ข่าวในประเทศ
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. แก้ผังเมืองดึงลงทุนเปิดโซนโรงงานพัฒนาศก.ใต้ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2566)
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพื้นที่ภาคใต้ว่าการประชุมหารือในครั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ได้เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริม สนับสนุน ในเรื่องผังเมืองสำหรับการก่อสร้าง ซึ่งในบางพื้นที่ไม่มีโซนที่สามารถก่อสร้างได้ จึงทำให้การก่อสร้างของโรงงานใหม่เป็นไปได้ยาก รวมทั้งเรื่องการขนส่งโลจิสติกส์ เช่น ถนนสี่เลนที่มีอยู่มีความจำเป็นต้องขยายออกไป จากอำเภอทุ่งสงมาอำเภอปากพนัง หากมีการขยายถนนจากสองเลนเป็น 4 เลนได้ จะทำให้การขนส่งจะดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก ขณะที่เรื่องการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีพื้นที่ติดทะเลประมาณ 250 กม. หากมีท่าเรือขนส่งเป็นศูนย์กระจายสินค้าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมาก นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องการให้มีการส่งเสริม และสนับสนุนในด้านของพืชเศรษฐกิจ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ มีพืชเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม และผลไม้ต่างๆ โดยอยากให้มีกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมให้ผู้ประกอบการ SME ในภาคใต้ให้มีความรู้ และเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันมากขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC)" ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ที่กำหนดไว้ ได้แก่ 1. ด้านเกษตรและอาหาร เป็นการใช้เทคโนโลยีระดับสูง ไม่ใช่เกษตรและอาหารทั่วไป 2. ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งมาจากฐานของน้ำมันปาล์ม และสารสกัดจากยางพารา และ 3. ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูล ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ที่ผ่านมา มูลค่าจากสินค้าด้านการเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 40% การบริการ 44% ซึ่ง GDP ในภาคอุตสาหกรรม มีมูลค่าน้อย อาจมาจากปัญหาด้านผังเมือง จึงทำให้โรงงานในการแปรรูปก่อตั้งไม่ได้ หลังจากนี้จะมีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขในประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ พื้นที่ภาคใต้มีการขอการส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับสอง รองจากพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งในการขอการส่งเสริมการลงทุนในปีหน้าเป็นต้นไป คาดว่าจะเริ่มมีการลงทุนเข้ามามากขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนหนึ่งเป็นนักลงทุนจากในพื้นที่และส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนจากภายนอกพื้นที่เข้ามา
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
2. อุตฯ ดันเป้าปั้น EV Hub (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 7 ธันวาคม 2566)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไปพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ICE) โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่างๆ ผ่านคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติพร้อมให้ความสำคัญกับการวางรากฐานของการวิจัยและพัฒนายานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ดังนั้น หน่วยงานกำหนดมาตรฐาน และหน่วยงานทดสอบและรับรอง ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการจัดตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยียานยนต์จีนหรือ China Automotive Technology and Research Center (CATARC) สำนักงานสาขาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือในการนำศักยภาพด้านการพัฒนานโยบาย การกำหนดมาตรฐาน และการรับรองรวมทั้งเครือข่ายอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของจีนมาเชื่อมโยงในการพัฒนาอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ของประเทศไทย เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของภูมิภาคอาเซียน และฐานการผลิตที่สำคัญของโลก โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการคือการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศในเวทีการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้สนับสนุนมาตรการส่งเสริมการใช้และการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ หรือมาตรการ EV3 ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 10 แบรนด์ มียอดจองรถยนต์ BEV ไปแล้วกว่า 50,000 คัน อีกทั้งได้ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งการกำหนดมาตรฐานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้วกว่า 150 มาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการทดสอบและรับรองมาตรฐานของศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรและเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์สมัยใหม่ ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปี 2566 ประเทศไทยมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า คิดเป็นร้อยละ 78 ของปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน และในปี 2565 ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า หรือ xEV เป็นอันดับ 1 ของอาเซียนประมาณ 72,000 คัน แสดงให้เห็นถึงกระแสการตอบรับของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และความพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ ทั้งนี้ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ระดับแนวหน้าของประเทศจีนหลายค่ายได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สามารถแข่งขันได้ในอาเซียนและเวทีโลก
นายวีริศ อัมระปาล
ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)
3. ยกระดับ 'เมืองอุตฯ เชิงนิเวศ' (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 6 ธันวาคม 2566)
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้เดินหน้าพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อสร้างสมดุลกันและกันของภาคอุตสาหกรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้กรอบ 5 มิติ คือ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการ โดยส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรม โดยในปีงบประมาณ 2566 กนอ. ได้พัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จากระดับ Eco-Champion 39 แห่ง ยกระดับขึ้นเป็นระดับ Eco-Excellence 22 แห่ง และระดับ Eco-World Class 7 แห่ง เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ กนอ. มีเป้าหมายขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามนโยบายเศรษฐกิจบีซีจี โมเดล ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน สำหรับปี 2567 กนอ. ยังคงใช้หลักเกณฑ์การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเดิม แต่จะปรับปรุงให้สอดคล้องตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) 13 ข้อ ขณะเดียวกันยังผลักดันสิทธิประโยชน์สำหรับผู้พัฒนา นิคมฯ และผู้ประกอบการ ทั้งการลดหย่อน ยกเว้น ค่าบริการอนุญาตในระบบ e-PP จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของ กนอ.ในอนาคตต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2567 กนอ. มีแผนงานยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในนิคมอุตสาหกรรม ดังนี้ ระดับ Eco Champion ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิว เอช เอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4, ระดับ Eco Excellence ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี, ระดับ Eco World Class ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิว เอช เอ ตะวันออก (มาบตาพุด), นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้
ข่าวต่างประเทศ
4. ญี่ปุ่นลดประมาณการ GDP ใน Q3/66 เป็นหดตัว 2.9% เหตุส่งออก-บริโภคชะลอตัว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2566)
รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำ ไตรมาส 3/2566 หดตัวลง 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งย่ำแย่กว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัว 2.1% เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการอุปโภคบริโภคที่อ่อนแอเกินคาด และการชะลอตัวของการส่งออก ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นอาจหดตัวลง 2.0% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นยังระบุด้วยว่า เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 หดตัวลง 0.7% เมื่อเทียบกับการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัว 0.5% และเทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจจะหดตัว 0.5%
อย่างไรก็ตาม สำหรับการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลข GDP นั้น ปรับตัวลง 0.2% ในไตรมาส 3 ซึ่งย่ำแย่กว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าลดลงเพียง 0.04% เนื่องจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันทำให้ผู้บริโภคปรับลดการใช้จ่าย ส่วนการใช้จ่ายด้านทุน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ภายในประเทศ ปรับตัวลง 0.4% ซึ่งดีกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าลดลง 0.6% ขณะที่การส่งออกในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งน้อยกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าเพิ่มขึ้น 0.5% และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.8% ซึ่งน้อยกว่า การประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าปรับตัวขึ้น 1.0%
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)