ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมีนาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'รมว.อุตสาหกรรม' หนุนเอกชน สานต่อนโยบาย EV ของรัฐบาล ตั้งไทยเป็นฐานส่งออกอาเซียน (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 26 มีนาคม 2567)

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประเทศไทยโชคดีที่มีการปรับตัวทางด้านเทคโนโลยีให้ทันยุคทันสมัย โดยเฉพาะเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า ที่รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนถึงรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้ออกมาตรการ EV 3.0 และมีการตอบรับในประเทศเป็นอย่างดีในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ยอดขายและกำลังซื้อเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะปีที่แล้วยอดสูงเกือบ 70,000 คัน ในส่วนของจักรยานยนต์ไฟฟ้า ก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และไม่ตอบสนองเฉพาะคนในประเทศเท่านั้น แต่ยังเปิดรับนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และได้ทำงานกันมาถึง 2 รัฐบาล ในการเตรียมความพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกทางด้าน พลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งขนส่งทางรถ ทางราง และทางอากาศ ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือนักลงทุน ที่ทั้งนายกรัฐมนตรี บีโอไอ และกระทรวงอุตสาหกรรม เราทำไปพร้อมๆ กัน วันนี้เราจึงเห็นนักลงทุน โดยเฉพาะจากประเทศจีนเข้ามาตั้งฐานการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ จากความเชื่อมั่นดังกล่าว ท่านนายกฯ เศรษฐา คาดการณ์ว่าปีนี้การลงทุนน่าจะแตะถึง 1 ล้านล้านบาท ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของการทำธุรกิจ ที่ยังคงรักษาโลกใบนี้ให้สวยงาม ส่งต่ออากาศบริสุทธิ์สะอาด และนวัตกรรมสีเขียวให้กับรุ่นลูก รุ่นหลานของเราต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายหวัง ฟ่าน ประธานกรรมการ และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ทาลาเรีย พาวเวอร์ เทค เมื่อ พ.ศ.2563 กล่าวว่า ทาลาเรียมุ่งเน้นการผลิตและจำหน่ายจักรยานยนต์ผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้น สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในนครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในปัจจุบัน ถือเป็น "ซิลิคอนวัลลีย์" แห่งการผลิต E-Bike ทาลาเรียเป็นแบรนด์ที่มีอายุน้อยแต่มีพลวัตสูง ได้รับการรับรองจากผู้ค้าและผู้ขับขี่ยานพาหนะทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปในเวลาอันรวดเร็ว กลายเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ การร่วมมือกับบริษัท เอ็ม กรุ๊ป โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) ถือเป็นการตั้งฐานการผลิตนอกประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อทำหน้าที่ดูแลตลาดผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของทาลาเรียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางด้านนายลี่ ซื่อ หลิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาลาเรีย อินดัสทรี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด รวมถึงมีมาตรการอุดหนุนผู้บริโภคสำหรับซื้อยานยนต์ไฟฟ้าในราคาไม่แพง ทาลาเรียประเทศไทยตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2566 อยู่ในบางกอกฟรีเทรดโซนซึ่งได้รับเป็นเขตอุตสาหกรรมโดยกระทรวงอุตสาหกรรม อีกไม่นานนี้ทาลาเรียจะมีศูนย์จำหน่ายและบริการ 300 แห่งทั่วกลุ่มประเทศอาเซียน สามารถส่งผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าในระยะเวลา 10 - 15 วันเท่านั้น

 

A person in a pink dress

Description automatically generated

นางวรวรรณ ชิตอรุณ

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

 

2. ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร่วง เหตุเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าหนี้ครัวเรือนสูง (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 29 มีนาคม 2567)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ระดับ 99.27 หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.84% มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.77% ส่งผลให้ดัชนีเอ็มพีไอ 2 เดือนแรกของปี 2567 หดตัวเฉลี่ย 2.88% สาเหตุหลักจากการผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 7 ซึ่งเป็นการหดตัวจากภายในประเทศ เพราะเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้ช้าจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ปุ๋ยเคมีและสารประกอบไนโตรเจน เครื่องประดับเพชรพลอยแท้ ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิต ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันปาล์ม ทั้งนี้ ดัชนีเอ็มพีไอหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักที่หดตัวต่อเนื่องและมีน้ำหนักในการคำนวณดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ โดยภาพรวมการผลิตเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.28% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 สาเหตุหลักมาจากการผลิตเพื่อขายในประเทศ โดยมีจำนวนการผลิต 46,928 คัน ลดลง 26.37% จากปีก่อนผลิตไดั 63,732 คัน ขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกอยู่ที่ 86,762 คัน ลดลง 9.25% จากปีก่อนผลิตได้ 95,612 คัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยานรบ) เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ขยายตัว 1.80% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 รวมถึงการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยใน 2 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสม อยู่ที่ 6.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 50% การกลับมาขยายตัวดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลทำให้ดัชนีเอ็มพีไอหลังจากนี้ปรับตัวดีขึ้น สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือนมีนาคม 2567 ส่งสัญญาณในทิศทางดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากภาพรวมการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในระยะนี้ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศยังคงต้องเฝ้าระวังในตลาดสหรัฐ และติดตามภาวะถดถอยในภาคการผลิตญี่ปุ่น

