ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม 2566

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. "พิมพ์ภัทรา" แก้ปมขี้เมาชอบโวยตำรวจ (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 20ตุลาคม 2566)

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรม (สมอ.) เตรียมประกาศเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการเมาแล้วขับ ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนตลอดจนส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจบุคลากรทางการแพทย์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้อ้างอิงในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยเฉพาะนักดื่มสายแข็งที่เมาแล้วขับ และมักร้องเรียนกล่าวหาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ มาตรฐานเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจมีข้อกำหนดที่สำคัญ เช่น วัดความเที่ยงตรงแม่นยำของเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ โดยการฉีดก๊าซเข้าเครื่องวัดแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องซ้ำๆ 20 ครั้ง เพื่อจำลองลมหายใจของผู้ขับขี่ ต้องได้ค่าความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่อ่านได้จากเครื่องวัดที่มีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ในเกณฑ์การยอมรับของเครื่องมือ คือไม่เกิน 4 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยกำหนดปริมาณลมที่หายใจออกต้องไม่น้อยกว่า 1.2 ลิตรและเวลาที่หายใจออกต้องไม่น้อยกว่า 5 วินาทีเครื่องวัดแอลกอฮอล์ ต้องจัดเก็บข้อมูลผลการวัดสำหรับการใช้งานและสามารถเรียกดูได้ แต่ไม่สามารถปรับแก้ไขข้อมูลได้ และแสดงผลเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง ชัดเจน เป็นต้น คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานนี้ได้ภายใน 2 เดือน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้

อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกัน คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ยังได้เห็นชอบแผนการจัดทำ มอก.ของ สมอ.ประจำปีงบประมาณ 2567 รวม 600 มอก. แบ่งเป็น มอก.กำหนดใหม่ 443 เรื่อง มอก.เดิมที่ต้องทบทวนให้ทันสมัยอีก 157 เรื่องครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์สมัยใหม่อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ

 

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

2. กนอ.ผนึก 4 บริษัทพลังงาน (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2566)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการและร่วมลงทุนโครงการสาธารณูปโภคอัจฉริยะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค(Smart Park) กับ 4 บริษัทชั้นนำ ประกอบด้วย บริษัท บี.กริม เพาเวอร์จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอิร์ธอิเล็คทริค ซัพพลาย จำกัด และบริษัททริปเปิ้ล พี เทคโนโลยี จำกัด เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาว่า ทั้ง 4 บริษัท เป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนด้านพลังงานและไฟฟ้า มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นคงทางพลังงานและสาธารณูปโภค เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมภายในประเทศและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ จะบูรณาการการทำงานร่วมกันกับ กนอ. ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือของ MOU ฉบับนี้ในเรื่องต่างๆ ประกอบด้วย 1) ระบบพลังงานไฟฟ้ามั่นคงและพลังงานสีเขียว (Green Energy and Energy Reliable System) 2) โครงสร้างระบบข้อมูลและการสื่อสารอัจฉริยะ (Smart Data and Communication) 3) โครงข่ายระบบพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy and Microgrid Network) 4) บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชยกรรม (Retail Mixed Use Community) 5) ระบบการบริหารจัดการพลังงานภาคอุตสาหกรรม (Smart Energy Factory) และ 6) ระบบบริหารแบบรวมศูนย์ (Integra ted Operation Centre) ขณะเดียวกันจะศึกษาแนวทางจัดตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนหรือบริษัทในเครือของ กนอ. (Utilities Management Company) ซึ่งภายใต้ความร่วมมือนี้เรียกว่า UMC เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการและให้บริการพลังงานรวมถึงระบบสาธารณูปโภคอัจฉริยะในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค และอำนวยความสะดวกในการประสานงานระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่าที่ดินในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค ในรูปแบบของการบริการที่ครบวงจร (One Stop Service)

อย่างไรก็ตาม การเซ็น MOU ครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ และร่วมลงทุนโครงการสาธารณูปโภคอัจฉริยะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค เพื่อตอบโจทย์ความเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และความต้องการของนักลงทุนทั้งด้านการใช้เทคโนโลยี และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) รวมถึงอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) สำหรับกรอบความร่วมมือ กนอ. จะสนับสนุนข้อมูลที่จำเป็นต่อการศึกษาและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการภายใต้บันทึกความร่วมมือฉบับนี้ ตลอดจนการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนกับผู้ลงนามทุกฝ่าย ขณะที่ทั้ง 4 บริษัท จะศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค และมอบข้อมูลให้แก่ กนอ.และกลุ่มคณะทำงานที่เกี่ยวข้องศึกษาแนวทางรูปแบบการจัดหา ลงทุน และการให้บริการ ทั้งด้านเทคนิค การเงินและข้อกฎหมาย ตามระยะการพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค รวมทั้งให้การสนับสนุนข้อมูลเชิงลึกและข้อเสนอแนะแก่ กนอ. เกี่ยวกับการจัดตั้ง UMC ด้วย ทั้งนี้ บันทึกความร่วมมือฉบับนี้ มีกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ลงนาม

