ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคม 2566

ข่าวในประเทศ

A person standing at a podium with a microphone

Description automatically generated with medium confidence

นายจุลพงษ์ ทวีศรี

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

 

1. กรอ.ออกกฎคุมเข้มโรงงาน สั่งรายงานการจัดเก็บหรือใช้สารเคมี (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2566)

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การประกอบกิจการโรงงาน ประเภทที่มีการเก็บหรือการใช้สารเคมี หากโรงงานมีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยสารเคมีที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นเหตุให้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อม ทั้งในโรงงานและชุมชนโดยรอบได้ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 กำหนดให้โรงงานมีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม มีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานและจัดทำรายงานปริมาณการใช้/การเก็บสารเคมีของโรงงาน โดยข้อเท็จจริงที่ต้องรายงาน ได้แก่ 1. มีการเก็บหรือใช้สารเคมีในการประกอบกิจการโรงงานในปริมาณตั้งแต่หนึ่งตันต่อปีต่อสารเคมีหนึ่งชนิด พร้อมทั้งรายงานสารเคมีแต่ละรายการ หรือ 2. มีการเก็บหรือใช้สารเคมีในการประกอบกิจการโรงงาน แต่ปริมาณไม่ถึงหนึ่งตันต่อปีต่อสารเคมีหนึ่งชนิด หรือ 3. ไม่มีการเก็บหรือใช้สารเคมีในการประกอบกิจการโรงงาน ทั้งนี้ เพื่อให้การรายงานการใช้/การเก็บสารเคมีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงจึงได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เพื่อเปลี่ยนช่องทางการรายงานข้อมูล และลดความซ้ำซ้อนของการจัดทำรายงาน เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ต้องรายงานข้อมูลให้ภาครัฐ อีกทั้งยังเป็นการปรับรอบการรายงานให้สอดคล้องกับการรายงาน แบบแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานรายปี หรือ ร.ง. 9 คือ ภายในเดือนเมษายนของปี ถัดไป สำหรับการรายงานข้อมูลในรอบปีแรกของการบังคับใช้กฎหมาย 6,498 โรงงาน ที่อยู่ในบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงฯ ต้องส่งรายงานภายใน 31 สิงหาคม 2566 และที่ไม่อยู่ในบัญชีแนบท้ายประกาศ กระทรวงฯ อีก 54,140 โรงงาน ต้องส่งรายงานภายใน 1 ตุลาคม 2567 ผ่านระบบรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม (iSingle Form) หากไม่ส่งรายงานตามกำหนด มีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท โดยในปี 2567 กรอ. ตั้งเป้าให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานส่งรายงานข้อมูลครบ 100%

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงงานที่ได้รายงานข้อมูลผ่านระบบข้อมูลเพื่อการจัดการความปลอดภัยด้านสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม (https:// facchem.diw.go.th/) แล้ว ให้ถือว่าได้รายงานข้อมูลในรอบปีแรกของการบังคับใช้กฎหมายแล้ว และต้องรายงานข้อมูลครั้งต่อไป ภายในเดือนเมษายนของปีถัดไป ทั้งนี้ กรอ. เล็งเห็นความสำคัญด้านการบริหารจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อลดความเสียหาย ต่อภาคอุตสาหกรรมและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชนโดยรอบโรงงาน ภายใต้แนวคิดอุตสาหกรรมดีอยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน

 

A person in a suit with his arms crossed

Description automatically generated with medium confidence

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

2. กนอ.โรดโชว์ฉลุยเกาหลีใต้เล็งลงทุนนิคมฯ ไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 22 พฤษภาคม 2566)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงภาพรวมการร่วมเดินทางไปโรดโชว์ที่สาธารณรัฐเกาหลี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระหว่างวันที่  15-18 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า ในส่วนของ กนอ.ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยในวันแรก กนอ.ได้เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาการลงทุน ภายใต้หัวข้อ "Thailand Investment Promotion Strategy : NEW Economy NEW Opportunities" รวมทั้งได้พบปะหารือกับบริษัทกลุ่ม เป้าหมายกว่า 40 บริษัท และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน กนอ. ยังมีการประชุมรายย่อย (One on One Meeting) กับกลุ่มเป้าหมายเป็นรายบริษัท ทั้งนี้ หลังจากได้หารือกับบริษัทกลุ่มเป้าหมายกว่า 40 บริษัท ปรากฏว่า มีนักลงทุน 4 ราย ที่สนใจลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1. นักลงทุนจากกลุ่มผู้ประกอบกิจการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 2. นักลงทุนจากกลุ่มผู้ประกอบกิจการผลิตที่เคลือบกระจกรถยนต์แบบพิเศษกันฝ้า 3. นักลงทุนจากกลุ่มผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับเครื่องมือทางการแพทย์ (Medical Hub) และเทคโนโลยีที่ใช้เกี่ยวกับอุปกรณ์การแพทย์ เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัด เครื่อง X-ray เป็นต้น และ 4. นักลงทุนจากกลุ่มผู้ประกอบกิจการผลิตอะไหล่ยานยนต์ โดยนักลงทุนทุกรายสนใจจะเช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมแถบอีอีซีและบริเวณใกล้เคียง คาดว่าเงินลงทุนทั้งหมดจาก 4 บริษัทที่สนใจลงทุน ในนิคมอุตสาหกรรมนั้น ประมาณ 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนอีก 1 ราย ที่สนใจลงทุนกับ กนอ. โดยจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพลังงานทางเลือก (Renewable Energy) มูลค่าการลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาทอีกด้วย สำหรับกิจกรรม Roundtable (กิจกรรมความร่วมมือแบบกลุ่ม) กับ นายปาร์ค แจ ฮง ประธาน Korea Electric Vehicle Industry Association (KEVIA) ซึ่งเป็นสมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของเกาหลีใต้นั้น ได้มอบหมายให้นางสาวนลินี กาญจนามัย ผู้ช่วยผู้ว่าการสายงานบริหารเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อพบปะหารือกับสมาชิก KEVIA เพื่อรับฟังความคิดเห็น ให้ข้อมูลสิทธิประโยชน์ ข้อมูลการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทย และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความชัดเจนในการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสร้างระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เกิดการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านธุรกิจของประเทศไทย ซึ่งมีนักลงทุนเกาหลีเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ประมาณ 25 บริษัท

