ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล ดันไทยขึ้นเป็นฮับในภูมิภาคอาเซียน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567)

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลไทยสู่ ASEAN Halal Hub ภายในปี 2571 และมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ตามแนวทางดังกล่าวประกอบด้วย การแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทย (ด้านฮาลาล) การจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) และให้นำเรื่องการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยและกรอบการดำเนินงานของศูนย์ฯ เสนอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณา รวมทั้งให้นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567 - 2571) เสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ภาคอุตสาหกรรมได้กว่า 1.2% ใน 5 ปี พร้อมสร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในทุกพื้นที่ เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 7.5% ต่อปี จนถึงปี 2567 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาหารและ เครื่องดื่มมีส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมดคาดว่าในปี 2567 การเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด จะขยายตัวเฉลี่ย 7.5% โดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 7.1% สำหรับประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าอาหาร ฮาลาลในปี 2566 (มกราคม-พฤศจิกายน) จำนวน 216,698 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาล โดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ และมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้าน ซึ่งยังมีโอกาสเพิ่มสัดส่วนการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังตลาดที่มีกำลังซื้อสูงได้อีกมาก เช่น ซาอุดีอาระเบีย และบรูไน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมผ่าน 3 กลไกหลัก ได้แก่ 1. การจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทยทั้งระบบ 2. การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย เพื่อขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว และแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทย (ด้านฮาลาล) และ 3.การแต่งตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน และมีคณะกรรมการจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาลโดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft power ของไทย

 

นางวรวรรณ ชิตอรุณ

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

 

2. รถยนต์ถูกยึดพุ่งฉุด MPI ม.ค.หด 2.94%"สศอ." เผย 4 อุตสาหกรรมเด่นปีนี้มาแรง (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 1 มีนาคม 2567)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม ปี 2567 ได้มีการปรับเปลี่ยนปีฐานการคำนวณใหม่ครั้งแรกเป็นปี 2564 จากเดิมปี 2559 เพื่อให้สอดรับกับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยพบว่า MPI ของเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ระดับ 99.15 หดตัว 2.94% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2566 ซึ่งอยู่ที่ 102.15 และมีอัตราการใช้กำลังการผลิต(CAPU) อยู่ที่ 59.43% จากเดือนมกราคม 2566 ซึ่งอยู่ที่ 62.65% โดยปัจจัยสำคัญมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและอัตราดอกเบี้ยที่ยังสูงทำให้เป็นภาระต่อต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการส่งผลให้เกิดการระมัด ระวังการใช้จ่าย ขณะที่ปี 2567 สศอ. ยังคงประมาณการ MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตคงเดิมที่ 2-3% เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกของไทยเดือนมกราคมขยายต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เศรษฐกิจโลกเริ่มทยอยฟื้นตัว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ภาคการท่องเที่ยวขยายตัว งบประมาณปี 2567 ที่อาจจะเบิกจ่ายเร็วขึ้น ฯลฯ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ส่งผลลบต่อ MPI เดือนมกราคม 2567 หลักๆ มาจากอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งหดตัว 9.63% จากเดือนมกราคม 2566 ซึ่งรายงานจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พบว่า มีรถถูกยึดเฉลี่ย 2.5 แสนคันแล้ว หรือเฉลี่ยเดือนละ 2 หมื่นคัน เป็นยอดสูงสุดในรอบ 5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถกระบะ เนื่องจากสภาพคล่องครัวเรือนไม่ดีไม่อาจผ่อนชำระ สถาบันเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ ทำให้รถมือสองเต็มตลาดส่งผลให้รถมือหนึ่ง คนชะลอซื้อลง ขณะที่การส่งออกรถยนต์ปัญหาเรือขนส่งมีพื้นที่ไม่เพียงพอจึงกระทบต่อการ ส่งออกลดลง ซึ่งแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ยังอาจจะยังกดดันต่อ MPI ในระยะต่อไปอีก 2-3 เดือน

