ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. เคาะแล้ว ครม.เห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 65/66 ที่ 1,197.53 บาท/ตัน (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2565/66 ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศ ในอัตราที่ 1,197.53 บาท/ตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. กำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อย เท่ากับ 71.85 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 513.23 บาท/ตัน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งเพิ่มขึ้น 117.53 บาท/ตัน จากราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2565/66 ที่ราคา 1,080 บาท/ตัน ซึ่งการที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้ เพิ่มขึ้นจะสามารถเพิ่มกำลังซื้อ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังมีมติเห็นชอบราคาอ้อยขั้นต้น ปี 2566/67 ในอัตรา 1,420 บาท/ตัน ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. กำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 85.20 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย 608.57 บาท/ตัน เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้รับค่าอ้อยสำหรับนำไปใช้เป็นเงินทุนในการเพาะปลูก การบำรุงรักษาอ้อย และการดำรงชีพต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ปี 2565/66 และราคาอ้อยขั้นต้น ปี 2566/67 สอน. จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ซึ่งการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ถือว่าไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ สอน. ได้ติดตามสถานการณ์ผลผลิตอ้อยเข้าหีบและเฝ้าระวังการ เผาอ้อย ฤดูการผลิตปี 2566/67 นับตั้งแต่วันเปิดหีบ (10 ธันวาคม 2566) ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นระยะเวลา 72 วัน มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 68.41 ล้านตัน แบ่งเป็นปริมาณอ้อยสด 48.86 ล้านตัน ปริมาณอ้อยถูกลักลอบเผา 19.55 ล้านตัน และมีจุดความร้อน (Hotspot) สะสมในพื้นที่ปลูกอ้อย 47 จังหวัด จำนวน 2,159 จุด หรือคิดเป็น 6.45% จากจุดความร้อน (Hotspot) สะสมที่ พบในประเทศ 33,448 จุด จะเห็นได้ ว่ามีจุดความร้อน (Hotspot) สะสม นอกพื้นที่ปลูกอ้อยสูงถึง 31,289 จุด หรือคิดเป็น 93.55% จากจุดความร้อน (Hotspot) สะสมที่พบในประเทศ

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2. 'ส.อ.ท.' ร่วมหารือกัมพูชา มุ่งดันการค้าแตะ 1.5 หมื่นล.เหรียญ ปี 68 (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตนได้รับคำเชิญจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรอง เพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จมหาบวรธิบดีฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา และ โลกจุมเตียว ดร.ปึช จันทมนนี ฮุน มาเนต ภริยานายกรัฐมนตรี ราชอาณาจักรกัมพูชา ในโอกาสเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และในฐานะแขกของรัฐบาล สำหรับการเดินทางเยือนไทยในครั้งนี้ ไทยและกัมพูชาได้ร่วมลงนามและแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ (MOU) 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ ในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการรับมือเหตุฉุกเฉินระหว่างไทยกับกัมพูชา 2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา 3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการผ่านแดนสินค้าระหว่างกรมศุลกากรแห่งราชอาณาจักรไทย กรมศุลกากร และสรรพสามิตแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา 4. บันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออก และนำเข้าแห่งประเทศไทย และหอการค้ากัมพูชาเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา และ 5. บันทึกความเข้าใจระหว่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้ากัมพูชา ทั้งนี้ ส.อ.ท. ได้ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารระดับสูงของกัมพูชา นำโดย H.E. Mr. Sok Sopheak รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย H.E. Mr.Sim Vireak ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน และคณะข้าราชการระดับสูง ในโอกาสนำคณะร่วมประชุมหารือ ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาความร่วมมือหลายด้าน ประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเฉพาะในส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ 2. แนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรม 3. การขับเคลื่อนอุตสาหกรรม S-Curve ของไทย 4.พลังงานสีเขียว การใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ และการประกอบกิจการโซลาร์เซลล์ (Solar cell) 5. การบริหารจัดการร่วมกันด้านแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของกัมพูชา 6. การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต และ 7. การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ความสำเร็จเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรของ ส.อ.ท. ด้านความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังได้เข้าร่วมเข้าร่วมงาน Cambodia-Thailand Business Forum 2024 จัดโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้ากัมพูชา โดยภายในงาน สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการเพิ่มปริมาณการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 รวมไปถึงการพัฒนาการขนส่งสินค้าของทั้ง 2 ประเทศ การผลักดันการท่องเที่ยวและการเดินทางข้ามแดนความร่วมมือ ทางด้านแรงงาน ความมั่นคงทางพลังงาน เป็นต้น

