด่อง (2.04 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการอ่อนตัวลง เพราะสินค้าหลายอย่างถูกซื้อไปแล้วก่อนเทศกาลเต็ตหรือตรุษญวน ผู้คนจึงใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นหลังจากนั้น แต่ยอดค้าปลีกในช่วงเวลาดังกล่าวยังเพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสองเดือนแรกของปีนี้ ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ที่กว่า 994.1 ล้านล้านด่อง

อย่างไรก็ตาม ทางด้านตัวแทนจาก เอชเอสบีซี เวียดนาม กล่าวว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เป็นองค์ประกอบสำคัญอันหนึ่งที่ช่วยแปลงโฉมเวียดนามให้เป็นเขตเศรษฐกิจเปิดกว้างที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคและเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันรายได้จากการส่งออกของเวียดนาม 80% มาจากนักลงทุนเอฟดีไอจากทั่วโลก, ในภูมิภาคหรือบรรษัทข้ามชาติ อีกราว 25% เป็นมูลค่าการลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ ผลวิจัยจากเอชเอสบีซี ชี้ว่า ภายในปี 2573 ตลาดผู้บริโภคในประเทศเวียดนามจะแซงไทย สหราชอาณาจักร และเยอรมนี โดยในปี 2566 จะได้เห็นบรรษัทข้ามชาติจำนวนหนึ่งในเอเชีย แสดงความสนใจเวียดนาม เข้ามาในภาคค้าปลีก เซมิคอนดักเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนมือถือ พลาสติก พลังงานหมุนเวียน และโลจิสติกส์ พวกเขากำลังหาทางขยายหรือลงทุนใหม่ในเวียดนาม

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)