ข่าวในประเทศ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. สั่ง สอน.ดูแลทุกกลุ่ม (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566)
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายที่อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรชาวไร่อ้อยว่ากระทรวงอุตสาหกรรมมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างมากจากต้นทุนการเพาะปลูกที่เพิ่มสูงขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากปราฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบให้เกิดความแห้งแล้งและทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยลดน้อยลง กระทรวงอุตสาหกรรม จึงสั่งการและกำชับให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เร่งหาแนวทางที่เป็นประโยชน์สำหรับชาวไร่อ้อยให้ได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม ขณะเดียวกัน ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมรับทราบการขึ้นทะเบียนน้ำตาลเป็นสินค้าควบคุม 1 ปี ประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่รัฐบาลเร่งควบคุมราคาเพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภค
อย่างไรก็ตามกระทรวงอุตสาหกรรม ขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี และกระทรวงพาณิชย์ที่มีความห่วงใยและเข้ามาร่วมช่วยทั้ง 3 ส่วน คือ ชาวไร่อ้อย ผู้ส่งออกและประชาชนผู้บริโภค โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมยกระดับความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องชาวไร่อ้อย ยกระดับอุตสาหกรรมน้ำตาล เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลได้เน้นย้ำว่า พร้อมสนับสนุนเงินชดเชยให้กับเกษตรกร และระบบอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาลทราย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งหามาตรการที่เหมาะสมสำหรับการส่งออก
นางวรวรรณ ชิตอรุณ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
2. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร่วง สศอ. ประกาศขยับเป้าทั้งปีติดลบ 4-4.5% (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566)
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 91.60 ลดลง 6.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนไตรมาส 3 ปี 2566 ลดลงเฉลี่ย 6.19% ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ระดับ 94.31 ลดลง 5.09% ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนกันยายนอยู่ที่ 58.02% และ 9 เดือนแรก อยู่ที่ 59.83 % ส่วนไตรมาส 3 ปี 2566 อยู่ที่เฉลี่ย 58.01% สำหรับMPI ที่ลดลงเกิดจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังชะลอตัวสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง จากความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังยืดเยื้อ รวมถึงค่าเงินบาทในเดือนกันยายน 2566 อ่อนค่าลง 4.23% หรือประมาณ 1.50 บาท โดยมีเงินทุนไหลออกประเทศจากความกังวลการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้าจากโครงสร้างการส่งออกของภาคการผลิตไทย ไม่ตอบสนองความต้องการของโลกในยุคปัจจุบัน ในส่วนของภาคการท่องเที่ยว ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยว 9 เดือนแรก ปี 2566 อยู่ที่ 20 ล้านคน ขยายตัว 254.98% ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม อาทิ น้ำตาล การแปรรูปและการถนอมผลไม้และผัก ผลิตภัณฑ์นม เบียร์ และเนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น
อย่างไรก็ตาม ในส่วนการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยภาพรวมเดือนตุลาคม 2566 "ส่งสัญญาณเฝ้าระวังในช่วงขาลง" จากปัจจัยภายในประเทศชะลอตัวตามการลงทุนและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนของไทยหดตัวลงจากการนำเข้าสินค้าทุน รวมถึงพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ใหม่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม 3 เดือนข้างหน้า "ชะลอตัวในช่วงขาลง" จากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การอ่อนค่าของเงินบาท และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศยังมีทิศทางชะลอตัว และส่งสัญญาณเฝ้าระวังต่อเนื่อง ทั้งนี้ หลังจาก 9 เดือนแรก ปี 2566 ดัชนี MPI ลดลง 5.09% ส่งผลให้ สศอ. ปรับประมาณการดัชนี MPI ปี 2566 อยู่ที่ลดลง 4 - 4.5% จากประมาณการเดิมลดลง 2.8 - 3.8% ด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรม ปี 2566 คาดหดตัว 2.5 - 3% จากประมาณการครั้งก่อน คาดว่าจะหดตัว 1.5 - 2.5% จากเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และความขัดแย้งระหว่างประเทศยังยืดเยื้อ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. หนุนจับมือนักลงทุนจีน ดึงเทคโนโลยียกระดับ 5 อุตฯไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คณะผู้บริหาร ส.อ.ท.ได้เข้าร่วมคณะภาคเอกชน เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งนำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นกิจกรรมคู่ขนานที่ทางหน่วยงานภาครัฐได้จัดขึ้นระหว่างนายกรัฐมนตรีเดินทางเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำในงานประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF ครั้งที่ 3 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูต ความร่วมมือระดับประเทศ และเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี ของยุทธศาสตร์ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ คณะผู้แทนภาคเอกชนได้เข้าร่วมประชุม Roundtable Discussion : Strengthening Thailand-China Business Partnership ระหว่างนักธุรกิจไทยและจีน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน กฎระเบียบและปัญหาอุปสรรคในการทำธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและจีน ซึ่งปัจจุบันสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของประเทศไทย มีมูลค่าการค้ารวมเมื่อปี 2565 อยู่ที่ 105,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสาธารณรัฐประชาชนจีนยังเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่งของประเทศไทย โดยในปี 2565 มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 158 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 77,381 ล้านบาท ซึ่งคณะผู้แทนภาคเอกชนได้เข้าร่วมรายงานสรุปผลการหารือกับภาคเอกชนจีน ต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยสิ่งที่ภาคเอกชนไทยจะผลักดัน คือ การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุนระหว่างผู้ประกอบการไทย-จีน การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวจีน การยกระดับอุตสาหกรรมของสองประเทศ การเร่งขับเคลื่อนนวัตกรรมและการพัฒนาร่วมกันของห่วงโซ่อุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. เสนอผลักดันนโยบายสนับสนุน 5 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (อีวี) 2. อุตสาหกรรมดิจิทัล 3. อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ 4. อุตสาหกรรมสีเขียว และ 5. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด โดยทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมมือกันได้ เพราะประเทศไทยมีความพร้อมเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานอีวีหรือพลังงานสะอาดอื่นๆ ซึ่งสิ่งที่จะได้จากนักลงทุนจีนที่จะเข้ามาลงทุน คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยที่ให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต
ข่าวต่างประเทศ
4. เกาหลีใต้ส่งออกเดือนต.ค.เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน หลังส่งออกรถยนต์พุ่ง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566)
กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า ยอดส่งออกเดือนตุลาคม 2566 ของเกาหลีใต้ ปรับตัวขึ้น 5.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกรถยนต์ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งสัญญาณบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมชิป ส่วนยอดนำเข้าในเดือนตุลาคม 2566 ลดลง 9.7% แตะที่ระดับ 5.34 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เกาหลีใต้มียอดเกินดุลการค้าในเดือนตุลาคม 2566 ที่ระดับ 1.64 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้าติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ทั้งนี้ เมื่อแยกเป็นรายภาคส่วน พบว่า ยอดส่งออกรถยนต์เดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้น 19.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่นๆ และเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันยาวนานถึง 16 เดือน ขณะที่ยอดส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของเกาหลีใต้นั้น ลดลง 3.1% แต่เป็นการปรับตัวลงน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งบ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายบัง มูน-คยู รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมเกาหลีใต้ กล่าวว่า ยอดส่งออกมีการขยายตัว และเกาหลีใต้ยังคงรักษาการเกินดุลการค้าไว้ได้ แม้เผชิญกับปัจจัยลบภายนอก ซึ่งรวมถึงต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น, สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐ, ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง เราจะยังคงพยายามผลักดันให้การส่งออกเติบโตขึ้นจนถึงสิ้นปีนี้
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)