ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2566

ข่าวในประเทศ

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

 

1. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยกระดับสินค้าชุมชน จัดงาน 'DIPROM Smart Market' (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2566)

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน ส่งเสริมการตลาดวิถีใหม่ ยกระดับสินค้าชุมชน จัดงาน "DIPROM Smart Market" พบกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนจากทั่วประเทศกว่า 50 ร้านค้า ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน ได้ดำเนินการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งได้มีการนำหลักของ BCG เกี่ยวกับกับการอนุรักษ์ การบริหารจัดการ กระบวนการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม มาปรับใช้ในการพัฒนา โดยนำ ทรัพยากรในท้องถิ่น เทคโนโลยี นวัตกรรมมาประยุกต์ในการพัฒนาเพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของตลาด โดยสถานการณ์ของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปมาก พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน จึงใช้โอกาสนี้ในการสร้างมาตรฐานใหม่ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงจัดกิจกรรมการส่งเสริมการตลาดวิถีใหม่ด้วยกลไก Smart Marketing ภายใต้โครงการยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อเป็นการส่งเสริมการตลาดวิถีใหม่ ด้วยการยกระดับสินค้าชุมชน ชื่องาน "DIPROM Smart Market" ระหว่างวันที่ 17- 21 พฤษภาคม 2566 ณ ลาน โปรโมชั่น ชั้น 1 โซน B ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสต์เกต อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

 

A person in a suit with his arms crossed

Description automatically generated with medium confidence

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

2. กนอ.นำทุนไทยบุกเกาหลี หารือ 40 บริษัท หวังดึงลงทุน 4 อุตสาหกรรม (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 18 พฤษภาคม 2566)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 15-18 พฤษภาคม 2566 กนอ. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และบริษัทเอกชนรายใหญ่ของไทยที่มีความร่วมมือทางธุรกิจกับเกาหลีใต้ ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าร่วมกิจกรรมชักจูงการลงทุน ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้กิจกรรมสัมมนาการลงทุนหัวข้อ "Thailand Investment Promotion Strategy : NEW Economy, NEW Opportunities" โดยมีการพบปะหารือกับบริษัทกลุ่มเป้าหมายกว่า 40 ราย เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการลงทุนกับหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ซึ่ง กนอ. ได้นำเสนอภาพรวมของการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ข้อมูลเกี่ยวกับกนอ. สิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับภาษี และไม่เกี่ยวกับภาษี พร้อมทั้งให้ความเชื่อมั่นกับนักลงทุนเกาหลีใต้ ในการเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของไทย ทั้งนี้ ในการประชุมรายย่อย (One on One Meeting) เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นรายบริษัท โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (Chip) มีการนำเสนอข้อมูลและศักยภาพนิคมอุตสาหกรรมของไทยที่พร้อมเป็นฐานการผลิต รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุน ขณะเดียวกันยังเชิญชวนให้กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย พร้อมทั้งให้ความมั่นใจว่า หากลงทุนในประเทศไทย ต้องลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่ง กนอ. ได้แจ้งให้นักลงทุนเกาหลีใต้รับทราบถึงศักยภาพและความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 68 แห่ง ใน 16 จังหวัด ทั้งที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมในกำกับของ กนอ. และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับภาคเอกชน ที่พร้อมรองรับการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของไทย โดยที่ผ่านมานักลงทุนหลายชาติต่างชื่นชมว่า การลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพครบถ้วนและสมบูรณ์ นอกจากเรื่องของความสะดวกรวดเร็วแล้ว ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมถึงการขออนุมัติอนุญาตให้คนเข้ามาทำงานในประเทศอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการโรดโชว์ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีในการเจรจาธุรกิจครั้งใหญ่ระหว่าง กนอ.และบริษัทชั้นนำจากเกาหลีใต้ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีนวัตกรรมที่ทันสมัย และเป็นผู้นำเทคโนโลยีในหลายๆ อุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมหลัก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ และอุตสาหกรรมอาหารและเสริมความงาม เป็นต้น ซึ่งจากการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กนอ.พยายามเจาะกลุ่มตลาดดังกล่าวด้วย เพื่อชักชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยให้มากยิ่งขึ้น