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ผวาศึกกระทบศก. ส.อ.ท.เตือนเตรียมแผนรับมือ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2566)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะใน 3 สมรภูมิหลักสำคัญตั้งแต่การเกิดขึ้นของการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน และล่าสุดกรณีการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส และยังรวมถึงบริเวณทะเลจีนใต้ที่เริ่มมีความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าว หากบานปลายย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องวางแผนรับมือเอาไว้ ทั้งนี้ ผลกระทบการสู้รบรัสเซีย-ยูเครนจะเห็นได้ชัดเจนในด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และวัตถุดิบต่างๆ โดยเฉพาะปุ๋ย ฯลฯ ทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยกระทบ ขณะที่การสู้รบในอิสราเอลหากจำกัดพื้นที่จะกระทบราคาน้ำมันให้ผันผวนระดับสูงระยะสั้นเท่านั้นแต่ในส่วนอื่นๆ จะกระทบไม่มาก แต่หากสถานการณ์บานปลายมีหลายชาติพันธมิตรเข้าร่วมในการทำสงครามก็อาจจะส่งผลให้สงครามยืดเยื้อและมีผลกระทบมากขึ้นเนื่องจากภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบที่สำคัญของโลกจะส่งผลราคาน้ำมันอาจเห็นระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลขึ้นไปได้เช่นกัน ส่วนสถานการณ์ในทะเลจีนใต้นั้นหากเกิดขึ้นจะกระทบไทยมากที่สุดเนื่องจากในบริเวณดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับเส้นทางขนส่ง (โลจิสติกส์)ทั้งด้านพลังงาน สินค้าต่างๆเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ ที่จะกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต (ซัพพลายเชน) ของอุตสาหกรรมต่างๆ จะสะดุดลงซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างสูงหากเกิดขึ้น จึงได้แต่หวังว่าเหตุการณ์ในภูมิภาคนี้จะไม่ซ้ำรอยเช่นภูมิภาคอื่น

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ระยะสั้นคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นซึ่งภาครัฐก็ได้เข้ามาดูแลส่วนของดีเซลและค่าไฟฟ้าก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าลืมว่าหากบานปลายไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซฯจะกระทบหนัก ขณะที่มาตรการดูแลพลังงานโดยเฉพาะดีเซลจะสิ้นสุดใน 31 ธันวาคม 2566 นี้ แล้วหากสถานการณ์ยืดเยื้อในปี 2567 จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมมาตรการต่างๆ ไว้ดูแลเศรษฐกิจ

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a star

Description automatically generated

 

4. เศรษฐกิจจีนไตรมาสสามสูงกว่าคาด สีจิ้นผิงอัดแสนล้านขยายอิทธิพลผ่านแผนหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2566)

สำนักข่าวรอยเตอร์  เปิดเผยว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3 นี้เติบโตได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่การบริโภคและกิจกรรมของภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2566 ยังคงสร้างความประหลาดใจถึงการเพิ่มขึ้น โดยเป็นการส่งสัญญาณถึงมาตรการด้านนโยบายหลายๆ อย่างที่ค่อยๆ ออกมาทีละนิดนั้นกำลังช่วยเหลือในการสนับสนุนการฟื้นตัวที่อาจเป็นไปได้ โดยการเติบโตที่อ่อนแอลงอย่างรวดเร็วในเศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ได้กระตุ้นให้ทางการจีนก้าวเข้ามาให้ความสนับสนุนมากขึ้น ซึ่งชุดข้อมูลที่เปิดเผยเมื่อวันพุธ (18 ตุลาคม 2566) บ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังเริ่มได้รับแรงฉุดดึงในด้านบวก แม้ว่าวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ และแรงต้านทางเศรษฐกิจอื่นๆ ยังคงเปิดรับความเสี่ยงต่อมุมมองเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เปิดเผยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนเติบโต 4.9% ในไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม - กันยายน) จากเมื่อช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในโพลรอยเตอร์ซึ่งอยู่ที่ 4.4% เพิ่มขึ้น แต่ชะลอตัวลงจากขยายตัว 6.3% ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบรายไตรมาส จีนจะเห็นการเติบโต 1.3% ในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เร่งตัวขึ้นจากตัวเลขที่มีการแก้ไข 0.5% ในไตรมาสที่ 2 และสูงกว่าคาดการณ์ว่าจะเติบโตที่ 1.0% ทั้งนี้ ทางด้านนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวว่า จีนจะอัดฉีดเม็ดเงินก้อนใหม่มากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนับเป็นเสาหลักในนโยบายของประธานาธิบดีสี ในการขยายอิทธิพลของจีนไปยังต่างประเทศ โดยจีนกล่าวว่า ขณะนี้ได้ลงนามในสัญญาต่างๆ ทั่วโลก รวมมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)