ข่าวในประเทศ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. ชี้มาตรการรัฐดันเอ็มพีไอพุ่ง (ที่มา: เดลินวส์, ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566)
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเปิดงาน OIC FORUM 2566 ครั้งที่ 15 "MIND : Set For Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน" ว่า ประเมินภาคอุตสาหกรรมปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว คาดดัชนีผลผลิตอุตสาหหกรรม (เอ็มพีไอ) และผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรม จะเติบโตระดับ 2.0-3.0% เนื่องจากในประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญ คือ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และผลจากการตรึงราคาพลังงาน หนี้เกษตรกร วีซ่าฟรีหนุนการท่องเที่ยว ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักของประเทศไทยทยอยฟื้นตัว อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ประกอบกับ นอกจากนี้การลงทุนในประเทศยังมีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของภาคเอกชน และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ 1.0-1.7% ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล เบื้องต้นกระทรวงฯจะตั้งเป็นหน่วยงาน อาจเป็นองค์การมหาชนที่สังกัดอยู่ในกระทรวงก่อน เพราะการตั้งกรมฯต้องใช้เวลา แต่เป้าหมายปลายทางคือกรมฯแน่นอน ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมฮาลาลว่ามีหน่วยงานใดรับผิดชอบบ้าง เพราะจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีถึง 10 หน่วยงานที่ทำงานแยกกันอยู่ ทั้งที่ทำงานวัตถุประสงค์เหมือนกัน ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเช่นเดียวกัน จึงอยากให้มาอยู่ร่วมกันภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ฮาลาลไม่ได้จำกัดแค่อาหาร แต่ยังรวมถึงเครื่องสำอาง ขนม สปา ฯลฯ ประเด็นที่สำคัญคือเรื่องความเชื่อมั่น ความเชื่อถือในอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย เพราะไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิม อาจทำให้ความน่าเชื่อถือในการไปเจรจากับลูกค้าน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน การตั้งกรมอุตสาหกรรมอาหารจึงจำเป็น โดยวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นี้ กระทรวงฯ จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อสรุปเสนอต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับความกังวลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ต่อใบอนุญาตเครื่องหมายฮาลาล หากตั้งกรมฯแล้ว ใบอนุญาตไม่เปลี่ยนแปลง คณะกรรมการฯมีอำนาจดังเดิม ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงจะไม่ก้าวล่วงอำนาจ เพียงแต่ต้องการให้มีหน่วยงานระดับกรมเข้ามายกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย
นางวรวรรณ ชิตอรุณ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
2. สศอ.รื้อ 5 อุตฯ รับโลกเดือด (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566)
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้สอดรับระเบียบกติกาการค้าและการผลิต รวมไปถึงมาตรฐานสินค้าของโลกที่เน้นไปสู่ความยั่งยืน ในมิติของสิ่งแวดล้อมที่ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดภาวะโลกเดือด โดยเฉพาะ 5 อุตสาหกรรมที่เป็นเทรนด์ใหม่ ได้แก่ เกษตรอุตสาหกรรมครบวงจร, อุตสาหกรรมรีไซเคิล, อุตสาหกรรมก่อสร้าง, อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งผู้บริโภคเองก็ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์สีเขียว ทุกอย่างจึงเดินไปในทิศทางนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ภายใต้มิติหลักๆ คือ ความยั่งยืน ภาคการผลิตจึงต้องปรับตัว โดยที่ผ่านมารัฐได้วางแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมแล้วใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมาตรการต่างๆ ชัดเจน แต่ 5 อุตสาหกรรมใหม่นี้ จะมองในมุมของความสำคัญที่ สศอ.กำลังวางแนวทางที่จะขับเคลื่อนเพิ่มเติม แต่ในภาพรวมแล้วทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับโครงสร้างให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงหมดไม่เช่นนั้นก็จะอยู่ไม่ได้ สำหรับเกษตรอุตสาหกรรมครบวงจรนั้นยอมรับว่า ไม่ง่ายนักแต่ต้องเร่งปรับโครงสร้างเพราะต้องดูแลสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทาง เช่น การใส่ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง การใช้ดิน น้ำ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและต้องบริหารจัดการว่าด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จำเป็นต้องมองอย่างครบวงจรไปสู่กระบวนการนำวัตถุดิบไปผลิตแปรรูปเป็นสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม ส่วนอุตสาหกรรมรีไซเคิลนั้นจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญที่ไทยจะต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะเพื่อรองรับแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ที่สามารถนำแร่ลิเธียมกลับมาใช้ใหม่ และรถยนต์สันดาปภายใน ที่จะต้องกำจัดซากรถเก่าซึ่งญี่ปุ่นนำมารีไซเคิลเกือบหมดทั้งเหล็ก พลาสติก แผงโซลาร์ ที่กำลังจะทยอยหมดอายุลง ขณะที่อุตสาหกรรมก่อสร้างนั้นจำเป็นจะต้องปรับไปสู่กระบวนการใช้เทคโนโลยีในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การส่งเสริมให้เกิดการผลิตในโรงงานแทนแล้วนำมาประกอบให้มากขึ้น อุตสาหกรรมโลจิสติกส์หรือระบบขนส่งรวมจะต้องให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยพีเอ็ม 2.5 และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สอดรับกับอีวี รถไฟฟ้า โดยเฉพาะรถขนส่งสาธารณะ และซอฟต์พาวเวอร์ที่ไทยเองเน้นภาคบริการและการท่องเที่ยวในการสร้างรายได้จำเป็นจะต้องกำหนดมาตรการในการดูแลสิ่งแวดล้อมเข้าไป
