ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนตุลาคม 2566

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ขีดเส้น 6 เดือนต้องหมด (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2566)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังจากการลงพื้นที่ดูแลประชาชน มักจะได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ไม่มีมาตรฐานอยู่เป็นระยะ ตนจึงสั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้มงวดในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์มโดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนต้องกวาดล้างให้หมดไปจากท้องตลาดภายใน 6 เดือน ทั้งนี้ ภายใต้ภารกิจ "Quick Win" ได้ออก 8 มาตรการเร่งด่วนเพื่อกำกับดูแล ควบคุม และส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องไม่ให้ถูกหลอกจากการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ ได้แก่ 1) มาตรการ 3 ร. (เร่งตรวจ เร่งกำกับ เร่งปราบ) 2) มาตรการจับจริง-ปรับจริง 3) มาตรการเชื่อมโยงข้อมูล 4) มาตรการให้ความรู้ 5) มาตรการขยายผลอย่างยั่งยืน 6) มาตรการสร้างความตระหนัก 7) มาตรการใกล้ชิดประชาชน และ 8) มาตรการเพิ่มอาวุธ โดยคาดว่าทั้ง 8 มาตรการจะสามารถกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพที่จำหน่ายทางแพลตฟอร์มออนไลน์ให้หมดไปจากท้องตลาด

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ.ได้ลงพื้นที่ตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาด และทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพให้หมดไปภายใน 6 เดือน

 

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

2. กนอ.คุมเข้มกากของเสียจัดระบบเกาะติดการเคลื่อนย้าย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 ตุลาคม 2566)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ดำเนินโครงการระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากของเสียอุตสาหกรรมแบบ Real-Time เพื่อกำกับและติดตามตรวจสอบการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมจากผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator) ผู้ขนส่ง (Waste Transporter) และผู้รับกำจัด (Waste Processor) แบบครบวงจร โดยนำเทคโนโลยีระบบสารสนเทศที่ทันสมัย เช่น ระบบ AI, GPS RFID  CCTV มาประยุกต์ใช้อย่างบูรณาการ ป้องกันการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่ ที่ถูกลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม สำหรับโครงการนำร่องระยะที่ 1 ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นแห่งแรกที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ในการติดตามของเสียอันตราย (Hazardous Waste)  ซึ่งมีผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรม 60 บริษัท ผู้รับกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม 25 บริษัท ผู้ขนส่ง 11 บริษัท และรถบรรทุกขนส่งกากอุตสาหกรรม 160 คัน ได้ลงทะเบียนในระบบฯ และดำเนินการระยะที่ 2 มาตั้งแต่ปี 2565 ขยายผลครบทั้ง 14 นิคมอุตสาหกรรมแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ซึ่งระยะที่ 2 ได้เพิ่มเติมในส่วนของการแสดงข้อมูลน้ำหนักรถบรรทุกกากของเสีย และน้ำหนักกากของเสียพร้อมป้ายทะเบียน ทำให้การติดตามตรวจสอบมีข้อมูลครบถ้วนมากที่สุด ทั้งนี้ กนอ. พัฒนาแนวคิดในการสร้างระบบติดตามการเคลื่อนย้ายกากอุตสาหกรรมตั้งแต่ผู้ก่อกำเนิดจนถึงผู้รับกำจัด เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งสามารถตรวจสอบ ติดตาม และสืบค้นข้อมูลการเคลื่อนย้าย กากของเสียอุตสาหกรรมแบบ Real-Time ได้ เช่น ตรวจสอบตำแหน่งรถ เส้นทางเดินรถ รวมถึง พฤติกรรมของพนักงานขับรถตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยระบบจะประมวลข้อมูลแล้วแจ้งเตือนความผิดปกติ หรือนำส่งรายงานไปยังศูนย์ควบคุมของ กนอ.โดยอัตโนมัติ ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามและเข้าสกัดการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมได้อย่างทันท่วงที

