ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน 2566

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ดัน 'ฮาลาล' ชิงเค้กตลาดโลก 2.3 ล้านล.เหรียญ (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ผ่านกลไกคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) โดยเห็นชอบหลักการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อเร่งรัดจัดทำข้อตกลงทางการค้าและขยายตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ จะประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมถึงการพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน เน้นการทำวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ฮาลาล พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ฮาลาล ให้คำปรึกษา และเป็นศูนย์กลางบูรณาการข้อมูลด้านการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมฮาลาลตลาดโลกปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มเป็น 2.325 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี จากปี 2564 มีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ปี 2565 ไทยส่งออกอาหารฮาลาล 213,816 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งในตลาดโลก 2.7% หรืออันดับ 11 ของโลก

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะกำหนดสินค้าฮาลาลเป้าหมายในระยะแรก เช่น เนื้อสัตว์/อาหารทะเล อาหารแปรรูปพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ อาหารมุสลิมรุ่นใหม่ แฟชั่นฮาลาล เครื่องสำอาง ยา/สมุนไพร ท่องเที่ยว เป็นต้น เพื่อขยายตลาดการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลใหม่ๆ ไปต่างประเทศ ได้แก่ อาเซียน OIC/GCC เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกา คาดว่าจะทำให้อัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมโตได้ 1.2% ภายใน 3 ปี ที่สำคัญจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย อำนวยความสะดวกในการขอรับรองมาตรฐานฮาลาลทั่วประเทศต่อไป รวมถึงส่งเสริมและขยายตลาดผ่านกิจกรรมจัดงานฮาลาล เอ็กซ์โป 2024 และกิจกรรมทางการทูต เช่น งานไทย ไนท์ เพื่อเผยแพร่สินค้าฮาลาลไทย เป็นต้น

 

A person speaking into a microphone

Description automatically generated

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์

ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร

 

2. ส่งออกอาหารของไทย 9 เดือนแรกพุ่ง 1.16 ล้านล้าน (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566)

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายใต้ความร่วมมือของ 3 องค์กร ประกอบด้วย สถาบันอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมบูรณาการข้อมูล พบว่าการส่งออกสินค้าอาหารไทยในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2566 มีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.6% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรอาหารในหลายภูมิภาคลดลง จึงมีความต้องการสินค้าอาหาร    มากขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณการสำรองอาหารในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียใต้ ในส่วนของประเทศไทย แม้ผลผลิตวัตถุดิบการเกษตรของไทยหลายรายการจะลดลง แต่สินค้าส่งออกไทยได้รับประโยชน์จากความต้องการและราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้เกิดภัยแล้ง โดยเฉพาะข้าวและน้ำตาลทราย ทั้งนี้ ตลาดภายในภูมิภาคอย่างจีน อาเซียนเดิม 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน และกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม เป็นตลาดหลักที่ส่งผลทำให้ภาพรวมส่งออกอาหารไทยในปี 2566 ขยายตัว ซึ่งกลุ่มประเทศดังกล่าวเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1, 2 และ 3 ของไทยในปัจจุบัน ตามลำดับ โดยมีผลไม้สด ข้าว และน้ำตาลทราย เป็นสินค้าหลักที่มูลค่าส่งออกขยายตัวสูง สำหรับกลุ่มสินค้าส่งออกที่หดตัวลง  ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบทั้งจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักชะลอตัว (สหรัฐฯ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น) และปัญหาวัตถุดิบการเกษตรที่มีผลผลิตลดลงและต้นทุนสูงขึ้น เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด ปลาทูน่า ยกเว้นกุ้งที่มีราคาตกต่ำ

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มไตรมาสสุดท้ายจะฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน เพราะได้รับแรงหนุนจากปริมาณวัตถุดิบการเกษตรฤดูการผลิตใหม่ที่เข้าสู่ตลาด รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยงที่อ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลทำให้ปริมาณคำสั่งซื้อของลูกค้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น คาดทั้งปี 2566 การส่งออกอาหารไทยจะมีมูลค่า 1.55 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.5% สำหรับแนวโน้มส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งภาคการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออก อุตสาหกรรมการผลิตที่มีตลาดในประเทศ จะขยายตัวโดดเด่นตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ขณะที่การส่งออกอาหารไทยในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.65 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 6.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุน       จากเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตามภาคบริการและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