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์

 

3. หลายปัจจัยลบฉุดอุตฯยานยนต์ยอดผลิตส่อต่ำสุดรอบ 2 ปี – หวังส่งออกตามเป้า (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 27 มีนาคม 2567)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผยว่า ยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 88,720 คัน เพิ่มขึ้น 0.22% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการ ส่งออกรถ PPV และรถ HEV ขณะที่ให้ช่วง 2 เดือนแรก ของปี 2567 (มกราคม - กุมภาพันธ์) มียอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป รวม 175,436 คัน เพิ่มขึ้น 0.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าการส่งออก 121,228.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และแม้ยอดส่งออกจะมีแนวโน้มชะลอลง แต่ตลาดส่งออกยังขยายตัวได้ดีจึงมั่นใจว่าการส่งออกจะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ ส่วนยอดการผลิตรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์ 2567 อยู่ที่ 133,690 คัน ลดลง 19.28% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และลดลง 5.92% จากเดือนมกราคม 2567 ซึ่งยอดการผลิตเดือนกุมภาพันธ์ อาจจะต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี จากยอดผลิตรถกระบะทั้งส่งออกและขายในประเทศลดลงเนื่องจากบางบริษัทขาดชิ้นส่วน ยอดผลิตรถยนต์นั่งลดลงเพราะถูกรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด และยอดผลิตรถกระบะลดลงตามยอดขายเนื่องจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ของสถาบันการเงิน ทำให้ยอดรถยนต์ที่ผลิตได้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 275,792 คัน ลดลง 15.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศของเดือนกุมภาพันธ์2567 อยู่ที่ 52,843 คัน ลดลง 26.15% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และลดลง 3.60% จากเดือนมกราคม 2567 เนื่องจากการลดลงของยอดขาย รถกระบะและรถยนต์นั่งจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อตามนโยบายการให้กู้แบบรับผิดชอบและ หนี้ครัวเรือนสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และยอดขายรถ PPV ลดลง 47.6% จากการไปซื้อรถยนต์นั่งตรวจการณ์ที่เป็น HEV มากขึ้นเพราะราคาถูกกว่า รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศยังเติบโตในระดับต่ำ เพราะการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่าย ปี 2567 ล่าช้าไปถึงเดือนเมษายน 2567 ทำให้การใช้จ่าย และการลงทุนของภาครัฐลดลง ทำให้ยอดขายรถยนต์ ในประเทศช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 107,657 คัน ลดลง 21.49% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีการนำเข้ายานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนจำนวนมากคงไม่ได้เป็นการทำลายตลาดรถยนต์ ในประเทศ เป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศเร็วขึ้น และเป็นเรื่องดีที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันวางแผนให้มีความพร้อมที่ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อ ส่งออกไปในภูมิภาค

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a red blue and black circle

Description automatically generated

 

4. เกาหลีใต้เผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมี.ค.ลดลง เหตุกังวลเงินเฟ้ออาหาร (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 26 มีนาคม 2567)

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยผลสำรวจว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเกาหลีใต้ปรับตัวลดลงในเดือนมีนาคม 2567 เนื่องจากมีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับราคาสินค้าเกษตรที่แพงขึ้น โดยผลสำรวจนี้ได้รับการเผยแพร่เพียง 2 สัปดาห์ก่อนที่เกาหลีใต้จะจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ โดยในรายงานระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกาหลีใต้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 100.7 ในเดือนมีนาคม 2567 จากระดับ 101.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเป็นการปรับลดลงรายเดือนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงในเดือนมีนาคม ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อผู้บริโภคสำหรับช่วง 12 เดือนข้างหน้าปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน สู่ระดับ 3.2% ในเดือนมีนาคม จากระดับ 3.0% ในเดือนกุมภาพันธ์

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดังกล่าว ผู้ตอบแบบสำรวจ 63.4% ระบุว่า ราคาสินค้าเกษตรจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเงินเฟ้อในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 51.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทั้งนี้ เงินเฟ้อผู้บริโภคของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากชะลอตัวลง 3 เดือน โดยถูกกดดันจากฝั่งอุปทาน ซึ่งหลักๆ แล้วมาจากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าเกษตร

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)