ข่าวในประเทศ
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
1. ก.อุตฯ มั่นใจนิคมฯ สมาร์ท ปาร์คเปิดใช้ปี '67 ตามแผน (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2566)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรม สมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ซึ่งเป็นโครงการฯ ภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ว่า ความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสมจนถึง 25 มิถุนายน 2566 คืบหน้าไป 60.70% ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนที่วางไว้ในปี 2567 โดยนิคมฯ แห่งนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ประกาศเจตนารมณ์ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนโดยดำเนินงานขับเคลื่อนเป็นไปตามแนวคิด BCG Economy ของรัฐบาล และสอดรับกับนโยบาย MIND ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เน้นย้ำให้ทุกนโยบาย มาตรการ และกลไก มุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ อันจะส่งผลดีต่อธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้สู่ชุมชน มุ่งเน้นการผลิตและโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ทางด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.). กล่าวเสริมว่า การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) ในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่โครงการ 1,383.71 ไร่ ถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ที่จะก้าวข้ามการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นฐานเดิม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง หรือ New S-Curve เสริมสร้างความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ทันสมัย ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ภายใต้แนว คิด "นิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
อย่างไรก็ตาม นโยบายของรัฐบาลกำหนดให้ต้องบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 นิคมอุตสาหกรรม สมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) เป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบที่ทันสมัย ทั้งทางด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ระบบสื่อสาร ระบบขนส่ง การจัดการพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ แบ่งพื้นที่เป็น Cluster แยกตามลักษณะกลุ่มอุตสาหกรรม มีระบบรักษาความปลอดภัยและพื้นที่สีเขียว ล้อมรอบแต่ละคลัสเตอร์ นำระบบไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคลงใต้ดินเพื่อทัศนียภาพและความปลอดภัย บริหารจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดเตรียมพื้นที่พาณิชยกรรม เพื่อเชื่อมโยงวิสาหกิจชุมชนสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของภูมิภาค
นายวีริศ อัมระปาล
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
2. ต่างชาติเลือกไทยดันลงทุนเปรี้ยง (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2566)
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนไทยช่วงครึ่งปี 2566 และแนวโน้มครึ่งปีหลังว่า นักลงทุน ทั้งไทยและต่างชาติตัดสินใจลงทุนเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ส่งผลต่อยอดขาย/เช่าที่ดิน กนอ.ตลอดปีงบประมาณ 2566 (1 ตุลาคม 2565 - 30 กันยายน 2566) มีโอกาสแตะ 4,350 ไร่ จากยอด ณ เดือนพฤษภาคม 4,130 ไร่ และจากเป้าหมายปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 3,000 ไร่ เพิ่มจากปี 2565 ซึ่งมียอดขายรวมอยู่ที่ 2,016 ไร่ ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยสนับสนุนมาจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายมีการเปิดประเทศมากขึ้น ทำให้ กนอ.สามารถออกไปชักจูงการลงทุน (โรดโชว์) อย่างต่อเนื่อง อาทิ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น โดยเฉพาะญี่ปุ่นโรดโชว์รวม 3 ครั้ง สุดท้ายคือปลายเดือนมิถุนายน 2566
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนที่สนใจอยู่ก่อนแล้ว กนอ. จึงพานักลงทุนสำรวจพื้นที่นิคม ให้ข้อมูลสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน โดยเฉพาะประเทศผู้ลงทุนหลักอย่าง จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และยุโรป ซึ่งย้ายฐานผลิตและเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ จากแรงกดดันจากการเมืองระหว่างประเทศ ประกอบกับนโยบายบางประเทศถึงจุดอิ่มตัว ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมไทยมีระบบห่วงโซ่อุปทานเข้มแข็ง โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิทัล
