ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม 2566

ข่าวในประเทศ

A person speaking into a microphone

Description automatically generated

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม)

 

1. "ดีพร้อม" ติดอาวุธ "เอสเอ็มอี" ฝ่าพิษเศรษฐกิจ (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 17 กรกฎาคม 2566)

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) เปิดเผยว่า ได้จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมให้ดีพร้อม (คพอ.ดีพร้อม) เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ด้วยการสร้างมาตรฐานเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนเติมความคิดสร้างสรรค์ ในการทำธุรกิจให้เติบโตคู่กับชุมชนไปแบบก้าวกระโดด สำหรับโครงการดังกล่าวจะจัดทำในรูปแบบกิจกรรมฝึกอบรมด้วยหลักสูตรเนื้อหาที่เข้มข้นครบวงจร โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญในแขนงต่างๆมาเป็นผู้ให้ความรู้ครอบคลุมในทุกๆ ด้าน อาทิ การจัดทำแผนกลยุทธ์ธุรกิจ การบริหารจัดการธุรกิจการตลาดการเงินการพัฒนาความรู้ในมิติต่างๆสำหรับผู้บริหารองค์กรและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ระหว่างสมาชิกที่เข้าร่วมอบรม ให้นำไปพัฒนาหรือต่อยอดธุรกิจได้ ให้มีความพร้อมที่จะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปีนี้ มั่นใจว่าจะพัฒนาและยกระดับ คพอ.ดีพร้อมให้ได้ครบ 13 รุ่น จากที่ก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 11 รุ่น หรือมีเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการ 300 ราย หากดำเนินการทั้ง 13 รุ่น แล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ 3,000 ล้านบาท

 

A person in a pink dress

Description automatically generated

นางวรวรรณ ชิตอรุณ

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

 

2. ขับเคลื่อนอุตฯชีวภาพ ตั้งเป้าปี 70 ลงทุนแตะ 1.9 แสนล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 21 กรกฎาคม 2566)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2561 และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการดำเนินการตามมาตรการ ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสศอ. ได้รายงานความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2566 สศอ. ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพ ได้จัดการประชุมร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่า 20 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งรับทราบปัญหา อุปสรรคที่ส่งผลต่อการลงทุน และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โดยจะรวบรวมข้อมูลเพื่อรายงานต่อ ครม. ได้รับทราบต่อไป สำหรับการดำเนินงานที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐได้ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ รวมถึงสร้าง Ecosystem เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศไทย อาทิ 1. การปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการให้ตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ ทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 2. การเพิ่มกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพในบัญชีท้ายกระทรวง กำหนดประเภท ชนิด และขนาดของโรงงาน พ.ศ. 2564 เพื่อแยกอุตสาหกรรมชีวภาพออกจากอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ 3. การแก้ไขผังเมืองเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพ ได้แก่ ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครสวรรค์ และลพบุรี 4. การสร้างศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ซึ่งคาดว่าจะมีการลงทุนสูงในอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศไทยจะเป็นไปตามเป้าหมายของมาตรการ นอกจากนี้พบว่า การลงทุนตามมาตรการเดิมหลายโครงการได้เปลี่ยนแผนการลงทุนหรือชะลอการลงทุนออกไป สาเหตุจากประสบปัญหาและอุปสรรคบางประการ อีกทั้งยังพบว่ามีการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพเพิ่มเติมจากมาตรการฯ ซึ่งควรจัดกลุ่มอุตสาหกรรมใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อให้การกำหนดมาตรการสนับสนุนในแต่ละกลุ่มชัดเจนขึ้น รวมถึงเชื่อมโยงการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมอาหารเสริม อุตสาหกรรมสมุนไพร และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ทั้งนี้ คาดว่ามีมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้อีกไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท ผลการประชุม สรุปได้ว่า ภาครัฐควรดำเนินการจัดตั้ง One Stop Service ของอุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน อำนวยความสะดวก และลดขั้นตอนต่างๆ ที่ยุ่งยากซับซ้อน ให้กับนักลงทุนที่สนใจ

 

อย่างไรก็ตาม สศอ. ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพ ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามมาตรการฯ และข้อเสนอแนะที่ได้จากการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ ครม. ได้รับทราบเร็วๆ นี้ พร้อมทั้งเตรียมเสนอมาตรการ ใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้นโยบายในภาพรวมชัดเจนและครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายใน ปี 2570 และเพื่อบรรลุเป้าหมายเกิดการลงทุน 190,000 ล้านบาท เกษตรกรมีรายได้เพิ่มเป็น 85,000 บาทต่อปี ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรอย่างน้อย 800,000 ครัวเรือน รวมถึงมีการผลิตและจ้างแรงงานที่มีความรู้อย่างน้อย 20,000 ตำแหน่ง ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