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พบว่า นักลงทุนเกาหลีมีประเด็นที่สนใจดังนี้ 1. ความต้องการสิทธิประโยชน์ในการนำเข้าและผลิตรถประเภทรถโดยสารไฟฟ้า (BUS EV) และรถบรรทุกไฟฟ้า (Truck EV) ในประเทศไทย 2. ความต้องการสิทธิประโยชน์หรือการลดราคาในการติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (Battery charging station) ในประเทศไทย 3. ความต้องการให้รัฐบาลไทยสนับสนุนและช่วยเหลือในเรื่องการลดราคาการติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (Battery charging station) ในประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลเกาหลีมีการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในธุรกิจนี้เป็นอย่างมาก และ 4. ต้องการให้ กนอ. และ บีโอไอ จัดกิจกรรมพานักลงทุนเกาหลีศึกษาดูงาน โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า EV ในประเทศไทย เพื่อพิจารณาและศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในประเทศไทยต่อไป

 

A person in a pink dress

Description automatically generated with low confidence

นางวรวรรณ ชิตอรุณ

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

 

3. หลายสินค้าส่งออกอ่วมหลังจากทั้งยุโรป-สหรัฐบังคับใช้ CBAM-CCA (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2566)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า มาตรการปรับภาษีคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ ซีแบม (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) หนึ่งในมาตรการภายใต้นโยบายแผนปฏิรูปสีเขียวของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน (Carbon Leakage) และลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขันจากผู้ผลิตต่างชาติที่มีมาตรการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นน้อยกว่าสหภาพยุโรป จะมี ผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนในกระบวนการผลิต ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย พลาสติก และไฮโดรเจน โดย สินค้าไทยที่มีความเสี่ยงและได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้มี 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ พลาสติก เหล็ก และอะลูมิเนียม ซึ่งในปี 2565 พลาสติกมีมูลค่าส่งออก 676 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือสัดส่วน 2.4% เหล็กอยู่ที่ 201 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 0.7% และอะลูมิเนียม อยู่ที่ 111 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน 0.4% ของมูลค่าสินค้าทั้งหมดที่ส่งไปยังสหภาพยุโรป

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายการเก็บภาษีคาร์บอน (Clean Competition Act : CCA) เพื่อกำหนดราคาคาร์บอนจากสินค้าที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเข้มข้นที่ผลิตในประเทศและจากการนำเข้าซีแบมมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2569 โดยสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนซีแบมที่ไทยส่งไปสหรัฐอเมริกามี 2 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ พลาสติกและอะลูมิเนียม ในปี 2565 โดยพลาสติกมูลค่าส่งออกรวม 1,245 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 2.1% และอะลูมิเนียมอยู่ที่ 884 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 1.5% ของมูลค่าสินค้าที่ส่งไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการซีแบม แม้ปัจจุบันสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาไม่ใช่ตลาดหลักที่ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวข้างต้นที่มีความเสี่ยงสูงต่อการปล่อยคาร์บอน แต่จะเป็นประโยชน์ต่อไปสำหรับการเตรียมความพร้อมที่จะปรับตัวรองรับการดำเนินมาตรการซีแบมของประเทศอื่นที่มีแนวโน้มจะบังคับใช้ในอนาคต เช่น จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น

 

ข่าวต่างประเทศ

A close up of a flag

Description automatically generated

 

4. สิงคโปร์หวังพึ่งท่องเที่ยวฟื้น หนุนศก.ประเทศพ้นถดถอย (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2566)

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เปิดเผยรายงานว่า รัฐบาลสิงคโปร์เชื่อมั่นว่าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่เข้ามาส่งเสริมภาคการบริการ จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ได้ แม้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะซบเซาก็ตาม โดยรายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่ยังคงคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ไว้ที่ระดับ 0.5-2.5% โดยระบุว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับดังกล่าว นอกจากนี้ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม (MTI) ยังเผยแพร่การคาดการณ์สำหรับเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2566 ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีดีพีปรับตัวลดลง 0.4% เมื่อเทียบรายปี จากไตรมาส 4/2565 ซึ่งดีกว่าคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะปรับตัวลดลง 0.7%

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางยง ยิก เว่ย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ MTI กล่าวว่า มีการคาดการณ์ว่าจะไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคในปีนี้ แต่หากพิจารณาจากความเสี่ยงขาลงต่างๆ และแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอ จึงไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ที่ว่าเศรษฐกิจบางไตรมาสจะหดตัวลงเมื่อเทียบรายไตรมาสในปีนี้ ทั้งนี้ แม้ MTI ยอมรับว่าความเสี่ยงขาลงในเศรษฐกิจโลกได้เพิ่มขึ้นและอาจสร้างภาระต่อการบริโภคและการลงทุนทางธุรกิจมากขึ้น แต่ก็ยังยืนยันว่า ภาคบริการยังคงมีความยืดหยุ่นและมีส่วนทำให้เศรษฐกิจขยายตัว รวมถึงการจ้างงานด้วย

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)