ข่าวในประเทศ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. สั่งสมอ.กวาดล้างของห่วย (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2566)
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าด้อยคุณภาพที่มีราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาในประเทศไทย ให้เข้มงวดตรวจสอบสินค้านำเข้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชนอย่างเคร่งครัด รวมทั้งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบมาตรฐานของสินค้านำเข้าที่อยู่ในข่ายการควบคุมของ สมอ. เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าดังกล่าวเข้าประเทศ ด้านนายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ. จะเข้มงวดในทุกช่องทางเพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในราชอาณาจักร โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ในข่ายการควบคุมของ สมอ. 143 รายการ ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด หากมีสินค้านำเข้าที่ใช้พิกัดและรหัสสถิติที่เชื่อมโยงไว้ ผู้นำเข้าจะต้องยื่นข้อมูลการนำเข้าผ่านระบบเอ็นเอสดับบลิว และได้รับใบอนุญาตก่อนรับมอบสินค้าจากกรมศุลกากร เพื่อป้องกันการนำสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศ และยังตรวจสอบการนำเข้าสินค้าที่ผ่านพิธีการทางศุลกากรผ่านระบบอี-แทคกิ้ง เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของการนำเข้า และตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ดี ยังได้ทำการเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาด และทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม พร้อมกันนั้นได้นำระบบ e-Market surveillance มาใช้ในการ ตรวจติดตามสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศ พร้อมทั้งกำชับทีมนักรบไซเบอร์ ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าทางโทรทัศน์ และแพลต ฟอร์ม ออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อจะได้เฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย ทั้งนี้ สินค้าด้อยคุณภาพราคาถูกที่ทะลักเข้ามาในไทย ส่งผล กระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและความปลอดภัยของประชาชน สมอ. จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจควบคุมและกำกับติดตามสินค้าไม่ได้มาตรฐานในทุกช่องทาง หากผู้ผลิตและผู้นำเข้าฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกินสองล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้จำหน่ายหากขายสินค้าไม่ได้มาตรฐานมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
2. อุตสาหกรรมเคาะกองทุน SME1.5 พันล้าน ปล่อยกู้ลดโลกร้อนต่อยอดธุรกิจยั่งยืน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2566)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม เร่ง ขับเคลื่อนนโยบาย MIND 4 มิติ มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีความตั้งใจในการยกระดับการประกอบธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายการดูแลสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ตามแนวทางแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืน(BCG) และสอดรับกับการที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ(Climate Change) และประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลาง ทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Zero Greenhouse Gas Emission ในปี 2065 โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงได้พิจารณาอนุมัติสินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) เป็นสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) สูงสุดไม่เกิน 7 ปี วงเงินสินเชื่อ เริ่มต้นที่ 1 ล้านบาท สูงสุดไม่เกิน 20 ล้านบาท ต่อราย ในอัตราดอกเบี้ย 3% ใน 3 ปีแรก ปีถัดไปคิดอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำตามที่สถาบันการเงินทั่วไปเรียกเก็บจากลูกค้าชั้นดี หรือ MLR โดยกำหนดกรอบวงเงินสินเชื่อรวมทั้งหมด 1,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จะขอรับสินเชื่อ ต้องมีคุณสมบัติเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย ที่ประกอบธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG กลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง(Supply Chain) และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีต้องการปรับปรุงการดำเนินงานในการดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านการลงทุนด้านเครื่องจักรกล ด้านสิ่งปลูกสร้าง ด้านกระบวนการผลิต อาทิ การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน หรือการปรับมาใช้พลังงานสะอาดทดแทน ทั้งนี้มีเงื่อนไขต้องเป็นธุรกิจประเภทผลิตสินค้าและบริการ ที่มีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน มีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน ไม่เกิน 200 ล้านบาท หรือธุรกิจประเภทค้าปลีกหรือค้าส่ง ที่มีการจ้างงานไม่เกิน 100 คน มีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน ไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐกำหนด
นายธีรยุทธ เลิศศิรรังสรรค์
นายกสมาคมเหล็กลวดไทย
3.สมาคมเหล็กลวดร้องรัฐ หามาตรการกระตุ้นใช้กำลังผลิตในประเทศ(ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, ประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2566)
นายธีรยุทธ เลิศศิรรังสรรค์ นายกสมาคมเหล็กลวดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กลวดไทย กำลังเผชิญความเดือดร้อน เพราะมีการนำเข้าเหล็กลวดจากต่างประเทศ ทั้งจีน เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และรัสเซีย เข้ามาตีตลาด เสนอขายในราคาต่ำ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยแก้ปัญหา เพื่อให้ผู้ผลิตเหล็กลวดไทย และภาพรวมอุตสาหกรรมอยู่รอด โดยข้อมูล ณ ม.ค.-พ.ค. 2566 มีการนำเข้าเหล็กลวดจากต่างประเทศ ในปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก มีการนำเข้าจากจีนมากถึง 218,502 ตัน ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนมีการนำเข้าเพียง95,924 ตัน เพิ่มมากขึ้นถึง 128% นำเข้าจากอินโดนีเซีย 69,944 ตัน ขณะที่ปีก่อนนำเข้าเพียง25,211 ตัน เพิ่มขึ้น 177% และจากมาเลเซีย 69,440 ตัน ขณะที่ช่วงเดียวกันปีก่อนนำเข้า44,175 ตัน เพิ่มขึ้น 57% แม้ที่ผ่านมารัฐบาล จะออกมาตรการ Made in Thailand ให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ของภาครัฐ ใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ รัฐบาลควรหาทางเพิ่มการใช้กำลังการผลิต เช่น กระตุ้นการส่งออก โดยพิจารณายกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมในการส่งออก ปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน ให้เหมาะสมกับการแข่งขันทางอุตสาหกรรมให้ทัดเทียมประเทศอื่น รวมถึงขยายขอบข่ายของนโยบาย Made in Thailand ให้รวมถึงโครงการลงทุนร่วมทุนรัฐและเอกชน และให้ลงไปถึงการกำหนดให้ใช้วัตถุดิบต้นน้ำที่ผลิตได้ในประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม นายธีรยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า การช่วยเหลือจากภาครัฐในหลายประเทศหากเผชิญกับสถานการณ์แบบที่เกิดขึ้นแบบนี้ ภาครัฐจะเข้าช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ใช้มาตรการส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าเหล็กในประเทศ ใช้มาตรการด้านภาษีกับสินค้านำเข้าประเทศแคนาดา มีการประกาศเก็บภาษีเพิ่ม 25% ในสินค้าเหล็กบางประเภทที่มีการนำเข้าเพิ่มสูงผิดปกติ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีการนำเข้าสินค้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำ โดยไม่ผ่านการขอใบอนุญาตนำเข้า ทั้งที่สินค้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำเป็นสินค้าภายใต้มาตรฐานบังคับ ภายใต้การกำกับดูแลของ สมอ. อย่างเข้มงวด และยังพบว่ามีการหลบเลี่ยงการเสียอากรการทุ่มตลาด โดยปรับลดธาตุคาร์บอนเจืออัลลอยด์เพิ่มแทน อาจกระทบต่อคุณสมบัติของเหล็กลวดคาร์บอนสูง ซึ่งเป็นการตั้งใจหลบเลี่ยงกฎหมายรูปแบบหนึ่ง
ข่าวต่างประเทศ
4. ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่นลดในสิงหาคม เหตุวิตกเศรษฐกิจโลกชะลอตัว (ที่มา: IQ สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2566)
สำนักคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (12 ต.ค.) ว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของญี่ปุ่นลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนส.ค. ซึ่งบ่งชี้ถึงความวิตกกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและการฟื้นตัวที่ไม่ต่อเนื่องของจีน อาจทำให้บริษัทต่าง ๆ ไม่ต้องการลงทุนเพิ่ม ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของญี่ปุ่นซึ่งมีความผันผวนสูงและถือเป็นตัวบ่งชี้การใช้จ่ายด้านการลงทุนในอีก 6-9 เดือนข้างหน้า ลดลง 0.5% ในเดือนส.ค. จากเดือนก.ค. ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่า อาจปรับตัวขึ้น 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานซึ่งไม่นับรวมตัวเลขที่ผันผวนจากการขนส่งและสาธารณูปโภคไฟฟ้า ลดลง 7.7% ในเดือนส.ค. ขณะที่ นักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่า อาจปรับตัวลง 7.3%
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงคาดการณ์ว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรจะชะงักงัน เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคส่วน ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานจากกลุ่มผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือนส.ค. โดยฟื้นตัวขึ้นจากการลดลง 5.3% ในเดือนส.ค. โดยได้แรงหนุนจากยอดสั่งซื้อจากกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เคมีภัณฑ์และยานยนต์ ส่วนยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานจากภาคบริการลดลง 3.8% ในเดือนส.ค. หลังปรับขึ้น 1.3% ในเดือนก.ค. โดยถูกฉุดจากยอดสั่งซื้อที่ลดลงจากภาคการเงินและประกันภัย
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) |