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated with medium confidence

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

 

3. สนค. ลุยเสริมแกร่งวิสาหกิจชุมชน นำร่อง 2 แห่ง ดันเป็นต้นแบบทำธุรกิจโมเดล BCG (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2566)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนค. อยู่ระหว่างการดำเนินงาน “โครงการศึกษาแนวทางการยกระดับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยได้มีการลงพื้นที่สัมภาษณ์เชิงลึก และรวบรวมข้อมูลวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ใน 4 ภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทำการสัมภาษณ์เชิงลึกวิสาหกิจชุมชน จำนวน 20 กลุ่ม ทั้งภาคการผลิตสินค้าและภาคบริการ จากนั้นได้คัดเลือกวิสาหกิจชุมชนเพื่อเป็นต้นแบบ จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. วิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ จังหวัดสมุทรสงคราม ต้นแบบสำหรับภาคการผลิตสินค้า โดยสินค้าที่ผลิต ได้แก่ กล้วยแปรรูปต่างๆ เช่น กล้วยผง กล้วยอบ กล้วยเส้น และไซรัปกล้วย และ 2. วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก จังหวัดกระบี่ ต้นแบบสำหรับภาคบริการ ให้บริการการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม และบริการโฮมสเตย์ ทั้งนี้ เมื่อได้คัดเลือกวิสาหกิจชุมชนเพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบแล้ว สนค. ได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนต้นแบบภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เมื่อวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2566 ณ จังหวัดสมุทรสงคราม และวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2566    ณ จังหวัดกระบี่ เป็นการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้วิสาหกิจชุมชนต้นแบบทั้ง 2 กลุ่ม รวมทั้งเปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนที่สนใจ และเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดกระบี่ เข้าร่วมด้วย รวมกว่า 50 ราย

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ สนค. จะติดตามผลการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ และจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการในเดือนก.ค.2566 จากนั้นจะถอดบทเรียนความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดล BCG เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และเผยแพร่ให้วิสาหกิจชุมชนใช้เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจใช้ประโยชน์ด้วย

 

ข่าวต่างประเทศ

A red flag with yellow stars

Description automatically generated with medium confidence

 

4. แบงก์ชาติจีนฉีดเงินเข้าระบบ 2.5 หมื่นล้านหยวน คงดอกเบี้ย MLF ที่ 2.75% (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2566)

ธนาคารกลางจีน เปิดเผยว่า ได้มีการประกาศอัดฉีดเงินจำนวน 2.5 หมื่นล้านหยวน เข้าสู่ระบบธนาคารในวันนี้ โดยดำเนินการผ่านโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ที่อัตราดอกเบี้ย 2.75% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนที่แล้ว และเป็นการคงอัตราดอกเบี้ย MLF ติดต่อกันเดือนที่ 9 สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนยังได้อัดฉีดเงิน 2 พันล้านหยวน เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านข้อตกลง reverse repo ประเภทอายุ 7 วันที่อัตราดอกเบี้ย 2.00% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมเช่นกัน ซึ่งการคงอัตราดอกเบี้ย MLF ในวันนี้ มีขึ้นก่อนที่ธนาคารกลางจีนจะประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีและ 5 ปี ในวันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 นี้ ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ธนาคารกลางจีนจะตรึงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีไว้ที่ระดับ 3.65% และตรึงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีที่ 4.30%

อย่างไรก็ตาม จีนซึ่งมีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกได้กำหนดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2566 ไว้ที่ประมาณ 5% หลังจากเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 3% ในปี 2565 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว ธนาคารกลางจีนได้ปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบธนาคาร และลดต้นทุนในการระดมทุนของภาคธุรกิจ รวมทั้งกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางจีนปรับลด RRR ในอัตรา 0.25% สำหรับสถาบันการเงินทุกแห่ง และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)