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. บีโอไอผนึก 2 เอกชนจัดงานจับคู่ธุรกิจห่วงโซ่อุปทานรถ EV (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 13 กรกฎาคม 2566)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา บีโอไอได้ร่วมกับบริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) และบริษัท ดับบลิว เอชเอ คอร์ปอเรชั่น จัดกิจกรรม "BYD Sourcing Day" ที่จังหวัดชลบุรี เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ระหว่างบริษัท บีวายดี (BYD) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ชั้นนำของโลกและอันดับหนึ่งของประเทศจีน กับผู้ผลิตชิ้นส่วน ในประเทศไทยที่มีศักยภาพ สำหรับกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ "BYD Sourcing Day" ในครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่มีศักยภาพกว่า 160 บริษัท ได้เข้าร่วมการเจรจาธุรกิจกับบริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด โดยเน้นไปที่ชิ้นส่วนสำคัญและบริการใน 7 กลุ่มตามความต้องการของ BYD ได้แก่ 1. ระบบส่งกำลังรถยนต์ (Powertrain) 2. ชิ้นส่วนแบตเตอรี่แรงดันสูง 3. อุปกรณ์และชิ้นส่วนต่างๆ 4. กลุ่มงานบริการ (Services Department) 5. ระบบบริหารจัดการ (Administration Services) 6. อุปกรณ์สำหรับการซ่อมบำรุง ในโรงงาน (MRO) และ 7. การขนส่ง และโลจิสติกส์ โดยมีผู้ประกอบการในประเทศให้ความสนใจเข้าร่วมแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจมากกว่า 400 คน ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอีวีอย่างครบวงจร นอกเหนือจากการให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนแล้ว บีโอไอ ยังให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างบริษัทผลิตรถยนต์อีวี กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยได้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนระดับโลก โดยเฉพาะในห้วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยสามารถดึงดูดผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลก ให้ตัดสินใจเข้ามาสร้างฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยได้เป็นจำนวนมากในระยะเวลาที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัท บีวายดี ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งแบตเตอรี่และชิ้นส่วนรถยนต์ EV รวม 6 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 30,000 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของ BYD แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน จากความเชื่อมั่นในนโยบายและมาตรการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงกระแสการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน BYD ถือเป็นค่ายรถยนต์อันดับ 1 ในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 35 (ประมาณ 1.5 หมื่นคัน) และมียอดจองรวมทุกรุ่นประมาณ 200 คันต่อวัน
ข่าวต่างประเทศ
4. สิงคโปร์เผย GDP โตเล็กน้อยใน Q2 รอดพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอย (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2566)
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ เปิดเผยรายงานว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์สามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยทางเทคนิคได้อย่างฉิวเฉียด หลังจากเศรษฐกิจขยายตัวขึ้นเล็กน้อยในไตรมาส 2/2566 โดยเศรษฐกิจสิงคโปร์ยังคงเผชิญกับแรงกดดัน เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกอ่อนแอลง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นปัจจัยฉุดการค้าให้อ่อนแอลงด้วย โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2566 ของสิงคโปร์ ขยายตัว 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส หลังจากที่หดตัวลง 0.4% ในไตรมาส 1 และสอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดว่า GDP ไตรมาส 2 อาจจะขยายตัว 0.3% ทั้งนี้ เมื่อเทียบเป็นรายปี ตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ขยายตัว 0.7% ซึ่งดีกว่าในไตรมาส 1 ที่มีขยายตัว 0.4% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า อาจจะขยายตัว 0.6% ส่วนทั้งปี 2566 นั้น รัฐบาลสิงคโปร์คาดการณ์ว่า GDP จะขยายตัวราว 0.5% - 2.5% สำหรับภาคการผลิตซึ่งต้องพึ่งพาการส่งออกของสิงคโปร์นั้น หดตัวลง 7.5% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ภาคบริการซึ่งต้องพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศ ดีดตัวขึ้น 3% และอุตสาหกรรมการก่อสร้างมีการขยายตัว 6.6%
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์เปิดเผยในเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า ทางกระทรวงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของประเทศจะไม่เผชิญกับการถดถอยทางเทคนิคในปีนี้ ซึ่งหมายถึงการที่เศรษฐกิจหดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส โดยอุปสงค์ในตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มอ่อนแอลงในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสิงคโปร์ด้วย
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)