อย่างไรก็ตาม สศอ.เองคงทำลำพังไม่ได้ทุกส่วนต้องบูรณาการทั้งด้านพลังงานที่จะเข้ามาใช้ก็ต้องมองไปที่สีเขียว การปล่อยสินเชื่อเองต่อไปก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ไปในเทรนด์นี้และตอบโจทย์ความยั่งยืน และการสนับสนุนเรื่องคาร์บอนเครดิตที่สศอ.จะดูแลเรื่องนี้ด้วย การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมจึงสำคัญเพราะวันนี้เราเองก็เริ่มถูกกดดันจากกติกาโลกแล้วเช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (ซีแบม) ที่นำร่องกับ 6 กลุ่มอุตสาหกรรม แต่อนาคตจะทยอยทั้งหมด และสหรัฐเองก็เริ่มวางระเบียบเรื่องนี้เช่นเดียวกัน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมลดต่ำสุดรอบ 16 เดือน (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 88.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 90.0 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 เนื่องจากเศรษฐกิจ ในประเทศที่ยังฟื้นตัวช้าจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมและภาคการผลิตชะลอตัวลง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าแฟชั่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น นอกจากนี้ การปรับขึ้นราคาสินค้ายังทำได้จำกัด ประกอบกับมีการแข่งขันสูงด้านราคา อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ส่งผ่านไปยังต้นทุนทางการเงินและทำให้ภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น ส่วนคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 94.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 97.3 จากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ หากยืดเยื้อและขยายเป็นวงกว้าง อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกและความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก อีกทั้งผู้ประกอบการยังกังวลต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงเอลนีโญอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ขอให้เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 อาทิ นำโครงการ e-refund มาเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนธันวาคม 2566 เพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชน เร่งรัดการกำหนดมาตรการในการพักหนี้ให้กับ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นหนี้เสียจากโควิด-19 หรือลูกหนี้รหัส 21 รวมทั้งออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและส่งเสริมให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น และขอให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามกลไก ของคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคีพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
ข่าวต่างประเทศ
4. GDP ญี่ปุ่นใน Q3/66 ลด 2.1% แย่กว่าคาดการณ์ เหตุภาคธุรกิจลดใช้จ่าย (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566)
รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3/2566 ปรับตัวลง 2.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าอาจลดลงเพียง 0.6% และเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ซึ่งเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นปรับตัวลง 0.5% ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจลดลง 0.1% ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ที่ออกมาย่ำแย่กว่าคาดในไตรมาส 3 สะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน ซึ่งรวมถึงผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินเยน, ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน และแนวโน้มสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัจจัยที่ฉุดตัวเลข GDP ให้อ่อนแรงลงนั้นมาจากการใช้จ่ายของภาคธุรกิจที่ลดลง และการที่ญี่ปุ่นนำเข้าสินค้ามากขึ้น โดยการใช้จ่ายของภาคธุรกิจลดลง 0.6% ในไตรมาส 3 หลังจากที่ลดลง 1% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ ยังคงปรับลดการลงทุนท่ามกลางราคาที่สูงขึ้น โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจที่อ่อนแอลงอาจจะทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ใช้เป็นเหตุผลในการชะลอเวลาในการถอนนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษ (ultra-easy monetary policy)
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)