 

A person in a suit sitting at a table

Description automatically generated

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ปธ.สภาอุตฯ ชี้เศรษฐกิจไทยเปราะบาง เอกชนกังวลงบ 67 อืด แจกเงินจำเป็นกระตุ้นกำลังซื้อตจว. (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมตรี และรัฐมนตรีว่าการกะทรวงการคลัง ห่วงเศรษฐกิจไทยแย่กว่าที่คิด เข้าขั้นวิกฤต หลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ปี 2566 เติบโตเพียง 1.5% ว่า จากข้อมูลดังกล่าวมุมมองส่วนตัวคิดว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะเปราะบางอย่างมาก จำเป็นต้องเร่งผ่าโครงสร้างเศรษฐกิจ เพราะต้องเผชิญทั้งปัจจัยภายนอกคือ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในหลายพื้นที่ของโลก เป็นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ต้องจับตาใกล้ชิด โดยปัญหาเหล่านี้ต้องสะท้อนมายังการส่งออกของไทยที่ลดลงมาก ล่าสุดคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินส่งออกปีนี้จะติดลบ 1-2% เป็นปัจจัยลบที่ส.อ.ท.เตือนมาตลอด นอกจากนี้ยังกระทบราคาพลังงานโลกให้แพงขึ้น สะท้อนมายังประเทศไทย โดยเฉพาะค่าไฟ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอก ขณะที่ปัจจัยภายใน คือ ประเด็นค่าแรงที่เป็นตัวเร่งต้นทุนของผู้ประกอบการที่อาจกระทบกับความสามารถการจ้างงาน ขณะที่กำลังซื้อจากประชาชนชะลอตัวลงอย่างมาก สำหรับปัญหาของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ คือ อ่อนไหวกับปัจจัยลบ อย่างเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจนกระทบต่อการส่งออกของไทย เมื่อเทียบกับการส่งออกของประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ส่งออกไทยกระทบมากกว่า นอกจากนี้ประเด็นค่าเงินก็น่ากังวล เวลาเงินบาทไทยแข็งค่าหรืออ่อนค่าก็จะหนักกว่าประเทศคู่แข่งเช่นกัน เป็นภาวะที่ภาคเอกชนต้องประสบ กระทบต่อศักยภาพการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เอกชนกังวลเรื่องงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า คาดว่าจะเลื่อนออกไปถึง 8 เดือน คือใช้ได้ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2567 ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่มีงบประมาณเข้ากระตุ้น ดังนั้นการแจกเงินจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทย แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย หากสะดุด ทำไม่ได้ ต้องมีนโยบายอื่นเข้าแทนที่ทันที เพราะปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงระดับ 90.6% ทั้งการลดค่าครองชีพ และการเพิ่มเงินในกระเป๋าจึงเป็นสำหรับรัฐบาลในการกระชากเศรษฐกิจได้เร็วและแรงที่สุด

 

ข่าวต่างประเทศ

A red flag with yellow stars

Description automatically generated

 

4. ธนาคารกลางจีนประกาศคงดอกเบี้ย LPR ตามคาด ตั้งเป้าหนุนเศรษฐกิจฟื้นตัว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566)

ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีที่ระดับ 3.45% และคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีไว้ที่ระดับ 4.20% ในวันนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด หลังจาก PBOC มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันที่มีต่อค่าเงินหยวน ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีของจีนเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง โดย PBOC มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนที่ระดับ 2.5% เมื่อวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน 2566 และได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบจำนวน 1.45 ล้านล้านหยวน (2 แสนล้านดอลลาร์) ในวันดังกล่าว ผ่านทางโครงการ MLF และกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ระดับ 2.5%

อย่างไรก็ตาม สำหรับอัตราดอกเบี้ย MLF เป็นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องจ่ายเมื่อมีการกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางจีน โดยมีระยะเวลาการกู้ยืม 6 เดือน-1 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับธนาคารพาณิชย์ซึ่งการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบในวันดังกล่าวถือเป็นจำนวนเงินมากที่สุดในรอบเกือบ 7 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ และเพื่อช่วยคลี่คลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะสภาพคล่องตึงตัว ในขณะที่รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นของจีนเตรียมออกพันธบัตรเพิ่มเป็นทุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)