อย่างไรก็ตาม กนอ. ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับล่าสุดที่มีการปรับปรุงใหม่ เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งผู้ก่อกำเนิดของเสียและผู้รับกำจัดของเสียต้องรายงานการจัดการของเสียภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมและชุมชน

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ลดเป้ายอดผลิตรถ 5 หมื่นคัน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2566)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธาน และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้ปรับประมาณการผลิตรถยนต์ปี 2566 ใหม่ จากเดิมอยู่ที่ 1.9 ล้านคัน ปรับลดเหลือการผลิตทั้งสิ้นที่ 1.85 ล้านคัน เป็นการปรับลดในส่วนของการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศลง 50,000 คัน เหลือ 800,000 คัน แต่ยังคงเป้าการผลิตเพื่อส่งออกที่ 1.05 ล้านคัน ส่งผลให้การผลิตที่ปรับใหม่ ลดลง 1.78% เทียบกับปี 2565 เนื่องจากสถาบันการเงินยังเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อ โดยจากเดิมหวังว่า รัฐบาลใหม่มาสถานการณ์น่าจะดีขึ้น แต่ตอนนี้ แม้ความต้องการซื้อยังมีอยู่ แต่สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อจากหนี้ครัวเรือนสูงทำให้ไม่ผ่านเครดิตบูโร ไฟแนนซ์บางแห่งให้วางเงินดาวน์สูง 30-40% จากปกติ 20-25% ถือเป็นการปฏิเสธโดยปริยาย ทั้งนี้ การผลิตรถยนต์เดือนกันยายน 2566 มีทั้งสิ้น 164,093 คัน ลดลง 8.45% เทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 9 เดือนปีนี้ (มกราคม - กันยายน 2566) มียอดผลิต 1,385,971 คัน เพิ่มขึ้น 1.61% ซึ่ง 9 เดือน ผลิตเพื่อส่งออกได้ 218,991 คัน คิดเป็น 45.52% ของยอดผลิตรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.04% ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 9 เดือนอยู่ที่ 576,007 คัน คิดเป็น 41.56% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.74%

อย่างไรก็ตาม สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนกันยายน 2566 มี 62,086 คัน ลดลง 16.27% จากยอดขายรถกระบะที่ลดลงถึง 45% เพราะการเข้มงวดสินเชื่อประกอบกับเดือนกันยายน 2565 เริ่มได้รับชิป ทำให้ 9 เดือนมียอดขาย 586,870 คัน ลดลง 7.39% และส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 97,476 คัน เพิ่มขึ้น 2.90%

 

ข่าวต่างประเทศ

A red circle on a white fabric

Description automatically generated

 

4. PMI ภาคการผลิตขั้นต้นญี่ปุ่นเดือนต.ค.หดตัวติดต่อกันเดือนที่ 5 (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 24 ตุลาคม 2566)

Jibun Bank เปิดเผยผลสำรวจว่า กิจกรรมภาคการผลิตของญี่ปุ่นหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ในเดือนตุลาคม 2566 ขณะที่ภาคบริการขยายตัวต่ำสุดในปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจญี่ปุ่นทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือนตุลาคม 2566 จาก Jibun Bank ทรงตัวที่ 48.5 โดยตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคการผลิตญี่ปุ่นยังคงอยู่ในภาวะหดตัว หลังหดตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมิ.ย.

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ผลผลิตลดลงในอัตราเร็วที่สุดในรอบ 8 เดือน เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ลดลง ขณะที่ ดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นลดลงเพิ่มเติมสู่ 51.1 ในเดือนตุลาคม 2566 จาก 53.8 ในเดือนกันยายน 2566 ซึ่งเป็นการเติบโตแบบชะลอตัวที่สุดนับตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยตัวเลขสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคบริการอยู่ในภาวะขยายตัว สำหรับด้านดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้น ลดลงสู่ 49.9 ในเดือนตุลาคม 2566 จาก 52.1 ในเดือนกันยายน 2566 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)