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. สอท.ลุ้นงบ 67 ฟื้นยอดขายรถยนต์ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์ทั้งหมดในเดือนมกราคม 2567 ทั้งสิ้น 142,102 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.46% ขณะที่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มกราคมอยู่ที่ 652 คัน จากปีที่แล้วผลิตได้แค่ 7 คัน คาดว่าปีนี้จะมีอีวีจดทะเบียนใหม่เกินกว่า 10,000 คัน ส่วนยอดผลิตทั้งปีคาดอยู่ที่ 50,000-100,000 คัน เนื่องจากผู้ผลิตและจำหน่ายรับเงื่อนไขสนับสนุนจากรัฐบาลจากแพคเกจอีวี 3.0 ในช่วง 2 ปี ที่มียอดนำเข้าระดับ 80,000-90,000 หมื่นคัน จึงต้องผลิตชดเชยอัตรา 1 ต่อ 1 สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนมกราคม จำนวน 54,814 คัน ลดลง 16.42% เพราะรถกระบะมียอดขายแค่ 14,864 คัน ลดลงถึง 43.47% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนสูงมาก ขณะที่รถบรรทุกขายลด 32.01% จาก งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้าหลายเดือน ทำให้การลงทุน การใช้จ่าย และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลล่าช้าไปด้วย เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวระดับต่ำตั้งแต่ไตรมาสสี่ปี 2566 ขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภทไฟฟ้า 100% หรือบีอีวี เดือนมกราคม มียอดจดทะเบียนใหม่ 15,943 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 238.71% ทำให้มียานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภทบีอีวี ณ วันที่ 31 มกราคม 2567 จำนวน 147,743 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 301.75%

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ยอดขายรถกระบะในประเทศลดลง หวังว่าเมื่องบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่น่าจะผ่านการอนุมัติในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ จะช่วยทำให้การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐดีขึ้น ช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประชานมีรายได้มากขึ้น จะมีกำลังซื้อรถยนต์หรืออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น นอกจากนี้ ยังหวังว่าอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะลดลง ซึ่งอาจจะต้องดูทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ หากเฟดลดอัตราดอกเบี้ยเชื่อว่าประเทศไทยคงจะลดลงไปด้วย ตรงนี้จะทำให้ภาระการชำระหนี้ดีขึ้น ส่งผลให้การผลิตและการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวี ในไทยเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมอื่นๆ จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยถือเป็น อุตสาหกรรมอนาคต และเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อส่งออก ตามนโยบายลดการปล่อยคาร์บอนและนโยบายคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี)

 

ข่าวต่างประเทศ

A red flag with yellow stars

Description automatically generated

 

4. แบงก์ชาติจีนคงดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% คาดพุ่งเป้าปกป้องเงินหยวน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567)

ธนาคารกลางจีน เปิดเผยว่า ได้มีการประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนเอาไว้ที่ระดับ 2.50% โดยนักวิเคราะห์มองว่าธนาคารกลางจีนตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพราะมีเป้าหมายที่จะป้องกันความผันผวนของเงินหยวน โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดสภาพคล่องจำนวน 5 แสนล้านหยวน (ราว 7.039 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เข้าสู่ระบบธนาคาร ผ่านทางโครงการ MLF และกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ระดับ 2.5% ซึ่งอัตราดอกเบี้ย MLF เป็นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องจ่ายเมื่อมีการกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางจีน โดยมีระยะเวลาการกู้ยืม 6 เดือน-1 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนจะรอดูทิศทางเงินหยวนก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยนักวิเคราะห์มองว่าในขณะที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ทางการจีนดำเนินการมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนทรุดตัวลงรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 นั้น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเงินหยวนกำลังสร้างแรงกดดันต่อธนาคารกลางจีนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การแถลงอัตราดอกเบี้ย MLF มีขึ้นก่อนที่ธนาคารกลางจีนจะประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีและ 5 ปีในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 โดยอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีของจีนเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)