A person in a suit sitting at a table

Description automatically generated

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. เอกชนจี้รัฐ 'ตรึงดีเซล' ต่ออีก หวั่นขึ้นพรวด 5 บ. ซ้ำคนไทย (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม 2566)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงการคลังไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 5 บาท มีผลวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 นี้ ว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องดูแลราคาดีเซลที่ปัจจุบันอยู่ระดับประมาณลิตรละ 32 บาทต่อลิตร ไม่ให้ราคาดีเซลปรับเพิ่มขึ้นแบบพรวดพราดทันที เนื่องจากจะยิ่งซ้ำเติมผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอนสูง ทั้งนี้ เท่าที่ทราบกระทรวงพลังงานพร้อมใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ มาดูแลลดผลกระทบ เพราะหากปล่อยให้ขึ้นพรวดเดียวตามภาษีฯ คือ มาอยู่ที่ลิตรละ 37 บาท จะทำให้ต้นทุนพุ่งขึ้น 10% มีผลต่อราคาสินค้าได้ จึงอยากเห็นการดูแลอุดหนุนราคาดีเซลหากตรึงราคาได้ก็เป็นเรื่องที่ดี และยิ่งเวลานี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยที่ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ว่า ปี 2566 ส่งออกจะโตเพียง 0% ถึง -2% ธุรกิจส่งออกไทยเริ่มได้รับผลกระทบ ดังนั้นจึงจำเป็นที่รัฐควรดูแลต้นทุน ด้านพลังงานโดยเฉพาะราคาดีเซลและค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ (กันยายน - ธันวาคม 2566) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อประคองธุรกิจเหล่านี้ที่คาดว่า คำสั่งซื้อ                  จะเริ่มดีขึ้นในช่วงปลายปีเพื่อรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนได้เสนอแนะไปแล้วว่า ดีเซลไม่ควรจะเกินลิตรละ 35 บาท เพราะจะกระทบเศรษฐกิจรุนแรงและอดีตราคาตลาดโลกสูงมากรัฐจึงได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ดูแลจะเกิดเป็นภาระหนี้จำนวนระดับแสนล้านบาท รวมถึงการดูแลแอลพีจี ร่วมกับรัฐลดภาษีฯ ดีเซลให้ และปัจจุบันดีเซลตลาดโลกลดลงรัฐก็ปรับลดมาอยู่ระดับลิตรละ 32 บาท ดังนั้นเมื่อไม่ลดภาษีฯ ดีเซลลิตรละ 5 บาท จะมีผลต่อราคาที่ปรับขึ้น ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาฐานะกองทุนน้ำมันฯ เชื่อว่า จะยังบริหารได้อยู่แต่คงต้องมองในเรื่องภาระหนี้ที่มีอยู่ด้วยรวมถึงแนวโน้มในสิ้นปีที่ดีเซลปกติจะมีราคาสูงขึ้น

 

ข่าวต่างประเทศ

 

A red circle on a white fabric

Description automatically generated

4. ยอดส่งออกญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย. อานิสงส์ส่งออกรถยนต์แข็งแกร่ง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 20 กรกฎาคม 2566)

กระทรวงการคลังญี่ปุ่น เปิดเผยว่า การส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกรถยนต์แข็งแกร่งขึ้นอย่างมาก โดยรายงานระบุว่าการส่งออกของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบรายปี โดยเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 28 ขณะที่ยอดส่งออกรถยนต์ขยายตัว 49.7% ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของบริษัทแฟกต์เซต (FactSet) คาดการณ์ไว้ว่า ยอดส่งออกอาจจะเพิ่มขึ้น 2.2% สำหรับการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ นั้น ญี่ปุ่นส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (EU) และสหรัฐมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 15% และ 11.7% ตามลำดับ โดยได้รับแรงหนุนจากการจัดส่งสินค้าต่างๆ อาทิ รถยนต์ รวมถึงเครื่องจักรก่อสร้างและเหมืองแร่

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่มียอดการส่งออกลดลง คือ เหล็ก โดยยอดส่งออกไปยังจีนกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ลดลง 11% และ 8.4% ตามลำดับ ส่วนยอดนำเข้า ลดลง 12.9% เนื่องจากอุปสงค์สำหรับสินค้าบางประเภทลดลง อาทิ ถ่านหิน, น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติเหลว

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)