อย่างไรก็ตาม สำหรับทิศทางของอุตสาหกรรมที่มาแรง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวจากอานิสงส์ฟรีวีซ่าที่จะทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างชาติจะเข้ามาสู่ไทยประเทศไทยราว 35 ล้านคน ตั้งเป้ารายได้จาก    การท่องเที่ยว 3.50 ล้านล้านบาท ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหาร น้ำตาล แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มต่างๆ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องประดับ ฯลฯ จะเติบโตขึ้น 2. กลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์กับสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) รถยนต์ไฮบริด ที่จะเริ่มการผลิตในปีหน้า เม็ดพลาสติกชีวภาพรวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง บรรจุภัณฑ์และกระดาษจากการเติบโตอีคอมเมิร์ซ 3. กลุ่มสินค้าที่เชื่อมโยงกับระบบดิจิทัล (Smart Device) เช่น แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ฯลฯ ตอบโจทย์อนาคต และ 4. Aging society wellness tech ที่มีแนวโน้มโตเพราะไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยเริ่มพีก กลุ่มนี้จะหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น เภสัชภัณฑ์บำรุงร่างกาย อาหารเสริม สมุนไพรไทยก็โต ผักและผลไม้ และผ้าอ้อมสำหรับผู้ใหญ่

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

 

3. วอนรัฐช่วยสู้กู้วิกฤติเหล็กไทย (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมของประเทศไทยกำลังเผชิญจากกระแสสินค้าจากจีนเข้ามาแย่งตลาด โดยอุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงสุดจากการทุ่มตลาดและการทะลักของชิ้นส่วนโครงสร้างเหล็กจากจีน จนการใช้กำลังการผลิตเหล็กในปี 2566 ตกต่ำเหลือเพียง 31% เท่านั้น และแนวโน้มยังแย่ลงอีกในปี 2567 นี้ จนเป็นที่น่ากังวลยิ่งว่า หากภาครัฐยังดำเนินการต่างๆ ไม่ทันการณ์โรงงานเหล็กไทยจะต้องปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ ส.อ.ท. จึงได้นำเสนอแนวทางแก้ไขวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็กต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. กระทรวงอุตสาหกรรมใช้มาตรการห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็ก โดยมุ่งไปที่เหล็กที่มีกำลังการผลิตมากล้นเกินความต้องการ รวมทั้งบังคับใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ควบคุมคุณภาพ ส่วนประกอบของสินค้าโครงสร้างสำเร็จรูป 2. กระทรวงพาณิชย์ไต่สวนและบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) 3. มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิผลและพิจารณาความจำเป็นในการใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard:SG) โดยเก็บอากร SG สินค้าเหล็กทุกประเภทสูงถึง 25% 4. ปรับปรุง/แก้ไข พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ให้มีการบังคับใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) 5. ขยายผลใช้มาตรการใช้สินค้าเหล็กที่ผลิตภายในประเทศ จากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไปยังการก่อสร้างประเภทอื่นๆ เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด(มหาชน) และผู้แทนกลุ่ม 10 สมาคมเหล็ก เปิดเผยว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กวิกฤติยิ่งขึ้นจากเหล็กจีนทะลักเข้ามาไทย ทั้งการทุ่มตลาดการอุดหนุน และการหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้าทำให้ผู้ผลิตสินค้าเหล็กไทย ซึ่งมีการจ้างงานทั้งระบบกว่า 330,000 คน ได้รับผลกระทบรุนแรงจนบางโรงงานต้องปิดกิจการ และเลิกจ้าง 10 สมาคมเหล็ก จึงได้เร่งประสานทำงานร่วมกับกระทรวงต่างๆเพื่อให้มีการเร่งรัดแก้ไขปัญหาวิกฤติอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ได้วิจัยพบว่าการผลิตเหล็กในประเทศไทยที่หายไปทุกๆ 1 แสนตัน จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP)ของไทยลดลง 0.19% และอัตราการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล็กลดลง 1.2%

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a red circle and blue circle

Description automatically generated

 

4. เกาหลีใต้ส่งออกเพิ่มขึ้น 5 เดือนรวดในเดือนก.พ. อานิสงส์ยอดส่งออกชิปขาขึ้น (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 1 มีนาคม 2567)

กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า การส่งออกของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เนื่องจากยอดส่งออกชิปยังคงเป็นขาขึ้น ทั้งนี้ สำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่า ยอดส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 5.24 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนยอดนำเข้าลดลง 13.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 4.81 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เกาลีใต้มียอดเกินดุลการค้าอยู่ที่ 4.29 พันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับเกาหลีใต้ ดีดตัวขึ้นในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากลดลง 13 เดือนติดต่อกันเมื่อเทียบเป็นรายปี โดยยอดส่งออกลดลง 7.4% เมื่อเทียบ   เป็นรายปีในปี 2566 เนื่องจากยอดขายชิปซบเซาและเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)